svasdssvasds
เนชั่นทีวี

วันนี้ในอดีต

ย้อนต้นกำเนิด "โรตีสายไหม" มีที่มาจากไหน ขนมที่ "ลิซ่า" ม้วนโชว์ ทำเอาคนทั้งโลกอยากชิม

15 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดต้นกำเนิด "โรตีสายไหม" มีที่มาจากไหน ขนมที่ "ลิซ่า" ม้วนโชว์ในไอจีสตอรี่ ทำเอาคนทั้งโลกอยากชิม

ถ้าพูดถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิ่งที่จะบรรยายตัวตนได้ดีที่สุด นอกจากความเป็นกรุงเก่า วัดวาอาราม โบราณสถานเก่าแก่อันสวยงาม และมีดอรัญญิกที่ขึ้นชื่อแล้ว อาหารการกินอย่างก๋วยเตี๋ยวเรือ กุ้งเม่น้ำ รวมถึง "โรตีสายไหม" ก็ถือเป็นตัวแทนที่จะใช้สื่อถึงจังหวัดนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ "โรตีสายไหม" ขนมสุดคลาสสิคที่หากใครเดินทางมาที่นี่แล้วก็มักจะนำติดไม้ติดมือมาฝากคนทางบ้านอยู่เสมอ

 

ย้อนต้นกำเนิด "โรตีสายไหม"

ล่าสุด “ลิซ่า” ซูปเปอร์สตาร์ นักร้องวงแบล็กพิงค์ โพสต์ไอจีสตอรี่ ขณะกำลังม้วน "โรตีสายไหม" พร้อมขนมไทยอีกหลายชนิด ทำเอาบรรดาแฟนคลับรีบไปหามารับประทานตามกันเป็นทิวแถว (คลิกอ่านรายละเอียด)

 

ดังนั้น ไหนๆก็มีนักร้องระดับซุปตาร์จุดกระแสโรตีสายไหมขึ้นมาให้คนรู้จักไปทั่วโลกแล้ว วันนี้ทีมข่าวเนชั่นออนไลน์จึงขอนำประวัติโรตีสายไหมมาฝากกันเสียเลย ไอ้เจ้าขนมที่หวานฉ่ำที่ว่านี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร   

 

“ลิซ่า” ซูปเปอร์สตาร์ นักร้องวงแบล็กพิงค์

 

ย้อนต้นกำเนิด "โรตีสายไหม" มีที่มาจากไหน ขนมที่ "ลิซ่า" ม้วนโชว์ ทำเอาคนทั้งโลกอยากชิม

จากการค้นคว้าข้อมูลส่วนใหญ่มีอยู่ 2 กระแส ว่ากันว่าโรตีสายไหมเดิมทีเป็นของชาวแขก นับเป็นอาหารประเภทขนมหวานชนิดชนิดหนึ่ง มีส่วนประกอบหลักอยู่สองส่วน คือแผ่นแป้ง และส่วนไส้ที่เป็นน้ำตาล เคี่ยวทำเป็นเส้นฝอยที่เรียกว่าสายไหม เวลากินจะนำแผ่นแป้งมาห่อไส้และม้วน

 

ย้อนกลับในยุคเริ่มต้น มีชาวไทยเชื้อสายจีน ชื่อนางนภาพร นันทสุขเกษม ขณะนั้นอายุ 13 ปี ได้ไปเรียนการทำเส้นสายไหมและกลับมาทำจนสำเร็จ แต่เนื่องจากไม่มีทุนมากพอที่จะเรียนหลักสูตรการทำแป้งโรตี จึงประยุกต์ใช้แป้งบางที่ชาวจีนเรียกว่าแป้งเปาะเปี๊ยะในการห่อเส้นสายไหมแทน จึงเกิดเป็นโรตีสายไหมแป้งบางที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

ย้อนต้นกำเนิด "โรตีสายไหม" มีที่มาจากไหน ขนมที่ "ลิซ่า" ม้วนโชว์ ทำเอาคนทั้งโลกอยากชิม

 

