svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

เปิดสมุดปกขาวแก้ปัญหา"ความยากจน"ผ่านมุมมอง "นพ.อำพล จินดาวัฒนะ"

03 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"วุฒิสภา"ระดมความเห็นออกแบบแนวทางแก้ไข"ปัญหาความยากจน" หนึ่งในผู้เสนอความเห็นที่น่าสนใจนั่นคือ "นพ.อำพล จินดาวัฒนะ" รองประธานกมธ.แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ติดตามได้จากเจาะประเด็นโดย "พลเดช ปิ่นประทีป"

 

ส.ว.นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เคยทำหน้าที่รองประธานกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ เป็นผู้คิดริเริ่มให้จัดทำชุดข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลในรูปแบบสมุดปกขาว  ต่อไปนี้คือผลึกความคิดของท่าน
 
 

ความเหลื่อมล้ำ

 

เหลื่อมล้ำตามธรรมชาติ ทุกอย่างไม่มีอะไรเท่ากัน มันเป็นอย่างนั้นเอง เช่น คนที่สูงต่ำ ดำขาว คนที่มี genetic ที่แตกต่างกัน คนที่เกิดในที่ที่แตกต่างกัน แต่สังคมมนุษย์ทำให้ดีได้มากกว่าปล่อยตามมีตามเกิด

 

ต้นทุนของชีวิตที่แตกต่าง ตัวคน ครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศหรือภูมิภาคที่เขาอยู่ ทำให้เกิดแตกต่าง มุมหนึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำ อีกมุมหนึ่งกลายเป็นโอกาส

 

ระบบ โครงสร้างและวิธีคิดของสังคม เป็นบริบทหรือสิ่งแวดล้อมหรือนิเวศ ที่มนุษย์และสังคมสามารถทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำได้ มากกว่าปล่อยให้เป็นไปตามมีตามเกิด

 

ยกตัวอย่างเด็ก "13 ชีวิตติดถ้ำ" มีอยู่คนหนึ่งที่พูดภาษาอังกฤษได้ ขณะนี้เรียนอยู่ที่อเมริกา ต่อไปคนนี้เขาจะไม่ใช่คนเดิมสมัยที่อยู่รุ่นพ่อแม่ มีผู้นำท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยได้รับโอกาสไปเรียนหนังสือต่างประเทศ ตอนนี้กลับมาเป็นผู้นำชุมชน ชีวิตดีขึ้นมาก ชุมชนก็ดีขึ้นด้วย

 

ความยากจน

จนเงิน จนทรัพยากร อันนี้กลุ่มเดียวกันเลย เช่น มีเงินก็มีที่ดินได้ ทรัพยากร เงิน ทองคำหรืออะไรก็แล้วแต่ 

 

จนความรู้ จนปัญญา อันนี้เป็นต้นทุนที่สำคัญมาก ที่จะทำให้ออกจากความยากจน ความเหลื่อมล้ำ 


จนโอกาส จนอำนาจ  จนโอกาสก็ไม่มีอำนาจให้เลือก อยู่แม่ฮ่องสอน จนโอกาสที่จะเรียนวชิราวุธ เรียนเตรียมอุดม ก็ต้องเรียนอยู่แถวนั้น ยิ่งถ้าขาดฐานทุนอื่นอีก ก็หมดสิทธิ์เลือก  

 

ในคู่ของความจน อีกด้านหนึ่งคือความร่ำรวย ใครที่มีโอกาส มีเงิน ทรัพยากร ความรู้ ปัญญา โอกาสและอำนาจก็ยิ่งได้ยิ่งหนีห่างออกไป แก้จนลดความเหลื่อมล้ำต้องคิดใหญ่คิดเชิงโครงสร้าง


 แนวทางแก้ปัญหา 7 ข้อ

 

ข้อแรก การศึกษา แก้จนความรู้ จนปัญญา  

 

ขณะนี้การศึกษาเราเป็นอะไรที่เป็น "ฝีแตก" มาก ประเทศไทยเราแย่อยู่จนทุกวันนี้ การศึกษาทำลาย ไม่ได้ทำให้คนไทยเราฉลาดพอที่จะคิดอ่านทำอะไร การศึกษาต้องหวังผลในระยะยาว สอนให้คนคิดเป็นทำเป็น ได้ปัญญา


ให้ตังค์เท่าไรก็แก้จนลดเหลื่อมล้ำไม่ได้  เพราะโง่เกินไป ยังจนปัญญา มีคนมาล่อเอาเงินไปหมด คนที่เคยถูกรางวัลที่หนึ่ง วันนี้ไม่มีอะไรเหลือเลย เพราะซื้อที่ ปลูกบ้าน ญาติมาเยอะแยะ ซื้อรถซื้ออะไรก็หมดแล้ว 


 
ข้อสอง ชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานรากของการแก้ปัญหา

 

