svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม nation online

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"ก.พาณิชย์" ชี้เป้าส่งออกเครื่องดื่มไปเวียดนามรุ่ง เน้นตลาดเพื่อสุขภาพ

31 มกราคม 2566

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ชี้เป้าผู้ผลิตเครื่องดื่ม เจาะตลาดเวียดนาม หลังพบมีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่อง เผยเครื่องดื่มพรีเมี่ยม เพื่อสุขภาพ มีโอกาสทำตลาดสูง พร้อมแนะควรเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อเปิดตัวสินค้า และใช้ช่องทางออนไลน์เข้าถึงผู้ซื้อง่ายขึ้น

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า จากการสำรวจโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง  ล่าสุดพบว่า สินค้าเครื่องดื่มยังเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดเวียดนาม โดยในปี 2566 มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้น หลังจากซบเซาจากโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งฟื้นตัวทั้งเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และ ไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริโภคยังให้ความสำคัญต่อสุขภาพมากขึ้น โดยต้องการเครื่องดื่มที่มีคุณภาพ สะอาด ปลอดภัย มีแหล่งที่มาที่ชัดเจน มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน 

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)

นายภูสิตกล่าวว่า ในการขยายตลาดสินค้าเครื่องดื่มของไทยเข้าสู่ตลาดเวียดนาม ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ควรกำหนดกลยุทธ์ด้านการตลาดในการเข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในเวียดนาม

โดยควรมุ่งเน้นการนำผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีความแตกต่างจากสินค้าทั่วไป เพื่อสร้างความแตกต่าง อาทิ ชาพร้อมดื่มบรรจุกระป๋องระดับพรีเมี่ยม เครื่องดื่มผลไม้ผสมสมุนไพร และ น้ำผลไม้ตามฤดูกาล เน้นจุดเด่นคือมีให้บริโภคได้เฉพาะบางฤดูกาลเท่านั้น หรือการคัดสรรวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่มีชื่อเสียง

นอกจากนี้ อาจพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยแตกต่างจากบรรจุภัณฑ์ทั่วไปในท้องตลาด แม้ว่าตลาดเครื่องดื่มจะถูกครองตลาดโดยบริษัทต่างชาติ แต่ปัจจุบันผู้บริโภคชาวเวียดนามมีแนวโน้มลดการใช้เครื่องดื่มอัดลมและค่อย ๆ เปลี่ยนไปดื่มเครื่องดื่มออร์แกนิกเพื่อสุขภาพ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติและดีต่อสุขภาพ

ส่วนช่องทางการกระจายสินค้าเครื่องดื่มมีช่องทางการซื้อสินค้าส่วนใหญ่จากร้านตัวแทนจำหน่ายหรือร้านค้าของชำ ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาเก็ต และช่องทางออนไลน์ โดยมีแนวโน้มว่าผู้บริโภคนิยมซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากสะดวกรวดเร็ว และ ผู้บริโภคยังสามารถเปรียบเทียบข้อมูลและราคาสินค้าก่อนการตัดสินใจซื้อได้

โดยร้านค้าออนไลน์ต้องมีระบบชำระเงิน ผ่านการเชื่อมโยงกับบัญชีธนาคาร หรือ การชำระเงินสดเมื่อได้รับสินค้า โดยผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งเสริมสินค้าให้เป็นที่รู้จัก ควรใช้วิธีร่วมกับผู้นำเข้าจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook , e-commerce websites ที่จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพื่อประชาสัมพันธ์และเพิ่มยอดการขายสินค้าในตลาดเวียดนาม

ขณะเดียวกัน ในการขยายตลาดควรจะเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในเวียดนาม เช่น Vietfood & Beverage - ProPack 2023 ที่มีกำหนดการจัดขึ้นในวันที่ 10-12 สิงหาคม 2566 ณ โฮจิมินห์ งานแสดงสินค้า Mini Thailand Week และงาน.Online Business matching (OBM) ที่จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ การส่งออกเครื่องดื่มของไทยไปเวียดนามในช่วง 11 เดือนของปี 2565 (มกราคม – พฤศจิกายน) มีมูลค่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12% โดยน้ำแร่ น้ำอัดลมที่ปรุงรส มีมูลค่าสูงสุด 334 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 37,443.8% รองลงมา คือ เครื่องดื่มอื่น ๆ มูลค่า 60.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 82.4%

เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อื่น ๆ มูลค่า 4.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 58.8% วิสกี้ มูลค่า 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 2,883.1% ไวน์ มูลค่า 3 แสนเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 343% เบียร์ มูลค่า 1.6 แสนเหรียญสหรัฐ ลด 46.8% เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์อื่น ๆ 2 หมื่นเหรียญสหรัฐ ลด 59.7%

"ก.พาณิชย์" ชี้เป้าส่งออกเครื่องดื่มไปเวียดนามรุ่ง เน้นตลาดเพื่อสุขภาพ