svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"เอเปค"ในความฝันที่ลางเลือน! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

26 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภาพการประชุม"เอเปค"ในสายตาของนายกรัฐมนตรี ดูกำลังเลือนลางไปเรื่อย ๆ เหตุจากบทบาทของไทยในเวทีสากล ในช่วงที่ผ่านมาอาจจะต้องยอมรับว่า ค่อนข้างมีปัญหา ติดตามได้จาก "สุรชาติ บำรุงสุข"

 

รัฐบาลไทยเริ่มปล่อยโฆษณา "การประชุมเอเปค 2022" ออกสู่สาธารณะในไทยโดยการประชุมจะมีขึ้นในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน นี้การประชุมดังกล่าวไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในเวทีโลกเท่านั้นแต่ยังมีบทบาทในการโฆษณาทางการเมืองให้แก่รัฐบาลผู้จัด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นการส่งเสริมบทบาททางการเมืองของนายกรัฐมนตรีไทยโดยตรงอีกด้วย
 

การจะทำให้เกิดผลในสามส่วนนี้ได้จริง การขับเคลื่อนบทบาทของรัฐบาลไทยในเวทีโลกจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ เพราะการประชุมระหว่างประเทศแต่เพียงอย่างเดียวย่อมไม่ใช่สิ่งที่จะ "เชิดหน้าชูตา" ประเทศและรัฐบาลได้เลย

 

"เอเปค"ในความฝันที่ลางเลือน!  โดย สุรชาติ บำรุงสุข

 

หากแต่การสร้างสถานะของประเทศไทยผ่านการแสดงบทบาทของรัฐบาลในเวทีโลกต่างหากที่จะทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับของ "อารยรัฐ"ในสากล

 

แต่บทบาทของไทยในเวทีสากลในช่วงที่ผ่านมาอาจจะต้องยอมรับว่า ค่อนข้างมีปัญหา จนอาจกล่าวได้ว่าสถานะไทยในสากลที่เคยเป็น "จุดขาย" วันนี้กลับกลายเป็น "จุดด้อย"และไม่ชวนให้เวทีโลกหันมามองไทยอย่างที่เคยเป็นมา ดังเป็นที่รับรู้กันว่า

 

ประเทศในภูมิภาคที่ได้รับความสนใจทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างมากคือ อินโดนีเซียและเวียดนาม จนอดตั้งคำถามถึงสถานะของประเทศในมุมมองภูมิภาคไม่ได้ว่า ทำไมเกียรติภูมิทางการเมืองของไทยจึงตกต่ำลง และทำไมไทยจึงเป็น "ประเทศที่ไม่น่าสนใจ"

 

"เอเปค"ในความฝันที่ลางเลือน!  โดย สุรชาติ บำรุงสุข

 

สำหรับอนาคตคงต้องยอมรับในเบื้องต้นว่าการเมืองไทยที่เคยเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยหลังชัยชนะจากการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในปี 2535 มีส่วนอย่างมากต่อการสร้างสถานะของประเทศที่อยู่ใน "กระแสคลื่นประชาธิปไตยลูกที่สาม" ที่มาพร้อมกับการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็น และการสร้างประชาธิปไตยไทยถูกยกให้เป็นตัวแบบของภูมิภาค
ระบอบประชาธิปไตยไทยจึงเป็นจุดขาย และสอดรับกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่เป็น "คลื่นประชาธิปไตย"


แต่สำหรับชนชั้นนำ ผู้นำทหารสายเหยี่ยว และบรรดาผู้นำพลเรือนสายขวาจัดนั้น ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ "น่ารังเกียจ" และมีชุดความคิดหลักว่า "ไทยจะต้องไม่เป็นประชาธิปไตย" เพราะประชาธิปไตยถูกมองว่าเป็น"ภัยคุกคามทางการเมือง" ต่อสถานะและผลประโยชน์ของพวกเขา

 

นายกรัฐมนตรีของไทยจับมือ  โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

 

โดยเฉพาะประชาธิปไตยจะเปิดโอกาสให้เกิดสภาวะของ "การเมืองแบบมวลชน"ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนจากกลุ่มต่างๆ และจากชนชั้นต่างๆ ด้วย

 

ขณะเดียวกันระบอบรัฐสภาไทยเองก็มีปัญหาภายในและไม่ได้เข้มแข็งมาก ดังนั้น เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองจนนำไปสู่รัฐประหารถึง 2 ครั้งในปี 2549 และ 2557 ผลสืบเนื่องที่ชัดเจนคือ ดัชนีทางการเมืองของประเทศไทยตกต่ำลงอย่างมากอีกทั้งรัฐประหารยังบอกถึงความไร้เสถียรภาพที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

แม้การเมืองในระบบรัฐสภาอาจจะมีปัญหา แต่ความแน่นอนคือ ปัญหาจะถูกแก้โดยกระบวนการทางรัฐสภาไม่ใช่ด้วยการรัฐประหาร … การเมืองหลังรัฐประหารจึงถูกมองจากโลกภายนอกว่าเป็น
"การเมืองของความไม่แน่นอน" และเป็น "การเมืองที่ด้อยพัฒนา"

 

