นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบตามที่ กทพ.เสนอ โดยอนุมัติยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ 2 สายทางประกอบด้วย ทางพิเศษสายบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี–สุขสวัสดิ์) ตั้งแต่เวลา 00.01 น. วันพุธที่ 12 เม.ย. 2566 ถึงเวลา 24.00 น. วันอังคาร ที่ 18 เม.ย.2566
โดยรวมทั้งหมด 7 วัน คาดว่าจะมีปริมาณจราจรรวมทั้งสิ้น 2.57 ล้านคัน เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทาง และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566
อย่างไรก็ตาม จะทำให้กทพ.สูญเสียรายได้จากค่าผ่านทางเป็นเงิน 105,223,307 บาท ขณะที่จะได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกลับคืนเป็นมูลค่า 123,981,970 บาท ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ กทพ.จะรายงานนำเสนอไปที่กระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษ สำหรับรถโดยสารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ให้บริการรับส่งผู้โดยสาร (Shuttle Bus) ระหว่างสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) -สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ) ที่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษหัวลำโพง และด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษย่านพหลโยธิน เพิ่มเติมครั้งที่ 2 คิดเป็นวงเงิน 324,000 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้ได้อนุมัติการยกเว้นค่าผ่านทางสำหรับ Shuttle Bus ขสมก.ไปแล้วครั้งหนึ่ง คิดเป็นเงิน 864,000 บาท
ทั้งนี้กพท.ได้ให้ความร่วมมือในการสนับสนุนการยกเว้นค่าผ่านทางดังกล่าว เป็นระยะเวลา 6เดือน ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2566 ถึง วันที่ 18 ก.ค. 2566 โดยคิดเป็นวงเงินทั้งสิ้น 1,188,000 บาท โดยประเมินจำนวนเที่ยววิ่งประมาณ 64-88 เที่ยวต่อวัน อัตราค่าผ่านทางที่ 75 บาทต่อเที่ยว
รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบัน กทพ.และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มีการแบ่งสัดส่วนรายได้ ตามสัญญาสัมปทานที่ 60 -40 โดยการยกเว้นค่าผ่านทางสำหรับ Shuttle Bus ขสมก. รวม 6 เดือนวงเงินรวมกว่า 1.18 ล้านบาท นั้น เป็นรายได้ในส่วนของกทพ. ประมาณ 7.1 แสนบาท รายได้ของ BEM ประมาณ 4.7 แสนบาท