svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

การขึ้นมา"ซูแน็ก" จุดประกายสามเหลี่ยมมหาอำนาจ โดย ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น

28 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ริชี ซูแน็ก"ก้าวขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ท่ามกลางการจับตามอง จุดประกายสามเหลี่ยมมหาอำนาจโอบล้อมรัสเซีย-จีน" ติดตามเจาะประเด็น โดย "ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น"  นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

 

การขึ้นมาครอบครองเก้าอี้"นายกรัฐมนตรี"แห่งเกาะอังกฤษของ"นายริชี ซูแน็ก" นายกรัฐมนตรีป้ายแดงพรรคอนุรักษ์นิยม ต่อจาก นางลิซ ทรัสส์ ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นคนอังกฤษเชื้อสายอินเดียคนแรกที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของชาติมหาอำนาจเก่าแก่อย่างอังกฤษที่ก่อนหน้านี้เต็มไปด้วยบรรยากาศการถือความเป็นชาตินิยมแห่งเมืองผู้ดีอังกฤษผิวขาว การเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดของอังกฤษวัย 42 ปี การขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่ชั่วโมงบินในฐานะนักการเมืองสั้นที่สุดเพียงเจ็ดปี เป็นต้น

 

แต่ไม่ว่าจะทำลายสถิติใด ๆ ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือการก้าวขึ้นมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของอังกฤษท่ามกลางมรสุมทางเศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะซบเซาที่สุดตั้งแต่หลังจบสงครามโลกครั้งที่สอง อันเนื่องมาจากวิกฤตต่อเนื่องจากภาวะการแพร่ระบาดของโควิดซึ่งเกือบยุติลงแล้ว แต่กลับมาซ้ำเติมจากวิกฤตด้านความมั่นคงจากสงครามรัสเซียบุกยูเครนที่ยืดเยื้อยาวนาน และที่น่าหวั่นวิตกคือความสุ่มเสี่ยงที่อาจจะขยายเป็นสงครามที่กว้างกว่าเฉพาะพื้นที่ยูเครนอันเนื่องจากการที่นาโต้เป็นผู้สนับสนุนหลักของฝ่ายยูเครนในปัจจุบัน

 

ในฐานะที่อังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำของนาโต้ที่สนับสนุนยูเครนอย่างออกนอกหน้า จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ประเด็นความมั่นคงระหว่างประเทศจะเป็นอีกบทบาทหลักสำคัญที่ซูนัคในฐานะนายกรัฐมนตรีใหม่ของอังกฤษต้องร่วมแก้ไขปัญหา เพื่อตัดวงจรเศรษฐกิจที่ซบเซาอันเกิดจากผลแห่งสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อยาวนาน อีกทั้งความสุ่มเสี่ยงด้านเสถียรภาพความมั่นคงที่กำลังเกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่งอย่างกรณีความขัดแย้งระหว่างจีน-ไตัหวันที่อาจซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจโลกให้ซบเซาลง

 

การขึ้นมาของนายกรัฐมนตรีอังกฤษเชื้อสายอินเดีย จึงทำให้เกมความมั่นคงระหว่างประเทศสามารถเกิดทางเลือกกว้างขึ้นของฝ่ายพันธมิตรใหม่ที่จะตีกรอบอิทธิพลรัสเซีย-จีนในเวทีโลก โดยอาศัยสัมพันธภาพทางเชื้อชาติเดียวกันเชื่อมโยงกันได้ง่ายขึ้นด้านความร่วมมือ วิธีคิด ความเข้าใจ บริบททางวัฒนธรรมความเชื่อ ผูกโยงกันระหว่างผู้นำหลักของชาติมหาอำนาจที่ได้รับผลกระทบจากรัสเซียและจีน ในลักษณะของ "Indian connection triangle" หรือ "สามเหลี่ยมความร่วมมือบนฐานเชื้อชาติเดียวกัน" อันประกอบด้วยการเชื่อมโยงของผู้นำฝั่งอังกฤษ-อเมริกา-อินเดีย ที่มีสายสัมพันธ์ทางเชื้อชาติเดียวกัน (Indian connection) ระหว่าง "ซูแน็ก" ในฐานะนายกรัฐมนตรีอังกฤษ "นางกมลา แฮร์ริส ในฐานะรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และนายนเรนทรา โมที ในฐานะนายกรัฐมนตรีอินเดีย ผู้นำทั้งสามคนมีสายเลือดอินเดีย เพื่อสร้างสามเหลี่ยมความมั่นคงระหว่างชาติมหาอำนาจสามทิศสำหรับตีกรอบโอบล้อมอิทธิพลของรัสเซียและจีน ได้แก่ อังกฤษโอบล้อมฝั่งตะวันตกของรัสเซียและครอบคลุมมหาสมุทรแอตแลนติค สหรัฐอเมริกาโอบล้อมฝั่งตะวันออกของรัสเซีย-จีนและครอบคลุมมหาสมุทรแปซิฟิค ตลอดจนอินเดียโอบล้อมทางด้านใต้ของจีนซึ่งครอบคลุมมหาสมุทรอินเดีย ครบทุกทิศและน่านน้ำใหญ่สำคัญของโลกสามคาบสมุทร 

 

ดังนั้น การก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษของ"ซูแน็ก" จึงไม่เพียงเป็นการแหวกม่านประเพณีทางการเมืองเกี่ยวกับเชื้อชาติของผู้เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษเท่านั้น แต่ในแง่การเมืองระหว่างประเทศ อาจสร้างปรากฏการณ์การเชื่อมโยงทางเชื้อชาติเพื่อนำสู่การเชื่อมโยงทางอำนาจการเมืองใหม่ระหว่างมหาอำนาจสามชาติใหญ่ ในความพยายามที่จะวาดแผนที่ความมั่นคงระหว่างประเทศใหม่เพื่อตีโอบล้อมอิทธิพลของรัสเซียและจีน ตลอดจนการกำหนดทิศทางเสถียรภาพความมั่นคงโลกยุคใหม่ก็อาจเป็นได้

logoline