svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จับตา 3 ปัจจัย กระทบเงินบาทผันผวนสูง อันดับ 2 ของเอเชีย

26 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินค่าเงินบาทเคลื่อนไหวกรอบกว้าง 33.80-35.40 บาทต่อดอลลาร์ ชี้ผันผวนสูงเป็นอันดับ 2 รองจากเงินเยน ของญี่ปุ่น จับตา 3 ปัจจัยกระทบทั้ง ดอกเบี้ยสหรัฐ การเมืองไทยและ เศรษฐกิจจีน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสถานการณ์ค่าเงินบาทในปีนี้ โดยระบุว่า นับจากช่วงต้นปี 2566 เงินบาทแกว่งตัวในกรอบกว้างท่ามกลางความไม่แน่นอนของ 3 เรื่องหลัก ได้แก่ มุมมองต่อทิศทางดอกเบี้ยเฟด (ซึ่งมีผลต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ) สถานการณ์ค่าเงินหยวนและเศรษฐกิจจีน และปัจจัยการเมืองของไทยที่เป็นประเด็นเพิ่มเติมเข้ามาในช่วงเดือนพ.ค. 2566 โดยแม้การเคลื่อนไหวของเงินบาทจะเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มกับสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย

แต่หากมองในมิติของความผันผวน คงต้องยอมรับว่า เงินบาทในปีนี้มีความผันผวนค่อนข้างมาก โดยในส่วนของค่าความผันผวนคาดการณ์ในช่วง 1 เดือนข้างหน้าของเงินบาทอาจขยับขึ้นไปที่ 8.4% สูงขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 8.1% โดยค่าความผันผวนของเงินบาทสูงเป็นอันดับที่ 2 ของสกุลเงินในฝั่งเอเชีย ตามหลังเพียงแค่เงินเยนของญี่ปุ่นเท่านั้น

ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจัยที่ทำให้สกุลเงินในฝั่งเอเชียและสกุลเงินหลักมีความผันผวนจะเป็นตัวแปรที่มาจากเรื่องของค่าเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะแนวโน้มดอกเบี้ยของเฟด แต่คงต้องยอมรับว่า ความผันผวนของเงินบาทในปี 2566 ที่อยู่ในกรอบสูงอาจสามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ด้วยปัจจัยเฉพาะของไทย โดยเฉพาะการแกว่งตัวของเงินบาทตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก (ค่าความผันผวนของราคาทองคำอยู่ที่ 12.3%) และปัจจัยทางการเมืองในประเทศ ซึ่งยังมีประเด็นที่ต้องติดตามหลายด้านแม้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปของไทยได้สิ้นสุดลงไปแล้ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จับตา 3 ปัจจัย กระทบเงินบาทผันผวนสูง อันดับ 2 ของเอเชีย

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทนั้น คาดว่า เงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบกว้าง โดยอาจปรับตัวอยู่ในช่วงประมาณ 33.80-35.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในระยะสั้น (คาดการณ์โดยธนาคารกสิกรไทย) เนื่องจากยังมีหลายตัวแปรที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเรื่องเพดานหนี้สหรัฐฯ ทิศทางดอกเบี้ยเฟด

และสถานการณ์การเมืองไทย ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ปัจจัยที่อาจมีน้ำหนักมากขึ้นน่าจะเป็นเรื่องทิศทางของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหากสามารถประคองการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ก็จะช่วยเพิ่มแรงหนุนต่อภาพรวมเศรษฐกิจและดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของค่าเงินบาท
 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จับตา 3 ปัจจัย กระทบเงินบาทผันผวนสูง อันดับ 2 ของเอเชีย

logoline