svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯแนะรัฐบาลใหม่คำนึงวินัยการคลัง

15 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แนะถึงการทำนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาว่า ประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจจากผลพวงการระบาดของโรคโควิด-19

ซึ่งได้มีการใช้มาตรการทั้งด้านการเงินและมาตรการด้านการคลังอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าว และพยุงเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้

 

          ดังนั้น การใช้งบประมาณในการทำนโยบายต่างๆ ระยะต่อไปของรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามานี้ ควรต้องคำนึงถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศอย่างเคร่งครัด เพราะจะมีผลต่อการที่ต่างประเทศจะประเมินเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป

 

          สำหรับนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมือง ที่อาจส่งผลต่อการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงนั้น นายดนุชา กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาทำนโยบายในส่วนนี้ ควรต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะหากเป็นการไปเพิ่มภาระต้นทุนให้กับภาคธุรกิจแล้ว ย่อมหนีไม่พ้นที่ภาคธุรกิจจะต้องส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นดังกล่าวมายังผู้บริโภค ด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้าต่างๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อของประเทศ นอกจากนี้ อาจมีผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติด้วย

          สภาพัฒน์ คงคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะขยายตัวในช่วง 2.7 - 3.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุน โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 3.7% การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัว 1.9% และ 2.7% ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 1.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 2.5 - 3.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.4% ของ GDP

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯแนะรัฐบาลใหม่คำนึงวินัยการคลัง

           สภาพัฒน์ มองว่าปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ประกอบด้วย 1. การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว 2.การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการบริโภคภายในประเทศ 3.การขยายตัวของการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯแนะรัฐบาลใหม่คำนึงวินัยการคลัง

          ขณะที่ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ 1. การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก 2.ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย 3.ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร 4.เงื่อนไขและบรรยากาศทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯแนะรัฐบาลใหม่คำนึงวินัยการคลัง

          นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒน์  กล่าวว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 ควรให้ความสำคัญกับประเด็นดังนี้

          1. การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า

          2. การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน

          3. การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการ

          4. การดูแลผลผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร

          5. การรักษาบรรยาการทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ ในช่วงหลังการเลือกตั้ง

logoline