svasdssvasds
เนชั่นทีวี

Business

มิชลินไกด์ 'ปักหมุด' สุราษฎร์ฯ ดันซอฟต์พาวเวอร์

การท่องเที่ยวเชิงอาหาร เป็นหนึ่งเทรนด์การท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักเดินทางทั่วโลก ตลอดระยะเวลา 6 ปีของมิชลินไกด์ประเทศไทย ได้ส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ มีส่วนช่วยผลักดัน Soft Power ด้านอาหาร นำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายรายได้ทางการท่องเที่ยวปี 2566 ไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วน 25% จะเป็นการใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม หรือคิดเป็นเม็ดเงินราว 6 แสนล้านบาท

มิชลินไกด์ \'ปักหมุด\' สุราษฎร์ฯ ดันซอฟต์พาวเวอร์

การจัดทำคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโต เนื่องจากประสบการณ์ด้านอาหารท้องถิ่นช่วยสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงยังเพิ่มคุณค่าให้กับประสบการณ์การการท่องเที่ยวโดยรวม เรียกได้ว่าอาหาร เป็น ซอฟต์พาวเวอร์ หรืออิทธิพลทางวัฒนธรรมระดับโลกที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาเยือนประเทศไทย

คาดว่าการร่วมกับมิชลิน ไกด์ จะสามารถเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวประมาณ 10-20% สอดคล้องตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติปี 2566-2570

ล่าสุดมิชลิน ไกด์ ประเทศไทย ประกาศขยายฐานการจัดทำคู่มือฉบับปี 2567 คัดสรรร้านอาหารเข้าสู่เกาะสมุย เกาะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานีและใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของไทยรองจากเกาะภูเก็ต รวมถึงแผ่นดินใหญ่ของ สุราษฎร์ธานี จังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ 

 

รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา ระบุ หลังจากการระบาดของโควิด-19 มานานถึง 3 ปี ขณะนี้ภาคธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารในเกาะสมุยและสุราษฎร์ธานีเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวที่ดีและเศรษฐกิจท้องถิ่นเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง

โดยในปี 2565 จ.สุราษฎร์ธานี มีสถิตินักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศเมื่อเทียบกับปี 2564 มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูงขึ้นมากกว่า 900% จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น 600% สะท้อนถึงศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพได้เป็นอย่างดี

มิชลินไกด์ \'ปักหมุด\' สุราษฎร์ฯ ดันซอฟต์พาวเวอร์

ผลลัพธ์จากโครงการ Michelin Guide Thailand ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารมีรายได้เพิ่มขึ้น 10-200% จำนวนของลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านอาหาร รวมถึงกระจายรายได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ผู้จัดหาวัตถุดิบให้ร้านค้า เกษตรกร ชาวประมง ผู้เลี้ยงสัตว์ ช่วยกระจายรายได้ให้คนในชุมชน ขณะที่ร้านค้าบริเวณใกล้เคียงได้รับประโยชน์จากการที่ลูกค้ามาทานอาหารบริเวณนั้นมากขึ้น

นอกจากนี้ ประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มบอกต่อราว 98% และออกเดินทางเพื่อไปรับประทานอาหารร้านอื่นต่อ 94% สร้างรายส่วนเพิ่มเฉลี่ยต่อคนต่อทริปจากการรับประทานอาหาร 325 บาท และจากการดำเนินโครงการ Michelin Guide Thailand ปี 2565 สร้างรายได้ส่วนเพิ่มสำหรับค่าใช้จ่ายด้านอาหารได้ประมาณ 223 ล้านบาท

สำหรับคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์ ประเทศไทย’ ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต พังงา เชียงใหม่ อยุธยา ภาคอีสาน 4 จังหวัด อุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี และนครราชสีมา รวมถึงเกาะสมุยและสุราษฎร์ธานี

มิชลินไกด์ \'ปักหมุด\' สุราษฎร์ฯ ดันซอฟต์พาวเวอร์