svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"พลวัตการแก้จน" ทางออกแก้ปัญหาสังคม ผ่านมุมมองสภาสูง "อภิชาติ โตดิลกเวชช์"

27 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สัปดาห์นี้ เจาะลึกมุมมอง"อภิชาติ โตดิลกเวชช์" รองปธ.กมธ.แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ต่อการหาทางแก้ปัญหา"ความยากจน" ในหัวข้อ "พลวัตการแก้จน" ติดตามได้ในเจาะประเด็น โดย "พลเดช ปิ่นประทีป"

 

"ส.ว.อภิชาติ โตดิลกเวชช์" รองประธานกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ในอดีตที่เคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่และพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งเป็น"อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน"  จากการสัมภาษณ์เจาะลึก ท่านได้ให้มุมมองที่น่าสนใจ

 

ท่านมองว่า ให้คนจนแก้จนจะไม่สำเร็จ เพราะตัวเองยังเอาไม่รอด  คนที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ คือรัฐบาลกับคนที่แข็งแรง นอกจากนั้นที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่ปัญหาความยากจนไม่ได้เกิดจากชาวบ้าน แต่เกิดจากนโยบายรัฐ  

 

อภิชาติ โตดิลกเวชช์" รองประธานกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ในอดีตที่เคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่และพระนครศรีอยุธยา

 

งบประมาณไม่กระจาย โครงสร้างที่จำเป็นไม่ถูกแก้ไข

 

งานวิจัยย้อนหลัง 13 ปี ( 2552 – 2565)  จำแนกตามภารกิจและพื้นที่ดำเนินงาน แบ่งงบประมาณออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มที่ 1 ลงทำในพื้นที่ กทม. รวมร้อยละ 31.0 (9.1 ล้านล้าน ใน 13 ปี)   กลุ่มที่ 2 ลงที่ส่วนกลาง คือหน่วยงานต่าง ๆ ร้อยละ 50.2 (11.5 ล้านล้าน)  กลุ่มที่ 3 งบที่ลงภูมิภาคโดยตรง ร้อยละ 18.58 (5 ล้านล้าน)  โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการแก้จนจึงไม่ถูกแก้ไข เช่นเรื่องแหล่งน้ำ มีกรมที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ 5 กรม งบแหล่งน้ำขนาดเล็กได้เพียง 1 ส่วน ในขณะที่ขนาดกลางและขนาดใหญ่ได้ไป 7 ส่วน

 

นี่คือคำตอบว่า ทำไมเมืองต่างจังหวัดไม่โต ชาวบ้านยากจนแก้ปัญหาไม่ได้สักที 

 

ราชการเป็นอุปสรรค เมืองเล็กถูกละเลย

 

ระบบบริหารราชการเป็นตัวอุปสรรคขัดขวางการแก้ปัญหาความยากจนเสียเอง ทำงานข้ามกรมไม่ได้ แม้ในกรมเดียวกัน ข้ามหน่วยข้ามสำนักกันก็ไม่ได้  เฉพาะเรื่องแหล่งน้ำ มีส่วนราชการระดับกรมดูแล 38 หน่วยงาน ท่านนายกรัฐมนตรีคงทนไม่ไหว จึงตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน
 

ในด้านเมืองภูมิภาค ปัจจุบันมี 12 เมืองหลักและก็เป็นอยู่อย่างนั้น การเติบโตของเมืองและระบบเศรษฐกิจที่อื่นไม่เกิด เมืองเล็กก็เล็กตลอดไป นโยบายเมืองชายแดนและเขตเศรษฐกิจพิเศษช่วยได้น้อยมาก ถ้าเมืองไม่โตขึ้น ระบบเศรษฐกิจก็ขาด แม่ฮ่องสอน กาฬสินธุ์ จึงจมอยู่อย่างนั้น พื้นที่ปัญหาไม่ถูกแก้ไข


 
อภิชาติ โตดิลกเวชช์" รองประธานกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน

 

Supply chain ไม่สมดุล 


ประเทศเราเป็นระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม งานวิจัยของ สกว. ปี 2561 ศึกษาเรื่องการกระจายรายได้ใน Supply chain ต้นน้ำคือผู้ผลิต  ตรงกลางน้ำมีผู้เล่นอยู่ 10 ประเภท ทำหน้าที่หลากหลาย รวบรวมสินค้า คนกลาง นักแปรรูป เป็นต้น  ส่วนตรงปลายคือผู้ซื้อ    

 

ตัวอย่างสินค้ามูลค่า 100 บาท กลุ่มที่หนึ่ง ผู้ผลิต ได้ส่วนแบ่งมาเพียง 2-5%เท่านั้น  ส่วนที่เหลือตกเป็นของคนรวบรวมสินค้า คนกลาง นักแปรรูป นักขาย ซึ่งได้มากถึง 95%  ถ้าระบบกระจายรายได้ยังไม่ถูกแก้ไข ชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากไม่มีทางเติบโต คนไม่พ้นความยากจน เพราะระบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก


ชุมชนเข้มแข็งกระจุกตัว ขาดสวัสดิการกลุ่มเฉพาะ

 

เรื่องนี้"กรมการพัฒนาชุมชน"ทำมานานหลายสิบปีแล้ว มีการสร้างเครือข่าย มีหมู่บ้านแม่ข่าย ลูกข่าย และแกนนำ ระดับแม่ข่าย คือ กลุ่มชุมชนที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่งของประเทศ มีประมาณ 10%  ระดับแกนนำ คือ กลุ่มชุมชนที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับภาคกับระดับจังหวัด  มีประมาณ 30%  และ ระดับชุมชนลูกข่าย มีประมาณ 60% คือ ยังไม่เข้มแข็ง ไม่มีระบบเศรษฐกิจย่อย ไม่มีกำลังที่จะช่วยตัวเอง ขาดการสนับสนุนต่อเนื่อง  

 

ด้านระบบสวัสดิการรัฐ ปี 2560 มีสวัสดิการสังคมโดยรัฐจำนวน 44 ประเภท ปัจจุบัน(2564)  มี 71 ประเภท เพิ่มขึ้นมาเกือบเท่าตัว  ข้อมูลระหว่างปี 2563 - 2565 งบประมาณรายจ่ายเพื่อการคุ้มครองทางด้านสังคม รวม 7.5 แสนล้าน เป็นงบทางด้านสวัสดิการ 5 แสนล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 2 แสนล้าน) 

 

สิ่งที่น่าหนักใจ คือปัญหาความซ้ำซ้อน ยกตัวอย่างครอบครัวหนึ่งมีผู้สูงอายุ มีผู้พิการ มีแม่ มีลูก 3 ขวบ ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐทุกคน บ้านทรุดโทรมก็ได้อีก งบ ๒ แสนล้าน ถ้าจัดการเรื่องความซ้ำซ้อนได้ ก็จะเงินเหลือกลับมาอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท สามารถนำไปช่วยเหลือคนที่ยากจนตัวจริงได้ โดยที่ไม่ต้องเพิ่มงบประมาณรัฐ  

 

พลวัตการจัดการปัญหาความยากจน


หลักคิด คือ ความยากจนมีสถานะที่ไม่ตายตัว แต่เป็นพลวัต (Dynamic) คนที่พ้นยากจนมาแล้วอาจจะกลับไปจนอีก หรือคนรวยเกิดบริหารผิดพลาดในชีวิตอาจจะตกลงไปเป็นคนจน 

 

กลุ่มที่ 1 เรียกว่า STOCK  คนจนจำนวนหนึ่ง ครัวเรือนหรือบุคคล เข้าข่ายที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แก้ไขปัญหาด้วยตนเองไม่ได้ ซึ่งรวมถึงผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ต้องพึ่งพิงทั้งหลาย

 

กลุ่มที่ 2 เรียกว่า FLOW  คือกลุ่มที่สถานะยังไม่หยุดนิ่ง เป็นครัวเรือนและชุมชนที่คาบเส้น งานและรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากระบบเศรษฐกิจเมืองรองในละแวกนั้นยังไม่เกิด เศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นยังไม่ดี จะปกป้องคุ้มกันคนจนในกลุ่มนี้อย่างไร 

 

กลุ่มที่ 3 เรียกว่า SYSTEM TRANSFORMATION คืองานพัฒนา ต้องสร้างระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นที่แข็งแรง ตรงกับที่ World Bank ชี้เรื่องเศรษฐกิจเมืองรอง สร้างงานสร้างรายได้ในชุมชนท้องถิ่นของเขา 

 

กลุ่มผลประโยชน์ สร้างเศรษฐกิจเมืองเล็ก

 

จังหวัดไหนที่มีสมาคมท่องเที่ยว ชมรมธนาคาร หอการค้า สภาอุตสาหกรรม จะเกิดกลุ่มดูแลผลประโยชน์ขยายตัวไปเรื่อย เช่นที่สมุทรสาคร มีสมาคมแช่เยือกแข็ง สมาคมประมง สมาคมพันท้ายนรสิงห์ สมาคมท่องเที่ยว  สมาคมมาราธอน สมาคมช่างตัดเสื้อแห่งประเทศไทยฯลฯ เต็มไปหมด เศรษฐกิจเมืองจึงแข็งแรง. 

 

ในขณะเดียวกัน การรวมกลุ่มของวิสาหกิจชุมชนทำมา 20 ปีมาแล้ว มีวิสาหกิจชุมชน 86,000 แห่ง มี 50,000 แห่งที่จดทะเบียนโดยไม่มีกิจกรรม ส่วนที่เหลือเองก็มีเพียง 520 แห่งเท่านั้นที่สามารถจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้

 

logoline