svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ตรวจแถวการเมือง

พึงพินิจ "8 ปี นายกฯ" แนวทางพิจารณา"ศาลรัฐธรรมนูญ"รอดหรือร่วง ตอนที่ 4

13 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เข้าสู่สัปดาห์ระทึก เมื่อ "พรรคเพื่อไทย" เตรียมส่งปม "นายกฯ 8 ปี" ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ศาล รธน.วินิจฉัย ทว่าแนวการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรธน.เป็นอย่างไร ติดตามได้จากที่นี่ซึ่งจะว่าด้วยเรื่อง"พระบรมราชโองการ"โปรดเกล้าแต่งตั้งนายกฯ ตอนที่ 4

 

"นิชานท์  สิงหพุทธางกูร" และ "ธนันท์  ชาลดารีพันธ์" สองนักวิชาการ นำเสนองานวิจัย การพิจารณา "นายกฯ 8 ปี" ตามแนวการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ "เนชั่นทีวีออนไลน์" เห็นว่ามีเนื้อหาที่ชวนให้พิจารณาอย่างยิ่ง จึงขอนำเสนอเป็น ตอนที่ 4

 

<<<อ่านประกอบ>>>

 

ตอนที่ ๔

 

คำวินิจฉัยที่ ๖/๒๕๔๒ เรื่อง คณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยขอบเขตการใช้บังคับมาตรา ๖๘ ของรัฐธรรมนูญ

 

คดีนี้เกิดจากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีความเห็นว่า มีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๖๘ ซึ่งบัญญัติให้บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง บุคคลซึ่งไม่ไปเลือกตั้งโดยไม่แจ้งเหตุอันควรที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งได้ ย่อมเสียสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด และการแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งและการอำนวยความสะดวกในการไปเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ กล่าวคือ มีบุคคลใดบ้างที่ไม่อยู่ในข่าย หรือได้รับการยกเว้นมิต้องไปแจ้งเหตุอันควรที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘  ทั้งนี้บุคคลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป

 

 

 

 

 

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย โดยตั้งประเด็นว่า บุคคลผู้มีหน้าที่ในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ จะใช้กับพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ ด้วยหรือไม่ ศาลได้เริ่มพิจารณาโดยยกหลักพระบรมวงศานุวงศ์ว่าควรดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง เป็นหลักที่พระบาทสสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยตามความคิดของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่ ๑/๖๐ ลงวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๗๕ ต่อมาได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๑๑ ว่า พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป โดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง

 

พึงพินิจ "8 ปี นายกฯ" แนวทางพิจารณา"ศาลรัฐธรรมนูญ"รอดหรือร่วง ตอนที่ 4

 

ศาลยังพิจารณาถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญ และเห็นว่า 


...รัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับรวมทั้งฉบับปัจจุบัน มีหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์  ตามคติการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้
    ...

 

 

ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ บัญญัติให้บุคคลมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง...นั้น  เนื่องจากพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง ประกอบกับที่ผ่านมาพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส และพระราชธิดา ไม่เคยทรงใช้สิทธิเลือกตั้งแต่อย่างใด หากกำหนดให้พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ซึ่งจะควรสืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์อยู่เป็นนิจ ทรงมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งย่อมจะก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องกันกับหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์

 

พึงพินิจ "8 ปี นายกฯ" แนวทางพิจารณา"ศาลรัฐธรรมนูญ"รอดหรือร่วง ตอนที่ 4

 

ศาลได้ใช้วิธีพิจารณาโดยค้นหาประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กล่าวคือ ประเพณีการปกครองประเทศไทยฯ นั้น ค้นหาได้โดยนำบทบัญญัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับมาพิจารณา และการปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญหรือทางการปกครองที่ปฏิบัติกันมาจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ หรือเป็นประเพณี  การพิจารณาวินิจฉัยในคำวินิจฉัยนี้ ไม่ได้ยกบทบัญญัติมาแต่เพียงในรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ เท่านั้น แต่ได้ยกอ้างตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๗๕ และยังกล่าวได้ด้วยว่า หมวดพระมหากษัตริย์มีมาในรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ 

 

ทั้งยังอ้างไปถึงพระราชหัตถเลขาซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญได้ กล่าวคือเป็นเอกสารที่แสดงพระราชดำริหรือพระราชวินิจฉัยอันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งในกรณีพระราชหัตถเลขาฉบับที่อ้างถึงนี้ ก็เป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๗๕ มาตรา ๑๑  กับได้อ้างถึงธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญที่พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส และพระราชธิดา ไม่เคยทรงใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งจะเกี่ยวกับการทรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมือง

 

กรณีการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีตามมาตรา ๒๖๔ เราอาจค้นหาธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญมาพิจารณาได้อีกทางหนึ่ง คือพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรีเพิ่มเติมในวาระเริ่มแรก โดยเหตุที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับ บัญญัติให้ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจึงเป็นปฏิบัติการทางรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ  เมื่อตรวจดูพระบรมราชโองการดังกล่าว ก็พบว่า พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี กับพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรี ต่างก็มีรูปแบบหรือแบบแผนเฉพาะ ซึ่งมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๗๕ และค่อย ๆ แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำทีละเล็กละน้อยมาจนเป็นรูปแบบปัจจุบัน จึงเป็นปฏิบัติการทางรัฐธรรมนูญที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ หรืออยู่ในประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ได้มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีเพิ่มเติม  โดยพระราชโองการ ประกาศ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐  ความต้นพระราชโองการ มีดังนี้

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

 

โดยที่นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า ได้มีรัฐมนตรีลาออกบางตำแหน่ง และสมควรปรับปรุงรัฐมนตรีบางตำแหน่ง เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้...

