svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"ยาเสพติด"กับสุญญากาศอำนาจอธิปไตย โดยผศ.ดร. ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร (ตอน 2)

19 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความคลุมเครือระหว่างสมาพันธรัฐและสหพันธรัฐในเขตปกครองพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ยังกลายเป็นจุดเริ่มต้นของคำถามว่านี่คือ การก่อรูปแบบของ "ทุนนิยมยาเสพติด" หรือไม่? ติดตามในเจาะประเด็น โดย ผศ.ดร. ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร

 

การแผ่ขยายพื้นที่"สุญญากาศของอำนาจอธิปไตย"ควบคู่ไปกับการเจริญเฟื่องฟูของธุรกิจการผลิตและการส่งออก "ยาเสพติด"ในพื้นที่ของรัฐฉานจะพบว่าคงไม่ได้มีแต่เฉพาะในเขตพื้นที่รัฐฉานภาคเหนือแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น  แต่ในพื้นที่ส่วนอื่น"รัฐฉาน"โดยเฉพาะตลอดแนวชายแดนไทยซึ่งเป็นเขตพื้นที่ที่รู้จักในนามของเขตว้าใต้ยังกลายเป็นเขตพื้นที่ที่สุญญากาศอำนาจอธิปไตยปรากฏตัวอย่างชัดเจนและกลายเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่สร้างความกังวลในฐานะของการแผ่อิทธิพลเครือข่ายของกองทัพแห่งสหรัฐว้าหรือที่รู้จักกันในนาม UWSA ซึ่งครอบครองพื้นที่แนวชายแดนไทยตั้งแต่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และกลายเป็นกลุ่มที่กองทัพเมียนมาเองก็ไม่สามารถใช้อำนาจควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ

เจ้าหน้าที่ทหาร เข้ายึดกุมยาเสพติดชายแดน
ในอีกด้านหนึ่งแม้ว่าจะมีข้อตกลงในการให้อิสระในการปกครองตนเองแต่รูปแบบการสร้างเขตปกครองในเขตพื้นที่นี้นั้น หากยกระดับการสร้างคำอธิบายจากสุญญากาศของอำนาจอธิปไตยก็จะพบว่า เมื่อกลไกของอำนาจรัฐบาลกลางไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ การให้อิสระในการเข้าถึงเขตปกครอง แม้ว่าจะไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นรูปแบบของ "สมาพันธรัฐ" หากแต่ในทางปฏิบัติแล้วการมีอิสระในการสร้างขอบเขตควบคุมทางด้านการทหารและอิสระในการดำเนินด้านการต่างประเทศ ทำให้เกิดการสร้างข้อสรุปได้อย่างตรงไปตรงมาว่านี่เขตอิทธิพลของ UWSA คือ รูปแบบการปกครองในระดับพื้นที่อย่างแท้จริงของเมียนมา ซึ่งไม่ได้เป็นตามความเข้าใจจากโลกภายนอกว่าเมียนมากำลังสร้างแนวทางการการปกครองให้เป็นแบบ "สหพันธรัฐ"

 

ความคลุมเครือระหว่างสมาพันธรัฐและสหพันธรัฐในเขตปกครองพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาดังกล่าวไม่ได้สร้างความคลุมเครือเฉพาะเจาะจงว่าระบอบการสถาปนาอำนาจอธิปไตยในเขตพื้นที่ชายแดนของเมียนมามีปัญหาเท่านั้น หากแต่ในความคลุมเครือนั้นทำให้การสร้างระบบการปกครองในพื้นที่ชายแดนดังกล่าวยังกลายเป็นจุดเริ่มต้นของคำถามว่านี่คือ การก่อรูปแบบของ "ทุนนิยมยาเสพติด"  หรือไม่?

