หลังจากที่รัฐบาลจะปรับหลักเกณฑ์ การจ่าย "เบี้ยผู้สูงอายุ" ใหม่ โดยการเพิ่มขั้นตอนพิสูจน์ความยากจน สำหรับผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ใหม่ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการใช้จ่ายงบประมาณ เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมขึ้นทันที บางส่วนมองว่า เป็นเรื่องที่ดีที่จะนำเงินไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้ตรงจุดแถมยังประหยัดงบประมาณด้วย แต่บางส่วนก็มองว่าเป็นการตัดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ในความเป็นจริงประชาชนทุกคนควรจะได้รับ
นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) แสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า ไม่เห็นด้วย กับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่ ของรัฐบาลรักษาการ ถือเป็นการตัดสิทธิของประชาชนจากระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้า มาเป็นสวัสดิการแบบสงเคราะห์ ด้วยการพิสูจน์ความยากจน เป็นการถอยหลังระบบสวัสดิการของประเทศกลับไปเมื่อ 14-15 ปีก่อน ในความเป็นจริงแล้วสวัสดิการพื้นฐาน ลักษณะดังกล่าวเป็นสิทธิประชาชนทุกคนควรจะได้รับ
แม้รัฐบาล กระทรวงการคลัง จะมองว่าเป็นการประหยัดงบประมาณ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในส่วนอื่นก็ตาม แต่ในความเป็นจริงรัฐบาลสามารถไปตัดลดงบประมาณส่วนอื่นๆได้ ที่ไม่ใช่สวัสดิการถ้วนหน้าของประชาชน หรือเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ นอกจากนี้การเพิ่มเงื่อนไข ด้วยการตรวจสอบสิทธิการเข้าถึงสวัสดิการของประชาชน ยิ่งทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่ประชาชนบางส่วน จะตกหล่นจากการเข้าถึงสวัสดิการนั้นๆ
สำหรับข้อกังวล เกี่ยวกับความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณ ที่เกี่ยวข้องกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตนเองมองว่าเป็นการดำเนินนโยบายคนละส่วน บัตรสวัสดิการฯเป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจง แต่เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นสวัสดิการพื้นฐานของประชาชน
โดยปัจจุบัน สวัสดิการของประชาชนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเสียชีวิต คิดเป็นการใช้สัดส่วน เงินงบประมาณต่อปี ประมาณ 450,000 ล้านบาท หรือ ประมาณ 14.26% ของเงินงบประมาณประจำปี แถมเงินส่วนนี้ยังต้องดูแลคนถึง 62 ล้านคน ซึ่งตัวเลขแตกต่างอย่างสิ้นเชิงเทียบกับสวัสดิการของข้าราชการ ทั้งบำเหน็จบำนาญ ที่แต่ละปีภาครัฐต้องจัดสรรงบประมาณดูแลสูงถึง 490,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 15.36% ของเงินงบประมาณประจำปี เพื่อดูแลข้าราชการประมาณ 5 ล้านคน
ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลรักษาการ ปรับหลักเกณฑ์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ในห้วงเวลานี้เป็นการฉวยโอกาส และ ลักไก่เพื่อสกัดกั้นนโยบายที่หลายพรรคการเมือง ที่หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ ที่จะปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อเดือนหรือไม่ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังเข้ามาบริหารประเทศ ให้ยกเลิกแนวทางการปรับหลักเกณฑ์ การให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้กลับไปเป็นในรูปแบบเดิม
โดยพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ควรส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปถึงรัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบัน ให้ชะลอแนวทางนี้ออกไปก่อน ในลักษณะเดียวกันกับที่ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทย ที่ส่งสัญญาณไปถึงรัฐบาลให้ชะลอการโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการระดับสูงออกไปก่อน นอกจากนี้ยังมองว่าตัวเลขเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เริ่มต้นที่เดือนละ 600 บาท ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน ซึ่งควรปรับให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยเดือนละ 3,000 บาท เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในภาวะสถานการณ์ปัจจุบัน
โดยในวันที่ 17 สิงหาคมนี้ เครือข่ายสลัม 4 ภาค, เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม , และเครือข่ายภาคประชาชน จะจัดขบวนคาร์ม็อบ เพื่อรณรงค์ให้รัฐบาลยกเลิกหลักเกณฑ์ใหม่การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยจะเดินทางไปที่กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทยเพื่อยื่นหนังสือ และเดินทางไปที่กระทรวง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม. เพื่อขอเข้าพบปลัดกระทรวง พม. ต่อไป