ส่วนการนำโรตีสายไหมเข้าไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น มีการบันทึกเป็นเรื่องราวเล่าต่อๆ กันมา กระทำโดย "นายบังเปีย แสงอรุณ" หรือ "ซาเล็ม แสงอรุณ" ซึ่งเป็นชาวมุสลิม ด้วยความที่ครอบครัวมีฐานะยากจน มีลูกมากถึง 10 คน เมื่อตอนอายุ 11 ขวบ บังเปียตัดสินใจออกจากบ้านไปรับจ้างช่วยทำขนมหวานอยู่กับอา ที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เช่น โรตีกรอบ โรตีใส่นมแล้วนำไปขายที่บริเวณวัดหลวงพ่ออี๋ ในแต่ละวันเมื่อขายขนมเสร็จแล้วจะต้องกลับไปเคี่ยวน้ำตาลเพื่อนำไปหยอดที่แป้งกรอบ บางครั้งเคี่ยวนานไปน้ำตาลจึงแข็ง บังเปียจึงทดลองดึงน้ำตาลให้ยืดขึ้นเพื่อให้น้ำตาลอ่อนตัวหยอดที่โรตีกรอบได้ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำโรตีสายไหม และฝึกหัดดึงน้ำตาลเคี่ยวให้เป็นเส้นไหมจากความบังเอิญ ทำอยู่หลายปีจนเกิดความชำนาญ

 

จากนั้นในปี พ.ศ. 2506 ได้เดินทางกลับไปบ้านที่อยุธยาแล้วย้ายไปเช่าบ้านอยู่ที่ข้างสุเหร่าวัฒนา อำเภอพระนครศรีอยุธยา ทำโรตีสายไหมใส่กล่องไม้สะพาย ถีบจักรยานคู่ใจเร่ขายไปทั่ว

 

ย้อนต้นกำเนิด "โรตีสายไหม" มีที่มาจากไหน ขนมที่ "ลิซ่า" ม้วนโชว์ ทำเอาคนทั้งโลกอยากชิม

สมัยนั้นคนซื้อจะนำเหรียญสลึงมาหย่อนลงในช่องที่มีรูเจาะไว้ เข็มที่หน้าปัดซึ่งมีตัวเลขเขียนไว้จะหมุน เมื่อเข็มหยุดที่เลขใดก็จะได้จำนวนชิ้นเท่านั้น เป็นที่สนุกสนานของคนซื้อเป็นอย่างมาก

 

บังเปียขายอยู่หลายปี กระทั่งในปี พ.ศ. 2520 ได้แต่งงานกับนางมั่น ชาวโคราช มีบุตรชาย 3 คน และผู้หญิง 2 คน จึงคิดที่จะสร้างครอบครัวให้เป็นปึกแผ่นกว่าที่เป็นอยู่ จึงได้ย้ายไปเช่าบ้านอยู่ในตัวเมืองอยุธยา ริมถนนอู่ทอง และช่วยกันทำโรตีสายไหมขายเป็นอาชีพ จนมีความเป็นอยู่ดีขึ้นเรื่อยๆ

 

บังเปียไม่หยุดนิ่งในฝีมือ หมั่นปรับปรุงรสชาติ จนกิจการขยายตัวเป็นที่รู้จักของชาวอยุธยาและจังหวัดใกล้เคียง จึงชักชวนพี่น้องทั้ง 6 คน ให้มายึดอาชีพทำโรตีสายไหมขาย ทำให้ตระกูลแสงอรุณขยายกิจการกระจายไปทั่วถนนอู่ทอง และขยายวงกว้างไปตามเส้นทางสายเอเชีย ถนนมิตรภาพ โรตีสายไหมจึงกลายเป็นขนมประจำจังหวัดอยุธยา และได้รับความนิยมกันทั่วไปในที่สุด

 

ย้อนต้นกำเนิด "โรตีสายไหม" มีที่มาจากไหน ขนมที่ "ลิซ่า" ม้วนโชว์ ทำเอาคนทั้งโลกอยากชิม

 

ปัจจุบันร้านขนมโรตีสายไหมมีขายเกลื่อนสองข้างทาง ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดอยุธยา ในกรุงเทพมหานครที่ขายกันมากแห่งหนึ่ง ก็จะเป็นถนนสุวินทวงศ์ ส่วนโรตีสายไหมหยอดเหรียญในยุคนี้นานๆทีจะได้เห็นสักครั้งตามงานวัดในต่างจังหวัด 

 

ดังนั้น เมื่อทราบประวัติของโรตีสายไหมกันแล้ว ใครผ่านไปเจอร้านค้าก็อย่าลืมอุดหนุน จะกินเองหรือใช้เป็นของฝากก็ไม่น่าเกลียด จะได้ไม่ตกเทรนด์ไปกับ “น้องลิซ่า”

logoline