2 มิถุนายน 2566 "นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม" อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ร่วมมือกับสถานีบริการน้ำมัน 3 รายใหญ่ ประกอบด้วย พีที พีทีที สเตชั่น และบางจาก รับซื้อมะม่วงแฟนซี ได้แก่ R2E2 จินหงส์ งาช้างแดง แดงจักรพรรดิ และมหาชนก กว่า 1 ล้านกิโลกรัม (กก.)
เพื่อจัดทำโปรโมชันเป็นของสมนาคุณให้กับผู้ใช้บริการในสถานีจำหน่ายน้ำมันในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัด จำนวน 812 สาขา ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 5 มิถุนายน 2566 หรือจนกว่าของจะหมด โดยกรมฯ ช่วยสนับสนุนค่าบริหารจัดการ เพื่อช่วยขยายช่องทางในการกระจายผลผลิตให้แก่เกษตรกร
ทั้งนี้ ผลจากการที่กรมฯ ได้เข้าไปเชื่อมโยงผู้ประกอบการให้เข้าไปรับซื้อผลผลิตมะม่วงแฟนซีจากเกษตรกร ภายใต้มาตรการอมก๋อย โมเดล ทำให้ราคามะม่วงแฟนซีปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยราคาปัจจุบันอยู่ที่ 10-12 บาท/กก. สูงกว่าปีที่แล้วที่ราคา 5-10 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 47% และมั่นใจว่าราคามะม่วงแฟนซี จะทรงตัวอยู่ในระดับราคาดังกล่าวจนสิ้นสุดฤดูกาลผลิตปีนี้
"ขอเชิญชวนให้ประชาชนช่วยกันบริโภคมะม่วงแฟนซี หลังจากที่ฤดูการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ และมะม่วงฟ้าลั่น จบฤดูกาลไปแล้ว โดยสามารถหาซื้อได้ตามห้างค้าส่งค้าปลีก จุดจำหน่ายโมบายพาณิชย์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และจุดจำหน่ายในโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน ออนทัวร์ทั่วไทย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการจำหน่ายผลผลิต" นายวัฒนศักย์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2566 กรมการค้าภายใน ได้นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ลงพื้นที่ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ เพื่อคิกออฟ “อมก๋อยโมเดล” โดยจัดได้ให้มีพิธีลงนามสัญญาข้อตกลงมาตรฐาน และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การรับซื้อมะม่วงในราคานำตลาด
โดยผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายภาคเอกชน 10 ราย ประกอบด้วยผู้รวบรวม ผู้ส่งออก เช่น บริษัท เอ็ม ที ฟรุ๊ตแลนด์ จำกัด บริษัท มาตา เทรดดิ้ง จำกัด บริษัท นานา ฟรุ๊ต จำกัด บริษัท สตูดิโอ จีบาร์ จำกัด และบริษัท มิสเตอร์ฟรุ๊ตตี้ จำกัด ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง เช่น แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี เดอะมอลล์ และท็อปส์ สถานีให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น พีที และบางจาก เข้ารับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกร จำนวน 6 กลุ่ม 2 จังหวัด กว่า 100 ครัวเรือน ได้แก่ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ และอ.บ้านโฮ่ง อ.เวียนหนองล่อง จ.ลำพูน ปริมาณรับซื้อรวม 38,800 ตัน (มะม่วงน้ำดอกไม้ 6,000 ตัน และมะม่วงแฟนซี 32,800 ตัน) คิดเป็นมูลค่า 448 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้จัดทำมาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกปี 2566 โดยมีมาตรการทั้งสิ้น 22 มาตรการ ดูแลตั้งแต่การผลิต การตลาดในประเทศ ต่างประเทศ และด้านกฎหมาย เพื่อดูแลผลผลิตผลไม้ที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดประมาณ 6.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3%
โดยได้เตรียมมาตรการหาตลาดล่วงหน้าไว้รวมกว่า 700,000 ตัน และตั้งเป้าผลักดันการส่งออกผลไม้สดและแปรรูป 4.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10% รวมทั้งได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ผู้ประกอบการผลไม้ ผู้แทนเกษตรกร ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง สถานีบริการน้ำมัน โลจิสติกส์ สายการบิน ผู้แทนสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมพร้อมมาตรการดูแลผลไม้ ปี 2566