svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ส่งออกไทยเผชิญสารพัดเสี่ยงคาดโตเพียง 1-2%

24 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"จุรินทร์" ถกเอกชนเคาะเป้าส่งออกปี 66 ใหม่โต 1-2% พร้อมบุกตลาดตะวันออกกลาง-เอเชียใต้-จีน เผยตัวเลขปี 2565 ขยายตัว 5.5% มูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 287,067 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการหารือกับสภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย(สอท.)  สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับสถานการณ์การส่งออกในปีนี้ และปัจจัยแวดล้อมต่างประเทศ ตั้งเป้าส่งออกปีนี้ ขยายตัว 1-2% หรือมีมูลค่า 289,938-292,809 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้เป็นผลมาจากการขนส่งสินค้าเข้าสู่ภาวะปกติ ค่าระวางเรือลดลง ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์คลี่คลาย ขณะที่ความต้องการด้านอาหารของโลกยังเพิ่มขึ้น นอกจากนี้จะรุกตลาดต่างประเทศเพิ่ม  เช่น ตะวันออกกลาง คาดว่าจะบวกได้ 20% เอเชียใต้  10% เน้นไปที่ตลาดอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ส่วนกลุ่ม CLMV จะเติบโต 15%  รวมถึงประเทศจีนเพิ่มขึ้นหลังจากเปิดประเทศ

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามและอาจมีผลต่อการส่งออกคือเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดหลักคาดการณ์ว่าจีดีพีปีนี้ขยายตัวเพียง 0.5-1% ยุโรปขยายตัว 0.0-0.5% ญี่ปุ่นจีดีพีขยายตัว 1.6% ดังนั้นหากประเทศดังกล่าวเศรษฐกิจหดตัวจะกระทบต่อการส่งออกไทย

สำหรับส่งออกไตรมาส 1/65 ชะลอตัว เนื่องจากประเทศผู้นำเข้ายังมีสต็อกเก่าค้างอยู่จึงไม่มีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ ขณะที่ราคาน้ำมันยังอยู่ระดับสูงไม่มีแนวโน้มลดลงมีผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย นอกจากนี้ค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่าขึ้นทำให้ไทยเสียเปรียบทางด้านการแข่งขัน 

 

สำหรับการส่งออกของไทยปี 2565 (มกราคม–ธันวาคม) มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 287,067.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.5%และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 4.7% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 303,190.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.6% ส่งผลให้ไทยขาดดุล 16,122.8 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ส่งออกได้ดีทั้งปี ได้แก่ น้ำตาลทราย เครื่องโทรสาร อัญมณีและเครื่องประดับ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ไก่แปรรูป ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง เป็นต้น

ทั้งนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือกระทรวงพาณิชย์และเอกชน ร่วมกันผลักดันการส่งออก การเร่งเปิดด่านการค้าชายแดน การเร่งหาแหล่งสำรองอาหารจากทั่วโลก การขนส่งคลี่คลายจากค่าระวางเรือที่ปรับตัวลดลง  ตู้คอนเทนเนอร์ที่กลับมาเพียงพอกับความต้องการของตลาดทำให้ส่งออกปีที่ผ่านมาสูงสุดเป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ดี มีปัจจัยที่จะต้องติดตาม อาทิ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงตึงเครียด (สหรัฐ-จีน-ไต้หวัน หรือรัสเซีย-ยูเครน) สร้างอุปสรรคด้านการค้าและความเสี่ยงต่อปัญหาห่วงโซ่อุปทาน แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และมาตรการด้านสิ่งแวด ล้อมของประเทศคู่ค้ากับความสามารถในการปรับตัวของ ผู้ส่งออกไทยเพื่อรับมือระเบียบการค้าใหม่ ๆ เป็นต้น

logoline