เพื่อให้มีพลังรวมหมู่ของชุมชน เราทำกันมานาน ปัจเจกตัวใครตัวมัน ไม่มีแรงพอที่จะแก้จนลดความเหลื่อมล้ำ  เราไปดูระบบบาดาลน้ำตื้นพลังแสงอาทิตย์ ที่ขอนแก่น อ. ภูเวียง หมู่บ้านนี้เจาะบาดาล ขึ้นแผงโซล่าเซลล์ ทำการเกษตรได้ทั้งปี  ดีจริงๆ คนยิ้มแย้มแจ่มใส เขาบอกว่าอยู่กรุงเทพฯติดหนี้ติดสินเยอะแยะ กลับบ้านแล้วทำได้ดี นี่คือ"ชุมชนเป็นฐาน"

 

ข้อสาม สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างจริงจังทั้งสังคม 

 

ต้องให้ความสำคัญกับการจัดกระบวนการเรียนรู้  อาจารย์หมอประเวศ วะสี ท่านใช้คำว่ากระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ อันนี้ไม่ล้าสมัย แต่คนยังไม่ค่อยเข้าใจ 


ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการแลกเปลี่ยน มีงบประมาณในลักษณะที่ให้ศึกษาดูงานอย่างมีการจัดการ ไปดูนั่นดูนี่ เรียนรู้จากสิ่งที่เป็นความจริง แล้วคิดได้เอง เกิดปัญญา เห็นเขาคิดเขาทำได้ ไม่ใช่สอน เป็นกระบวนการเรียนรู้ 

 

ข้อสี่ เรื่องทรัพยากรการผลิต  

 

หนีไม่พ้นเรื่องที่ดินกับน้ำ ถ้าเราไปเติมแต่เรื่องปัจจัยการผลิตแล้วไม่เติมให้มีกระบวนการเรียนรู้พัฒนาสมอง การศึกษาไม่ดี ปัญญาไม่พอ ให้มาก็ขายไปหมด แม้แต่จะบอกว่าขายไม่ได้ ก็ยังมีวิธีขายกันจนได้ 
โครงการ คทช.ก็พึงระวัง และต้องไม่ลืมกระบวนการชุมชน ถ้าไม่ไปจุดนั้น แก้ยังไงก็ไม่หมด ยิ่งแก้ยิ่งจน ได้เงินได้ที่ดินได้น้ำแล้วเกิดความขัดแย้ง ไม่เกิดปัญญา 

 

ข้อห้า แก้จนมุ่งเป้าพลัส(+) 

 

การแก้จนมุ่งเป้าเป็นการช่วยคนที่จะจมน้ำ ไม่เหวี่ยงแห ไม่ใช้หลักถ้วนหน้าแบบสวัสดิการทั่วไป แก้ยากจนเราไม่มีทรัพยากรมากพอจึงต้องมุ่งเป้า 

 

เมืองจีน เขาไปช่วยคนยากจนที่ห่างไกล ไม่ได้ช่วยแบบมาตรการเดี่ยวๆ ต้องเสริมทั้งเรื่องการศึกษา เรื่องโอกาส เรื่องอาชีพไปด้วยกัน ขณะนี้เรามี TPMAP ลงไปในพื้นที่บอกได้เลยว่าที่ไหน เป็นใคร แต่ยังไม่ไปกับขบวนการชุมชน กระบวนการเรียนรู้ไม่ไปด้วย เพราะว่าวิธีการวางงบประมาณแยกส่วนกัน 


 
ข้อหก ต้องคิดแบบองค์รวม 

 

ต้องคิดทุกมิติ ถามว่ามีกี่มิติ อาจแบ่งออกเป็น 8 มิติบ้าง 6 มิติบ้าง อย่าไปคิดมิติเงินอย่างเดียว ต้องคิดมิติอื่นด้วย มิติเรื่องของสวัสดิการ มิติเรื่องการมีส่วนร่วม เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการศึกษา เรื่องสุขภาพอะไรต่าง ๆ หมายความว่าหน่วยงานที่จะแก้จนต้องทุกกระทรวง 

 

ข้อเจ็ด กลไกแบบพหุภาคี องค์กรสมรรถนะสูง  

 

สุดท้ายจะสำเร็จได้ ต้องมีกลไกขับเคลื่อนแบบพหุภาคี เอาภาคนโยบาย (การเมือง) ภาคราชการ งบประมาณ แล้วต้องมีภาคสังคมและภาคความรู้เข้ามาร่วม ไม่ใช่แค่หน่วยงานระดับกอง อยู่ในสภาพัฒน์ 

 

ต้องออกแบบให้เป็นองค์กรสมรรถนะสูง ไม่มีโอเปอเรชั่นเอง แต่ทำหน้าที่ประสานนโยบาย ประสานสังคม ประสานความรู้กับเพื่อน 

logoline