svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

ชุมชนโบราณบ้าน"เมืองเพีย" อนาคตเมืองชุมทางบ้านไผ่ โดย พลเดช  ปิ่นประทีป

25 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เมืองเพีย"ขอนแก่น เป็นชุมชนโบราณ แต่อีกไม่นานพื้นที่แห่งนี้จะมีการพัฒนาเป็นคลังน้ำมัน วิถีชีวิตชุมชนและรากเหง้าทางประวัติศาสตร์จะได้รับการดูแลอนุรักษ์ให้เกิดความสมดุลอย่างไร ติดตามได้จาก "พลเดช ปิ่นประทีป"

 

แผ่นดินอีสานอันกว้างใหญ่ เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ ก่อนยุคประวัติศาสตร์ การค้นพบอารยธรรมบ้านเชียง 3,000ปี ที่จังหวัดอุดรธานี  ภาพเขียนสีที่ผาแต้ม โขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนั้นยังพบเมืองโบราณ 92 แห่งที่มีกำแพงเมืองและคูเมืองล้อมรอบ ปราสาทเขมร และฮูปแต้มตามถ้ำตามโบสถ์  
เมื่อรวมกับตำนานพื้นบ้าน และวรรณกรรมสินไซ(สังข์ศิลป์ชัย)

 

ยิ่งทำให้เห็นว่าแผ่นดินอีสานมีร่องรอยของอารยธรรมและวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่ยิ่งใหญ่ สืบทอดมาตลอดยุคสมัย จากทรารวดี ขอม ฟูนัน ละโว้ สุโขทัย อยุธยา จนถึงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน 

 

ที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ไม่ไกลจากแก่งละว้ามาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณ บ้านเมืองเพีย  1 ใน 122 โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร 

ชุมชนโบราณบ้าน"เมืองเพีย" อนาคตเมืองชุมทางบ้านไผ่ โดย พลเดช  ปิ่นประทีป

 

จากภาพถ่ายทางอากาศ สามารถเห็นผังเมืองเก่าบ้านเพีย ล้อมรอบด้วยคูน้ำ 1 ชั้น คันดิน 2 ชั้น มีเนินดินที่เกิดจากกระบวนการทำเกลือสินเธาว์ และในภายหลังกรมชลประทานมาขุดลอกคูเมือง จนมีขนาดกว้าง 35 เมตร ยาว 2.8 กิโลเมตร คันดินสองข้างกว้าง 9 เมตร สูง 3 เมตร 
     

 

ในทางภูมิศาสตร์ พื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลเมืองเพียเป็นที่ราบ ใช้ในการทำนา มีแหล่งดินเอียด (ดินเค็ม) ร่วมพันไร่ เคยใช้เป็นแหล่งต้มเกลือสินเธาว์สำหรับส่งส่วยและขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมปลาแดกที่นักวิชาการเรียกขาน

 
 

"ศรีศักร วัลลิโภดม" ให้ข้อสังเกตว่า แหล่งทำเกลือขนาดใหญ่มักพบอยู่ในบริเวณที่ใกล้กับชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เรื่อยมาจนขยายตัวในช่วงสมัยทวารวดี ส่วนบ่อกระถินที่บ้านไผ่นี้ก็เป็นแหล่งเกลือที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบมาแต่โบราณ ซึ่งการมีคูน้ำคันดินนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้ง 

 

ขอบคุณภาพ จากเพจ ท่องเที่ยวเมืองเพีย เยือนถิ่นแหล่งอารยธรรมโบราณ

 

"เมืองเพีย" เป็นชุมชนโบราณตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดี ซึ่งปรากฏผังเมืองรูปกลมรี เส้นผ่าศูนย์กลางราว 1.5 -2 กิโลเมตร เป็นผังเมืองที่ยังเห็นเด่นชัด มีการขุดปรับเป็นสระน้ำมีชื่อเรียกต่างๆ โดยชาวบ้านได้แก่ สระบัวใหญ่ สระน้อย สระจอก สระหิน สระขี้ลิง เป็นต้น บริเวณทั่วไปสามารถพบโบราณวัตถุ เช่น ใบเสมา แท่นฐานศิวลึงค์หินทราย ภาชนะบรรจุกระดูก แท่งหินบดยา แม่พิมพ์แหวนหรือกำไลดินเผา พระพุทธรูปปางสมาธิทำด้วยหินทราย เครื่องมือเหล็ก ตลอดไปจนถึงเครื่องประดับสำริด ลูกปัดแก้ว และหินสีที่หลากหลาย

