บ่ายวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม ก็เริ่มมีเค้าแล้วว่า กระทรวงการคลังของอเมริกา US Treasury จะหาวิธีคุ้มครองผู้ฝากเงิน เพื่อสร้างความมั่นใจในระบบธนาคารของอเมริกา และความน่าเชื่อถือของการเงินการธนาคารโลกซึ่งอเมริกาเป็นผู้นำ
แต่Treasuryจะไม่เข้าไปอุ้มชูธนาคาร SVB นี้ให้ทำธุรกิจอีกต่อไป เหมือนเช่นเคยเข้าไปแทรกแซงและอุ้มชูหลายธนาคารเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ตอนวิกฤตปีค.ศ. 2008 มีปัญหาใหญ่ซับซ้อนกันในระบบ หากรัฐบาลไม่เข้าไปผ่าตัดใหญ่ครั้งนั้น ก็จะแตกร้าวเป็นลูกโซ่ได้
ในปัจจุบันกระทรวงการคลังของสหรัฐฯมั่นใจว่า สุขภาพของการเงินการธนาคารในอเมริกาเข้มแข็งกว่าสมัยนั้น ทุนของธนาคารต่างๆมีเพียงพอ และจะฟันฝ่าวิกฤตต่างๆได้โดยไม่ต้องให้รัฐเข้าไปแทรกแซง
เรื่องของ SVB น่าจะออกมาในแนวที่มีธนาคารใหญ่กว่ามาช่วยซื้อทรัพย์สินของ SVB และรับผิดชอบลูกค้าของธนาคารนี้ไป โดยรัฐบาลเป็นผู้ประสานงาน
ซึ่งโดยหลักการแล้วเรื่องแบงค์ล่มครั้งนี้ไม่น่าเกิดขึ้น เพราะธนาคาร SVB นี้บริหารดี มีมาตรฐาน เงินทุนมั่นคง ลูกค้าชอบและศรัทธาธนาคารนี้มาก ถือว่าเป็นมาตรฐานทองของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและหลายอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย และมีหนี้เสียมีเพียงแค่ 0.18% เท่านั้น
แต่สิ่งที่ไม่ควรเกิด เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราพิจารณากันว่าสาเหตุนั้นมาจากอะไร
การขึ้นดอกเบี้ยของ FED อย่างรุนแรงและรวดเร็ว แปดครั้ง จาก 0.25% ถึงเกือบ 4.75% ภายในปีเดียว เป็นชนวนสำคัญของเรื่องนี้จริง แต่ไม่ใช่สาเหตุเดียว
เมื่อดอกเบี้ยขึ้น ลูกค้าของธนาคารนี้(และทุกธนาคาร) ก็ต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนคุ้มกับดอกเบี้ยที่สูง การระดมทุนเปิดธุรกิจใหม่ก็ไม่ง่ายเหมือนเดิม เมื่อลูกค้าหาเงินไม่คล่อง ก็ต้องถอนเงินที่ฝากธนาคารไว้ ออกไปหมุนเวียน
แต่สาเหตุแค่นั้นก็ไม่ควรทำให้ธนาคารนี้ล้ม
เหตุต่อไปคือความรวดเร็วของการสื่อสารทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการทำธุรกรรมธนาคารโดยสมองกลหรือโทรศัพท์มือถือ เมื่อมีข่าวลือ ไม่มั่นใจต่อธนาคารก็จะทำให้ปฏิกิริยาของลูกค้าหลายคนทำพร้อมกัน การถอนเงินภายในวันเดียวถึง 42,000 ล้านเหรียญเมื่อวันพุธที่ผ่านมานั้นเป็นตัวอย่าง ธนาคารไหนก็คงจะอยู่ยาก หากมีผู้ถอนเงินพร้อมกันขนาดนี้
เมื่อผู้บริหารธนาคารต้องระดมหาเงินสดมา โดยการยอมขายหรือเอ่ยปากว่าจะยอมขายพันธบัตรหรือตราสารหนี้ที่มีอยู่ ($21B)ในราคาขาดทุน ทั้งที่เป็นทรัพย์สินที่มีความน่าเชื่อถือสูงมาก เมื่อแบงค์ร้อนเงิน ยอมขาดทุน ก็เกิดกระแสความหวาดวิตก ข่าวลือป้อนข่าวลือ (SVB ยอมขาดทุน 1,750 ล้านเหรียญจากการลดราคาพันธบัตร/ตราสารหนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว)
