svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ตรวจแถวการเมือง

จุดกำเนิดและจุดจบ"พรรคทหาร" การเมืองหลัง"เอเปค" โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

14 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม้"พรรคทหาร"ทุกยุคล้วนมี "จุดกำเนิด" ไม่แตกต่างกัน แต่พรรคทหารในประวัติศาสตร์การเมืองมี "จุดจบ" ติดตามเจาะประเด็นได้ โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

 

ข่าวการเมืองไทยในวันต้อนรับการจัด"ประชุมเอเปค"ดูจะไม่สดใสนัก
ไม่เพียงแต่จะมีข่าวลือนานับประการเกี่ยวกับอนาคตของอดีตผู้นำรัฐประหาร ที่วันนี้เป็นแกนรัฐบาลเท่านั้นหากยังมีเรื่องของพรรคทหารที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการขึ้นสู่อำนาจของผู้นำรัฐประหารหลังการเลือกตั้งอีกด้วย

 

คำถามเรื่องอนาคตของพรรคทหาร และอนาคตของ"ผู้นำรัฐประหาร" ที่ดำรงตำแหน่งเป็นแกนอำนาจรัฐ จึงเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้

 

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แถลงยึดอำนาจ

 

หากย้อนกลับไปสู่การเปลี่ยนอำนาจหลังรัฐประหาร 2557 จะเห็นได้ว่าปัญหาสำคัญคือการ "การฟอกตัว"เพื่อการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของผู้นำทหารซึ่งจำเป็นต้องสร้างองค์กรทางการเมืองในระบบรัฐสภาเพื่อปูทางไปสู่การเป็นรัฐบาลอีกครั้งหลังการเลือกตั้งในต้นปี 2562

 

ฉะนั้น"พรรคพลังประชารัฐ"ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็น "พรรคทหาร"และใช้เป็นฐานรองรับการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองของกลุ่มผู้นำรัฐประหารเดิม เช่นที่พรรคทหารของบรรดานักรัฐประหารเคยทำหน้าที่เช่นนี้มาแล้วในอดีต

 

เราคงต้องยอมรับความจริงว่า การจัดตั้งพรรคการเมืองของผู้นำรัฐประหารไทยกลายเป็น"มรดกทางความคิดเก่า" ที่ใช้กันมาทุกครั้งในการเตรียมการเลือกตั้ง

 

พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกฯและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

 

"พรรคทหาร"จึงไม่เพียงเป็นกลไกของผู้นำรัฐประหารที่จะใช้ในการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตนเองเท่านั้น แต่ยังใช้เพื่อการสร้างความชอบธรรมสำหรับระบอบใหม่ที่ผู้นำรัฐประหารจะเปลี่ยนจาก"รัฐบาลทหารแบบยึดอำนาจ" ไปสู่ภาพใหม่ของการเป็น "รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง"

 

ฉะนั้น แม้รัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้นหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเสมือนกับการมี "รัฐบาลเลือกตั้ง" ในการเมืองไทย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระบอบหลังการเลือกตั้งในต้นปี 2562 ยังคงเป็นรัฐบาลที่อยู่ภายใต้อำนาจของผู้นำรัฐประหารเดิม ทั้งในเชิงตัวบุคคลและนโยบาย และเป็นการเลือกภายใต้กฎกติกาที่ถูกกำหนดโดยคณะรัฐประหาร



เราอาจกล่าวเป็นข้อสังเกตได้ว่า แม้พรรคทหารทุกยุคล้วนมี "จุดกำเนิด" ไม่แตกต่างกัน แต่พรรคทหารในประวัติศาสตร์การเมืองมี "จุดจบ" ใน 3 ลักษณะ คือ พรรคทหาร "หมดสภาพ" อันเป็นผลจากความขัดแย้งของผู้นำทหารที่มีสถานะเป็นแกนนำของพรรค ความขัดแย้งนี้นำไปสู่การรัฐประหาร และพรรคทหารที่ถูกสร้างขึ้นจึงหมดสภาพไป เช่น  กรณีพรรคมนังคศิลาของจอมพล ป.