 

ส่วน"สุจิตต์ วงษ์เทศ" มองตามประวัติการสร้างบ้านแปงเมือง บ้านเมืองเพียถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเมืองขนาดใหญ่ในภาคอีสาน ในสมัยปลายธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีอาณาบริเวณเชื่อมต่อระหว่างโคราชกับหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก 

 

การเปลี่ยนชื่อจากเดิมคือ โนนกะยอม หรือ ดอนกะยอม มาเป็นเมืองเพีย นั้นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและพัฒนาการของเมืองที่ใหญ่ขึ้น เพื่อรักษาหรืออ้างถึงชื่อดั้งเดิมเก่าแก่ที่สืบกันมาเสมอในบทผญาที่เกี่ยวกับภูมิบ้านนามเมือง เพราะที่นี่เป็น "บ้านกกบ้านเค้า ของท่านท้าวพญา" เพียเมืองแสนและเพียเมืองแพนที่สืบสายตระกูลมาจากเมืองท่ง (สุวรรณภูมิ) นครจำปาศักดิ์ และนครเวียงจันทน์ เป็นลำดับ เพราะคำว่า เพีย ในชื่อบ้านเมืองเพียนั้น เป็นตำแหน่งเจ้าเมือง ก่อนที่จะถูกลดฐานะลงเป็นตำแหน่งขุนนาง

 

ขอบคุณภาพ จากเพจ ท่องเที่ยวเมืองเพีย เยือนถิ่นแหล่งอารยธรรมโบราณ

 

กลับมาที่ความเป็นไปในยุคปัจจุบัน จากข่าวท้องถิ่นในจังหวัดขอนแก่น ระบุว่า มีนักโบราณคดีอิสระได้ทำการขุดหลุมเพื่อวางเครื่องมือในการเดินท่อน้ำมันของบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่งตามแถวถนนสายมัญจาคีรี – ขอนแก่น บริเวณบ้านเมืองเพีย หมู่ 8 ต.เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เมื่อขุดลึกลงไปประมาณ 2 เมตร ได้พบภาชนะไหโบราณบรรจุกระดูกมนุษย์ และเศษภาชนะจำนวนหนึ่ง ก่อนที่จะนำไปเก็บไว้ในสำนักศิลปากรที่ 8 จังหวัดขอนแก่น

 

พิธีวางศิลาฤกษ์คลังน้ำมันของกระทรวงพลังงาน ที่บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เป็นโครงการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีระยะทางทั้งสิ้น 342 กิโลเมตร ผ่าน 70 ตำบล 22 อำเภอ 5 จังหวัด เริ่มจากอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี มาสิ้นสุดที่อำเภอบ้านไผ่จังหวัดขอนแก่น และมีการก่อสร้างคลังน้ำมันปลายทางที่อำเภอบ้านไผ่ขนาด 140 ล้านลิตร สามารถลดปริมาณการขนส่งน้ำมันทางรถบรรทุกลงไปจำนวน 200,000 เที่ยวต่อปี คิดเป็นการประหยัดเชื้อเพลิงขนส่งลงไปได้กว่า 21 ล้านลิตร

 

ขอบคุณภาพ จากเพจ ท่องเที่ยวเมืองเพีย เยือนถิ่นแหล่งอารยธรรมโบราณ

 

ตามที่รายงานมานี้ ด้านหนึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของอำเภอบ้านไผ่ในวิสัยทัศน์การพัฒนาของภาครัฐและภาคธุรกิจ ว่าอนาคตกำลังจะกลายเป็นเมืองศูนย์กลางขนาดใหญ่และชุมทางการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางถนนและรถไฟความเร็วสูง  ซึ่งคลังน้ำมันแห่งนี้จะเกิดประโยชน์ต่อชุมชนโดยรอบและประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง 

 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง หลายฝ่ายยังอดเป็นห่วงมิได้ว่า วิถีชีวิตชุมชนและรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าของท้องถิ่นจะได้รับการดูแลอนุรักษ์ให้เกิดความสมดุลอย่างไร

logoline