 

"ยาเสพติด"กับสุญญากาศอำนาจอธิปไตย โดยผศ.ดร. ฐิติวุฒิ  บุญยวงศ์วิวัชร (ตอน 2)

 

กล่าวคือ ในแง่ของการพัฒนาพื้นที่ การสร้างสถานบันเทิงหลากหลายรูปแบบกลายเป็นปรากฏการณ์ต่อเนื่อง จนในยุคปัจจุบันจะพบว่าธุรกิจในลักษณะนี้เกิดขึ้นตลอดแนวชายแดน  การมีเครือข่ายนักลงทุนข้ามชาติโดยเฉพาะกลุ่มเครือข่ายทั้งจากเครือข่ายทุนจีนจากทั่วทุกสารทิศพยายามที่จะก่อให้เกิดการขยายการลงทุนสร้างเมืองใหม่ ซึ่งในแต่ละพื้นที่นั้นก็ยังถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นรูปแบบของธุรกิจสีเทา หรืออีกนัยหนึ่ง "ธุรกิจเช่าหรือซื้อที่ดินที่เป็นพื้นที่สุญญากาศอำนาจอธิปไตย"

 

กลายเป็นสินค้าที่ดึงดูดนักลงทุนและกลายเป็นกลไกหนึ่งที่สุ่มเสี่ยงที่ทำให้เงินใต้ดินหรือเงินจากยาเสพติดกลายเป็นเงินที่อยู่บนดิน หากกล่าวในภาษาทางการอาจจะเรียกว่าการฟอกเงินแต่ในทางปฏิบัติแล้ว “ปรากฏการณ์เงินลอกคราบ” อาจกลายเป็นชื่อเรียกที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ 

 

การตั้งข้อสังเกตต่อการบ่มเพาะ"ทุนนิยมยาเสพติด"ในเขตพื้นที่ชายแดนไม่ได้ให้ความสนใจเฉพาะการขยายเครือข่ายขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติแต่เพียงอย่างเดียว ในอีกด้านหนึ่งการเติบโตในธุรกิจดังกล่าวกลับกลายเป็นแรงดึงดูดให้เกิดการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะการพยายามสร้างการสกัดกั้น การขยายอิทธิพลการเติบโตของเครือข่ายทุนนิยมจีนจากประเทศตะวันตก กล่าวคือ หากกล่าวอย่างยุติธรรมแล้วเครือข่ายทุนจีนมีทั้งทุนทั่วไปและทุนที่ไม่ปกติ แต่กระแส"ทุนนิยมยาเสพติด"หรือทุนที่ไม่ปกติได้กลืนกลายการลงทุนข้ามชาติปกติให้มีภาพลักษณ์สีเทา

 

เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจเปิดปฏิบัติการกวาดล้างยาเสพติดชายแดน

 

อีกนัยหนึ่ง เกิดกระบวนการตีตราว่าทุนธุรกิจทุกรูปแบบเป็นธุรกิจที่ผิดกฎหมายมีความเกี่ยวพันกับกลุ่มเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ จนทำให้เกิดความพยายามแทรกแซงสถานการณ์ต่างๆในพื้นที่ชายแดนนับตั้งแต่การให้ความช่วยเหลือในการปราบปรามยาเสพติดหรือการพัฒนารูปแบบต่างๆ ซึ่งในทางปฏิบัติการแข่งขันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจจึงเผชิญหน้ากับการลดความน่าเชื่อถือในการลงทุนไปโดยปริยาย
    

มองในลักษณะของสถานการณ์เช่นนี้ จะพบว่า เขตพื้นที่"สุญญากาศอำนาจอธิปไตย" เองกลายเป็นการสร้างอิทธิพลและการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะการทำให้ประเด็นปัญหายาเสพติดกลายเป็นเงื่อนไขของการแข่งขัน ในพื้นที่บริเวณชายแดน ไทย-เมียน มา รวมถึงบริเวณ"สามเหลี่ยมทองคำ"

 

ผลกระทบสำคัญที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตนั่นคือ หากพิจารณาความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติดแล้ว  ยังก่อให้เกิดข้อคำถามที่สำคัญว่าหากการปราบปรามยาเสพติดหรือแม้กระทั่งการป้องกันในรูปแบบต่างๆ ผ่านกลไกการร่วมมือระหว่างประเทศจะเป็นไปด้วยความไว้วางใจของทุกประเทศด้วยหรือไม่? หากกรณียาเสพติดกำลังถูกทำให้เป็นประเด็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศจะเกิดอะไรขึ้น? ซึ่งในอดีตนั้นจะพบว่าประเด็นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงก็เคยถูกทำให้กลายเป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศมาแล้วโดยเฉพาะ การสร้างเขื่อนและระดับน้ำของแม่น้ำโขง ซึ่งกลายเป็นปัญหาคาราคาซังจนถึง ณ ปัจจุบัน 
    