 

จุดกำเนิดและจุดจบ"พรรคทหาร" การเมืองหลัง"เอเปค"  โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

 

พรรคทหาร "หมดภารกิจ" ซึ่งผู้นำทหารเดิมที่เข้าสู่การเมืองในระบบรัฐสภากลับตัดสินใจยุติบทบาทของการเมืองในระบบนี้ด้วยการยึดอำนาจ เช่น พรรคชาติสังคมของจอมพลสฤษดิ์ และ พรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม

 

พรรคทหาร "หมดอายุ" เป็นผลจากการที่รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้งเผชิญกับการชุมนุมต่อต้านของประชาชนและถูกกดดันจนรัฐบาลดังกล่าวล่มสลาย และพรรคทหารที่รองรับรัฐบาลก็สิ้นอายุขัยตามไป
เช่น กรณีของพรรคสามัคคีธรรม

 

ดังนั้น วันนี้จึงน่าสนใจว่าพรรคทหารอย่างพรรคพลังประชารัฐจะประสบชะตากรรมแบบใด เนื่องจากข่าวที่ออกมาอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา "เอกภาพ" ของแกนนำทหารที่เป็น"ศูนย์กลางอำนาจ" ของพรรคอย่างชัดเจน

 

ขณะเดียวกัน ปัญหา "เอกภาพ"ของพรรคทหารเองก็มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหา "กบฏร้อยเอก" อีกทั้งมีความพยายามที่จัดตั้ง"พรรคซ้อนพรรค" ในพรรคพลังประชารัฐมาโดยตลอด  ปัญหา "สองเอกภาพ" คือ เอกภาพของผู้นำทหาร ที่เป็นแกนพรรคและเอกภาพภายในพรรคเองดูจะเป็นสัญญาณของภาวะ "ถดถอย" ของพรรคทหารในยุคปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเจน

 

นอกจากนี้ ผู้นำรัฐประหารที่ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลเองก็ประสบปัญหาอีกแบบ คือ ภาวะ "ถดถอย"ของความน่าเชื่อถือทางการเมืองที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏจากตัวเลขของโพล คงต้องยอมรับว่า
เสียงของรัฐบาลในเวทีสาธารณะตกต่ำลงอย่างมาก

 

ในอีกด้าน รัฐบาลในความรู้สึกของประชาชนก็ "ถดถอย" จากการไม่มี "จุดขาย" ในการนำเสนอความสำเร็จเชิงนโยบายให้แก่สังคม ผู้นำทหารมีจุดขายเพียง "ประชานิยมแบบชิงโชค" ซึ่งนโยบายดังกล่าวดูจะไม่สามารถแบกรับสถานการณ์จริงของวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตสงครามยูเครนและวิกฤตโรคระบาดที่ยังไม่จบ แม้จะมีความหวังจากความสำเร็จของงานเอเปคที่กรุงเทพ

 

แต่ความสำเร็จดังกล่าวดูจะห่างไกล และอาจจะไม่ใช่ "ตัวช่วย" ที่เป็นจริงในปัจจุบัน อันทำให้ปัญหา "สองถดถอย" ที่กำลังเกิดกับรัฐบาลและตัวผู้นำรัฐบาลส่งผลกระทบกับอนาคตของพรรคทหารปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าการยุบสภาจะเกิดขึ้นเมื่อใดก็ตาม

 

ดังนั้น ปัญหาสองเอกภาพของพรรครัฐบาล ที่เกิดคู่ขนานกับปัญหาสองถดถอยของรัฐบาล คือ สัญญาณการเมืองไทยของยุคหลังเอเปค และผลกระทบจะมีมากขึ้นเมื่อการประชุมเอเปคสิ้นสุดลง!

logoline