 

พระราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรีเพิ่มเติมฉบับนี้ มีรูปแบบต่างไปจากพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรีเพิ่มเติมตามปกติ กล่าวคือ พระบรมราชโองการตามปกติ จะเริ่มต้นว่า พระปรมาภิไธย ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง.... เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่...  และแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินตามประกาศลงวันที่... และประกาศครั้งสุดท้ายลงวันที่...

 

พิจารณาดูพระบรมราชโองการ ประกาศ ให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๘

 

พึงพินิจ "8 ปี นายกฯ" แนวทางพิจารณา"ศาลรัฐธรรมนูญ"รอดหรือร่วง ตอนที่ 4

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ และแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดินตามประกาศลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ และประกาศครั้งสุดท้ายลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ นั้น

 

บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า สมควรปรับปรุงรัฐมนตรีบางตำแหน่ง เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย...

 

และพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรี ลงวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๓ 

 

พึงพินิจ "8 ปี นายกฯ" แนวทางพิจารณา"ศาลรัฐธรรมนูญ"รอดหรือร่วง ตอนที่ 4

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๒ แล้ว และแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ นั้น

 

บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า ได้มีรัฐมนตรีลาออกบางตำแหน่ง สมควรแต่งตั้งรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่างและเพิ่มเติมบางตำแหน่ง เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

 

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๕๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย...

 

จะเห็นว่า พระบรมราชโองการฉบับหลังนี้ พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ซึ่งการแต่งตั้งนั้นโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน  แต่พระราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรีเพิ่มเติมลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เป็นเวลาในวาระเริ่มแรกของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ซึ่งการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 

 

พระราชโองการฉบับลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ นี้ และรวมกับพระราชโองการ ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี ประกาศลงวันที่  ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙ ซึ่งยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗ อยู่ในช่วงเปลี่ยนรัชกาลใหม่  ความต้นพระราชโองการจะใช้ว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ ๒๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘..." ไม่ได้ จึงทอนเนื้อความส่วนที่เป็นการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีออกเสีย

 

เพื่อจะได้เห็นว่า พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีเพิ่มเติมในวาระเริ่มแรก จะให้การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี หรือตามวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ก็ค้นดูพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรีเพิ่มเติมในวาระเริ่มแรก พบว่ามีอยู่ ๔ ฉบับ  ๒ ฉบับอยู่ในวาระเริ่มแรกของรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี ๒๕๓๘  กับอีก ๒ ฉบับอยู่ในวาระเริ่มแรกของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐

 

พระบรมราชโองการทั้ง ๔ ฉบับ บอกถึงการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า และการแต่งตั้งอาศัยอำนาจตามความในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  

 

พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ และพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ มีความต้นพระบรมราชโองการคล้ายคลึงกัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ ๒๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๕ และแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน...

 

บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลว่า.... อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย...

 

พึงพินิจ "8 ปี นายกฯ" แนวทางพิจารณา"ศาลรัฐธรรมนูญ"รอดหรือร่วง ตอนที่ 4

 

พระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ กับพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรี ลงวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๐ มีความต้นพระบรมราชโองการคล้ายคลึงกัน

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ ๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙ แล้ว และแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน...

 

บัดนี้... จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ตามความในมาตรา ๑๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย..

 

จึงกล่าวได้ว่า ธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ จะให้นายกรัฐมนตรีในวาระเริ่มแรกซึ่งโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง มิได้พ้นจากตำแหน่งไปตามรัฐธรรมนูญฉบับเก่า แล้วได้รับแต่งตั้งโดยบทบัญญัติในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่     

 

การพิจารณาธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญหรือประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนี้ ก็สนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า “บัญญัติว่า "ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้คงเป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" หมายความว่า รัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่ได้รับแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญเดิม ยังคงความเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป"

 

ปัญหาเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญในวาระเริ่มแรก เคยมีความเห็นขัดแย้งกันในการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาเทศบาล และมีคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คือคำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๔๑  แม้จะเป็นปัญหาที่ไม่ตรงกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา แต่ก็มีประเด็นที่นำมาเป็นแนวการพิจารณาประกอบได้  เราจะไปพิจารณาคำวินิจฉัยนั้นดูในตอนที่ ๕ 

 

พึงพินิจ "8 ปี นายกฯ" แนวทางพิจารณา"ศาลรัฐธรรมนูญ"รอดหรือร่วง ตอนที่ 4
 

logoline