แม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง 2562 แต่รัฐบาลต่างประเทศและนักลงทุนระหว่างประเทศไม่ใช่คนที่ไม่มีข้อมูล จนไม่รู้ว่าเกิดอะไรในการเมืองไทย ทุกคนรู้ถึงการเป็น "รัฐบาลทหารสืบทอดอำนาจ" และรู้ดีในทางสากลว่า รัฐบาลเช่นนี้จำเป็นต้องพึ่งพารัฐมหาอำนาจภายนอกที่ไม่เป็นประชาธิปไตยให้คอยสนับสนุน

 

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับ สี จิ้นผิง  ประธานาธิบดีสาธารณารัฐประชาชนจีน

 

การต้องพึ่งพาความสนับสนุนจาก "รัฐมหาอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" ตั้งแต่รัฐประหารจนถึงการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง
ย่อมทำให้นโยบายต่างประเทศไทยหันไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐมหาอำนาจเหล่านั้น ไม่แปลกที่ "รัฐบาลทหาร2557" จนถึง "รัฐบาลทหารแปลงรูป 2562" จะถูกมองด้วยสำนวนการเมืองโลกว่า ไทย "เล่นไพ่จีน" จนนโยบายต่างประเทศของกลุ่มปีกขวาไทยมีทิศทางแบบ "เกลียดฝรั่ง-กอดจีน" อย่างชัดเจน

 

อีกทั้ง การรังเกียจประชาธิปไตยทำให้ผู้นำไทยฝ่ายขวาหลังการรัฐประหาร ทำให้เกิดความรู้สึก "ต่อต้านอเมริกัน" และต่อต้านตะวันตกไปโดยปริยาย ในอีกด้านก็เกิดความรู้สึก "ชื่นชอบจีน-ชื่นชมรัสเซีย”
ไปอย่างไม่น่าเชื่อ จนเป็นเหมือน "โลกที่กลับหัวกลับหาง"ของฝ่ายขวาไทยในปัจจุบันแตกต่างจากยุคสงครามเย็นอย่างสิ้นเชิง

 

และเป็นภาพสะท้อนของฝ่ายขวาและกลุ่มผู้มีอำนาจในสังคมที่ไม่ต้องการให้ไทยอยู่กับกระแสโลก ดังเช่นที่พวกเขาส่วนหนึ่งเคยเรียกร้องให้ "ปิดประเทศ" ด้วยการรัฐประหาร (เช่นที่ทหารเมียนมาเคยทำมาแล้ว)

 

ดังนั้น "ข้อสอบ 3 ข้อ" เฉพาะหน้าที่ทดสอบการแสดงบทบาทของรัฐบาลไทย คือ ไทยจะแสดงบทบาทอย่างไรกับปัญหาความรุนแรงที่เป็นผลจากการรัฐประหารในเมียนมา ไทยจะแสดงบทบาทเช่นไรกับปัญหาสงครามยูเครน และไทยจะนำเสนอภาพของตัวเองอย่างไรในเวทีโลก เราอาจต้องยอมรับความจริงว่า รัฐบาลไทย "สอบตก" ทั้งสามข้อ …

 

1) รัฐบาลของอดีตผู้นำรัฐประหารไทยแสดงท่าทีชัดเจนในการปกป้องรัฐบาลทหารเมียนมา มากกว่าจะแสดงบทบาททางด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม

 

2) รัฐบาลไทยตัดสินใจงดออกเสียงในญัตติว่าจะให้ผู้นำยูเครนส่งเทปมาพูดในสมัชชาสหประชาชาติหรือไม่ จนเป็นดังการขาด "จุดยืน"
ในการตัดสินใจด้านต่างประเทศ แม้ประเด็นจะไม่ซับซ้อนก็ตาม อีกทั้ง ปีกขวาไทยได้กลายเป็น"กองเชียร์สงคราม" ให้แก่รัสเซียไปแล้วอย่างไม่น่าเชื่อ

 

3) การเมืองไทยเองก็ไม่มีความแน่นอนและไม่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรหลังคำตัดสินวันที่ 30 กันยายน นี้หรือไม่ … การเมืองเช่นนี้ไม่ชวนให้ "ผู้นำโลก"มากรุงเทพอย่างแน่นอน

 

"เอเปค"ในความฝันที่ลางเลือน!  โดย สุรชาติ บำรุงสุข

 

ผลจากการแสดงบทบาทในเวทีสากลเช่นนี้ทำให้สถานะของประเทศไทยที่อยู่ในอำนาจการบริหารของผู้นำทหารที่เป็นรัฐบาลตกต่ำลงและท้าทายอย่างมากในปัจจุบันว่า การจัดประชุมที่กรุงเทพจะเป็นเพียง "เอเปคในความฝันที่ลางเลือน" หรือไม่

 

… วันนี้เห็นชัดว่า ผู้นำหลายประเทศดูจะอยากไปประชุม “จี-20” ที่อินโดนีเซีย ในวันที่ 15-16 พฤศจิกายนมากกว่าจะมา "เอเปค 2022" ในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน และการไม่ตอบรับการมาร่วมประชุมของผู้นำอเมริกัน

 

น่าจะต้องถือว่าเป็นสัญญาณถึงสถานะของไทยในเวทีสากลที่อาจต้องพิจารณาหรือว่าทั้งหมดนี้คือ ไทยกำลัง "ตกขบวนรถไฟ" สายโลกาภิวัตน์แล้วเว้นแต่กลุ่มผู้มีอำนาจและผู้นำฝ่ายขวาไทยจะแก้ตัวว่า
พวกเขาไม่ต้องการพาประเทศไทยไปกับขบวนรถไฟสายนี้อีกต่อไป !

logoline