ลูกค้าธนาคารนี้หลายคนเป็นบริษัทหรือสถาบันที่มีความรู้เรื่องการบริหารธุรกิจและการเงินดี ก็พลอยระดมถอนเงินปุบปับตามกันไปด้วย เรื่องนี้แม้เข้าใจความรู้สึกของผู้กลัว แต่น่าตำหนิที่ขาดวินัย
อีกไม่นานคงมีข่าวออกมาว่าใครชวนใครถอนเงินหรือใครได้ประโยชน์ จากการสร้างความวุ่นวายครั้งนี้
นี่ไม่ใช่การเข้าแถวหน้าธนาคารของลูกค้าปลีกชาวบ้านทั่วไปที่ไปถอนเงินย่อย แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากข่าวนี้ดังมาก จึงทำให้มีผลกระทบทางจิตวิทยามวลชน มีการเข้าแถวขอถอนเงินในบางธนาคารในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อบ่ายวันศุกร์เช่นกัน
ลูกค้าของธนาคาร SVB นี้ 96% เป็นบัญชีที่มีมูลค่ามากกว่า 250,000 เหรียญ ซึ่งเป็นเพดานสูงสุดของการประกันเงินฝากโดยสถาบัน FDIC
ถึงแม้ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้วันจันทร์ของอเมริกากระทรวงการคลัง Treasury, ธนาคารกลาง FED และ FDIC จะใช้มาตรการใด แต่คาดว่าจะมีการเข้ามาอุ้มชูผู้ฝากทุกบัญชี รวมทั้งผู้ที่ฝากเกินกว่า 250,000 เหรียญ ส่วนรายละเอียดนั้นก็คงจะต้องจับตาดูกัน
การไม่เข้ามาอุ้มชูธนาคาร แต่อุ้มชูลูกค้าผู้ฝากเงินทุกราย ก็เพื่อจำกัดขอบเขตของความเสียหาย ให้อยู่เพียงแค่ธนาคารเดียว
ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย ก็คงจะกระจายเป็นวงกว้าง ผลกระทบต่อไปอาจจะเป็นธนาคารภูมิภาคต่างๆของอเมริกา ซึ่งมีประมาณ 16% ของประเทศ
ส่วนธนาคารยักษ์ใหญ่ทั้งหลายนั้นคงไม่กระเทือน
ส่วนนโยบายดอกเบี้ยของสหรัฐฯนั้น วิกฤติของแบงค์ SVB นี้คงทำให้ FED ต้องคิดหนักหลายรอบ
หากมีการชะลอการขึ้นดอกเบี้ย หรือมีข่าวว่าเงินเฟ้อเริ่มอยู่คงที่ ก็คาดว่าตลาดหุ้นคงบูมแน่ ความมั่นคงของระบบการเงินและการธนาคารของอเมริกาก็คงจะต่อเนื่องไปอีก
ในระยะยาวแล้ว จะนิ่งนอนใจต่อไปไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องหาทางช่วยกันจัดสรรระบบทางเลือก มาถ่วงดุลและกระจายความเสี่ยง โดยไม่หวังพึ่งเพียงแค่ความมั่นคงทางการเงินและการธนาคารของโลกโดยมีอเมริกาเป็นผู้ตัดสินใจโดยส่วนใหญ่แต่ผู้เดียว
การจัดระบบใหม่เข้ามาเสริมระบบ USD-centric แบบปัจจุบันนั้น ควรทำโดยสันติวิธี และหาทางร่วมมือปฏิรูปร่วมกันด้วยความอดทน และเจรจาโดยเหตุผล ใช้ศิลปะการทูตอย่างมีประสิทธิภาพ และเทคโนโลยีซึ่งพัฒนาอย่างก้าวกระโดดนับวันนับคืนต้องถูกนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์
ควรหลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยีสื่อสารโซเชียลมีเดียสร้างความโกลาหล อย่างที่บางกลุ่มประพฤติในปัจจุบัน ไม่ควรจ้องทำลายสิ่งที่มีอยู่ ก่อนที่จะมีสิ่งใหม่เตรียมไว้ทดแทนครับ