ความแตกต่างประการสำคัญในการทำให้ปัญหายาเสพติดกลายเป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศและการทำให้ประเด็นแม่น้ำโขงเป็นประเด็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศนั้น ในกรณีของแม่น้ำโขงจะพบว่า เครือข่ายขบวนการที่พยายามอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมในระบอบนิเวศน์ย่อมมีความได้เปรียบในการเชิดชูความชอบธรรม หากแต่ในประเด็นของปัญหายาเสพติดกลับพบว่า เมื่อยาเสพติดถูกทำให้เป็นประเด็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศจะกลายเป็นช่องว่างทำให้เกิดแรงเสริมเพิ่มความแข็งแกร่งของพื้นที่สุญญากาศอำนาจอธิปไตย

 

กล่าวคือ พื้นที่สุญญากาศอำนาจอธิปไตยเองจึงถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่ของรัฐกันชนของประเทศมหาอำนาจ อีกทั้งการเลือกท่าทีที่ไม่ระมัดระวังในการให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของหน่วยงานรัฐในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับมหาอำนาจโขงจึงมีความสุ่มเสี่ยงต่อการเลือกฝักฝ่ายในการเมืองระหว่างประเทศอย่างยิ่ง

 

กลไกที่รู้จักกันในนามของ UNOC ที่เคยถูกตั้งความหวังว่าเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในการสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในอนุภูมิภาค แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็ยังมีข้อจำกัดหลากหลายประการในการเข้าไปสู่พื้นที่สุญญากาศของอำนาจอธิปไตย เนื่องจากการตั้งสำนักงานหรือแม้กระทั่งการเจรจากับทางการเมียนมาเองได้รับการตอบสนองน้อยมากโดยเฉพาะการสร้างกระบวนการสันติภาพที่นำประเด็นยาเสพติดเข้าไปส่วนหนึ่งของการเจรจานั้นจะพบว่าแทบไม่มีผลในทางปฏิบัติ
    

เมื่อมองให้ครบทั้ง 3 มิติ นั่นคือ

•    ในระดับท้องถิ่น การต่อสู้ระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในการขยายอิทธิพลครอบครองพื้นที่ยังดำเนินต่อไป  

•    ในระดับรัฐ กลไกของความชอบธรรมทางด้านการเมืองของรัฐบาลของเมียนมาหรือแม้แต่กระทั่งกลไกของกระบวนการสันติภาพเป็นไปอย่างล่าช้า 

•    ในระดับการเมืองระหว่างประเทศ  การแข่งขันของประเทศมหาอำนาจเป็นไปอย่างเข้มข้น

 

พลังทั้งสามด้านนี้ในเชิงยุทธศาสตร์แล้วคือพลังที่โอบอุ้มและเชิดชูให้ระบอบสุญญากาศอำนาจอธิปไตยเป็นไปอย่างสถาพรยั่งยืนจนยากที่จะสลายระบอบการปกครองที่ไม่ปรากฏรูปแบบการปกครอง อีกทั้งการขยายตัวของยาเสพติดหรือแม้แต่กระทั่งปรากฏการณ์การจับกุมยาเสพติดภายในประเทศไทยอาจเป็นเพียงปรากฏการณ์ย่อยปรากฏการณ์หนึ่งในสายพานเศรษฐกิจการเมืองของยาเสพติดที่นายทุนยังทำหน้าที่ของกลไกการผลิตอย่างแข็งแกร่ง ส่วนขุนศึกติดอาวุธก็สามารถที่ทำหน้าที่ปกป้องเครือข่ายทั้งพื้นที่และการลำเลียงได้อย่างราบรื่น 

 

เครือข่ายของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ชายแดนรวมตลอดถึงคนไทยอาจจะรับชะตากรรมเดียวกันในฐานะของผู้ถูกกดขี่ ใน"ระบบทุนนิยมยาเสพติด...และสิ่งเหล่านี้จะดำเนินต่อไปจนกว่าปัญหาสุญญากาศอำนาจอธิปไตยจะถูกมองว่าเป็น "ปัญหาคู่แฝด" ของปัญหายาเสพติดและถูกหยิบยกนำมาแก้ไขอย่างจริงจัง

 

ผศ.ดร. ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เขียน
 

logoline