svasdssvasds
เนชั่นทีวี

วันนี้ในอดีต

8 ก.ค. ครบรอบ "มรณะภาพ" ของพระภิกษุผู้ยิ่งใหญ่ด้วยธรรม นาม "พุทธทาสภิกขุ"

08 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

8 ก.ค. 65 ครบรอบ "วันมรณะภาพ" ของพระภิกษุผู้ยิ่งใหญ่ด้วยธรรม นาม "พุทธทาสภิกขุ" ที่รับมรดกธรรมจากพระพุทธเจ้าเผยแผ่สู่ชาวพุทธจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

ข้าพเจ้าขอมอบชีวิตและร่างกายนี้ ถวายแด่พระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า เพราะเหตุดังว่ามานี้ ข้าพเจ้าจึงชื่อว่าพุทธทาส 

     คำกล่าวนี้เป็นของพระภิกษุรูปหนึ่งนามว่า “พุทธทาสภิกขุ” หรือ “อินทปัญโญ” ตั้งปณิธานอันแน่วแน่ที่จะเจริญรอยตามองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า อุทิศตนเป็นทาสของพระองค์ในการเผยแพร่คำสอนที่เป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา

     หลังจากนั้นตัวท่านเองก็ได้แสดงธรรมกล่อมเกลาชาวพุทธเรื่อยมา กระทั่งถึงวันละสังขาร คือวันนี้ในอดีต หรือวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๓๖  

     ดังนั้นวันนี้ ทีมช่าวเนชั่นออนไลน์ จะพาย้อนไปทำความรู้จักกับพระภิกษุผู้ยิ่งใหญ่ด้วยธรรมที่ชื่อ “พุทธทาสภิกขุ” กันอีกสักครั้ง

8 ก.ค. ครบรอบ "มรณะภาพ" ของพระภิกษุผู้ยิ่งใหญ่ด้วยธรรม นาม "พุทธทาสภิกขุ"

กำเนิดแห่งชีวิต

     ท่านพุทธทาสภิกขุ มีนามเดิมว่า เงื่อม นามสกุล พานิช เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ในสกุลของพ่อค้าที่ตลาดพุมเรียง ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี บิดาชื่อ เซี้ยง มารดาชื่อ เคลื่อน มีน้อง ๒ คน เป็นชายชื่อ ยี่เกย (ธรรมทาส) และเป็นหญิงชื่อ กิมซ้อย

     บิดาของท่านมีเชื้อสายจีน ประกอบอาชีพค้าขายของชำ เฉกเช่นที่ชาวจีนนิยมทำกันทั่วไป แต่อิทธิพลที่ท่านได้รับจากบิดากลับเป็นเรื่องของความสามารถทางด้านกวี และทางด้านช่างไม้ ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่ชื่นชอบของบิดา

8 ก.ค. ครบรอบ "มรณะภาพ" ของพระภิกษุผู้ยิ่งใหญ่ด้วยธรรม นาม "พุทธทาสภิกขุ"

     ส่วนอิทธิพลที่ได้รับจากมารดาคือ ความสนใจในการศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้ง อุปนิสัยที่เน้นเรื่องความประหยัด ความละเอียดลออในการใช้จ่ายและการทำทุกสิ่งให้ดีที่สุด และต้องทำให้ดีกว่าครูเสมอ ท่านได้เรียนหนังสือถึงชั้น ม.๓ แล้วต้องออกมาค้าขายแทนบิดาซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคลมปัจจุบัน

     ครั้นท่านอายุครบ ๒๐ ปี ก็ได้บวชเป็นพระตามคตินิยมที่วัดอุบล (วัดนอก) ไชยา ได้รับนามฉายาว่า “อินทปัญโญ” แปลว่า ผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ เดิมท่านตั้งใจจะบวชเรียนตามประเพณีเพียง ๓ เดือน แต่ความสนใจ ความซาบซึ้ง ความรู้สึกเป็นสุข สนุกในการศึกษา และเทศน์แสดงธรรม ทำให้ท่านไม่อยากสึก เล่ากันว่า เจ้าคณะอำเภอเคยถามท่านขณะที่เป็นพระเงื่อมว่า มีความคิดเห็นอย่างไรในการใช้ชีวิต ท่านตอบว่า “ผมคิดว่าจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์มากที่สุด

8 ก.ค. ครบรอบ "มรณะภาพ" ของพระภิกษุผู้ยิ่งใหญ่ด้วยธรรม นาม "พุทธทาสภิกขุ"

อุดมคติแห่งชีวิต

     พระเงื่อมได้เดินทางมาศึกษาธรรมะต่อที่กรุงเทพฯ สอบได้นักธรรมเอก แล้วเรียนภาษาบาลี จนสอบได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ระหว่างที่เรียนเปรียญธรรม ๔ ประโยคอยู่นั้น ด้วยความที่ท่านเป็นคนรักการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก และศึกษาค้นคว้าออกไปจากตำราถึงเรื่องการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา อินเดีย และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก ทำให้ท่านรู้สึกขัดแย้งกับวิธีการสอนธรรมะที่ยึดถือรูปแบบตามระเบียบแบบแผนมากเกินไป ความย่อหย่อนในพระวินัยของสงฆ์ ตลอดจนความเชื่อที่ผิดๆ ของพุทธศาสนิกชนในเวลานั้น ทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาที่สอน ที่ปฏิบัติกันนั้นคลาดเคลื่อนไปมากจากที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะ

     ท่านจึงตัดสินใจหันหลังให้กับการศึกษาของสงฆ์เวลานั้น กลับไชยาเพื่อศึกษาและทดลองปฏิบัติตามแนวทางที่ท่านเชื่อมั่น โดยร่วมกับนายธรรมทาสและคณะธรรมทานจัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม “สวนโมกขพลาราม” ขึ้น เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๗๕ จากนั้นท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมะอย่างเข้มข้น จนเชื่อมั่นว่าท่านมาไม่ผิดทาง และได้ประกาศใช้ชื่อนาม “พุทธทาส” เพื่อแสดงให้เห็นถึงอุดมคติสูงสุดในชีวิตของท่าน

8 ก.ค. ครบรอบ "มรณะภาพ" ของพระภิกษุผู้ยิ่งใหญ่ด้วยธรรม นาม "พุทธทาสภิกขุ"

ปณิธานแห่งชีวิต

     อุดมคติที่หยั่งรากลึกลงแล้วนี้ ทำให้ท่านสนใจใฝ่หาความรู้ทางธรรมะตลอดเวลา ไม่เฉพาะแต่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแต่ครอบคลุมไปถึงพระพุทธศาสนาแบบมหายานและศาสนาอื่น เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู สิกข์ เป็นต้น จากความรอบรู้ที่กว้างขวางและลึกซึ้งนี้เอง ทำให้ท่านสามารถประยุกต์วิธีการสอนและปฏิบัติธรรมะได้อย่างหลากหลาย ให้คนได้เลือกปฏิบัติที่สอดคล้องกับพื้นความรู้และอุปนิสัยของตนโดยไม่จำกัดชนชั้น เชื้อชาติ และศาสนา เพราะท่านเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนก็คือ เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น และหัวใจของทุกศาสนาก็เหมือนกันหมด คือ ต้องการให้มนุษย์พ้นจากความทุกข์ ท่านจึงตั้งปณิธานไว้ ๓ ข้อ คือ

     ๑.ให้พุทธศาสนิกชน หรือศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตาม เข้าถึงความหมายอันลึกซึ้งที่สุดแห่งศาสนาของตน

     ๒.ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา

     ๓.ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม

ผลงานแห่งชีวิต

     ตลอดชีวิตของท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านย้ำอยู่เสมอว่า “ธรรมะคือหน้าที่” เป็นการทำหน้าที่เพื่อความอยู่รอดทั้งฝ่ายกายและฝ่ายวิญญาณของมนุษย์ และท่านได้ทำหน้าที่ในฐานะทาสผู้ซื่อสัตย์ของพระพุทธเจ้า ผลงานหนังสือของท่านมีทั้งที่ท่านประพันธ์ขึ้นเอง งานที่ถอดจากการบรรยายธรรมของท่าน และงานแปลซึ่งท่านแปลจากภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับงานหนังสือนี้ ท่านเคยให้สัมภาษณ์กับพระประชา ปสนฺนธมฺโม ว่า

 “เราได้ทำสิ่งที่มันควรจะทำ ไม่เสียค่าข้าวสุกของผู้อื่นแล้ว เชื่อว่ามันคุ้มค่า อย่างน้อยผมกล้าพูดได้อย่างหนึ่งว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีใครในประเทศไทยบ่นได้ว่า ไม่มีหนังสือธรรมะอ่าน ก่อนนี้ได้ยินคนพูดจนติดปากว่าไม่มีหนังสือธรรมะจะอ่าน เราก็ยังติดปาก ไม่มีหนังสือธรรมะจะอ่าน ตอนนี้บ่นไม่ได้อีกแล้ว”

     ในระดับนานาชาติ ทุกมหาวิทยาลัยที่มีแผนกสอนวิชาศาสนาสากลทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ ล้วนศึกษางานของท่าน หนังสือของท่านกว่า ๑๔๐ เล่ม ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ กว่า ๑๕ เล่มเป็นภาษาฝรั่งเศส และอีก ๘ เล่มเป็นภาษาเยอรมัน นอกจากนี้ยังแปลเป็นภาษาจีน อินโดนีเซีย ลาว และตากาล็อก อีกด้วย

8 ก.ค. ครบรอบ "มรณะภาพ" ของพระภิกษุผู้ยิ่งใหญ่ด้วยธรรม นาม "พุทธทาสภิกขุ"

เกียรติคุณแห่งชีวิต

     ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูอินทปัญญษจารย์ พระอริยนันทมุนี พระราชชัยกวี พระเทพวิสุทธิเมธี และพระธรรมโกศาจารย์ ตามลำดับ แต่ท่านจะใช้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นต้องติดต่อทางราชการเท่านั้น ถ้าเป็นเรื่องอื่นแล้วท่านจะใช้ชื่อว่า “พุทธทาส อินฺทปญฺโญ” เสมอ แสดงให้เห็นความอ่อนน้อมถ่อมตัวของท่าน และชื่อพุทธทาสนี้ก็เป็นที่มาแห่งอุดมคติของท่านนั่นเอง

     ท่านได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในสาขาวิชาต่างๆ

8 ก.ค. ครบรอบ "มรณะภาพ" ของพระภิกษุผู้ยิ่งใหญ่ด้วยธรรม นาม "พุทธทาสภิกขุ"

ละสังขาร

     ท่านพุทธทาสภิกขุได้ละสังขารกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ สิริรวมอายุ ๘๗ ปี นับได้ ๖๗ พรรษา คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรงคุณค่าแทนตัวท่านให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธานของท่าน รับมรดกความเป็น “พุทธทาส” เพื่อพุทธทาสจะได้ไม่ตายไปจากพระพุทธศาสนา

     และในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ก็ได้ประกาศยกย่องให้ท่าน “พุทธทาสภิกขุ” เป็นบุคคลสำคัญของโลก นับว่าเป็นอีกหนึ่งเกียรติประวัติที่ช่วยยืนยันว่า “พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย” อย่างแน่นอน

ขอบคุณข้อมูล : http://www.bia.or.th/

logoline