svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

รัฐศาสตร์-นิติศาสตร์! หลักของการชี้ชะตา " 8 ปีนายกฯ" โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

15 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สมมติว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในทิศทางที่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี"ครบ 8 ปี" แล้วตาม "มุมมองทางรัฐศาสตร์" ถ้าเช่นนั้นจะเกิดอะไรขึ้น? ติดตามได้เจาะประเด็น โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

 

สังคมไทยวันนี้คงได้แต่คาดเดาด้วยมุมมองที่หลากหลายถึงปัญหาคำตัดสินในกรณีการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของนายกรัฐมนตรี "พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา" 

 

ที่ต้องใช้คำว่า "คาดเดา" เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ให้นายกรัฐมนตรีต้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ "ชั่วคราว" แล้ว ก็ตามมาด้วยข้อถกเถียงต่างๆ มากมายในมิติทางนิติศาสตร์ โดยเฉพาะข้อโต้แย้งจากนักนิติศาสตร์ที่เป็น "นิติกรนายก" โดยชี้ว่า ไม่ได้เริ่มต้นนับในปี 2557

 

แต่หากมองในมิติทางรัฐศาสตร์แล้ว ข้อถกแถลงอาจจะไม่ซับซ้อนด้วยภาษาทางกฎหมาย และเห็นชัดเจนว่าระยะเวลาของการเป็นนายกรัฐมนตรีควรต้องเริ่มนับเมื่อคำสั่งแรกของการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์เกิดขึ้นในวันที่ 23 สิงหาคม 2557 เนื่องจากคำสั่งนี้มีความชัดเจนในตัวเองที่ไม่ต้องการการตีความ 

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

 

สมมติว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในทิศทางที่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีแล้วตาม "มุมมองทางรัฐศาสตร์" ถ้าเช่นนั้นจะเกิดอะไรขึ้น?

 

หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นมีคำสอนอย่างชัดเจนว่า หากการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ คณะรัฐมนตรีทั้งหมดเป็นอันสิ้นสุดลงตามไปอย่างไม่มีข้อยกเว้น คำตัดสินเช่นนี้จะทำให้การดำรงตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ ต้องสิ้นสุดลงเมื่อเวลา 24:00 น ของคืนวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ซึ่งจะทำให้สถานะของคณะรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดไปด้วย

 

รัฐศาสตร์-นิติศาสตร์! หลักของการชี้ชะตา " 8 ปีนายกฯ" โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

 

และการสิ้นสุดของคณะรัฐมนตรีภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้ถือเป็น "หลักการสากล" ของการเมืองในทุกระบบ กล่าวคือ เมื่อผู้นำสูงสุดของรัฐบาลต้องสิ้นสุดความเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีก็ถือเป็นอันสิ้นสุดตามไปโดยปริยาย

 

ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว คำถามที่ตามมาอย่างแน่นอนคือ คณะรัฐมนตรีที่ดำรงอยู่ตั้งแต่วินาทีแรก (เวลา 00:01) ของวันที่ 24 สิงหาคม 2565 นั้น จะยังมีสถานะทางกฎหมายของความเป็นรัฐบาลอีกเพียงใด อันเนื่องมาจากสถานะของนายกรัฐมนตรีได้ยุติไปแล้วในทางรัฐศาสตร์ 

 

ประเด็นเช่นนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของ "รักษาการ" ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างที่เป็นข้อถกเถียง เพราะผลที่เกิดขึ้นน่าจะใหญ่กว่านั้น 

 

ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง การดำเนินการทุกอย่างของรัฐบาลจากวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่านมา จะถือเป็น "โมฆะ" ในทางกฎหมายหรือไม่ เพราะสถานะของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้สิ้นสุดลงแล้ว 

 

รัฐศาสตร์-นิติศาสตร์! หลักของการชี้ชะตา " 8 ปีนายกฯ" โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

 

ตัวอย่างเช่น บัญชีรายชื่อโยกย้ายนายตำรวจ บัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหาร ที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา จะถือว่าเป็นโมฆะตามไปด้วยหรือไม่ 

 

ประเด็นทางรัฐศาสตร์เช่นนี้เป็นคำถามที่ท้าทายอย่างยิ่ง อีกทั้งอาจจะต้องมีการประกาศย้อนหลังให้คณะรัฐมนตรีปัจจุบันเป็นรักษาการ 

 

การคิดถึงประเด็นวาระการดำรงตำแหน่ง"นายกรัฐมนตรี 8 ปี" ด้วยมุมมองของวิชา "หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้น" ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเห็นถึงการมาของ "วิกฤตการเมืองไทย"  อย่างแน่นอน เพราะทุกอย่างที่รัฐบาลทำหลัง 24 สิงหาคม จะมีประเด็นทางกฎหมายตามมา ซึ่งคงต้องอาศัย "อภินิหารทางกฎหมาย" มาช่วย 

 

แต่ถ้าเกิดขึ้นดังที่กล่าวจริง ก็มิได้มีนัยว่าการเมืองไทยมาถึง "ทางตัน" และไม่มีความจำเป็นที่ต้องอาศัยทหารมาเป็น "เทศบาล" ล้างท่อที่ตันแต่อย่างใด หากจะต้องคิดในวิถีทางรัฐศาสตร์ว่า การเมืองในระบบรัฐสภาไม่มีทางตัน เพราะหากเกิดวิกฤตการเมืองในระบบรัฐสภาแล้ว ก็ต้องยึดถือขั้นตอนของ "กระบวนการทางรัฐสภา" เป็นเครื่องมือในการตัดสิน เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ 

 

แต่สถานะของรัฐบาลหลัง 24 สิงหาคม ยังเป็นคำถามที่ต้องตอบดังประเด็นในข้างต้น 

 

คณะหลอมรวมประชาชน พยายามปลุกระดมจัดชุมนุม ต่อต้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

 

แต่เราลองคิดอีกด้านใน "มุมมองทางนิติศาสตร์" สมมติผลเกิดแบบด้านตรงกันข้าม… คำตัดสินออกมาด้วยการตีความทางกฎหมายให้นับเวลาเป็นอื่นตามที่ "นิติกรนายกฯ" นำเสนอในคำโต้แย้งดังที่ปรากฏในสื่อ โดยไม่ถือเอาคำประกาศในวันที่ 23 สิงหาคม 2557 เป็นเกณฑ์ ส่งผลให้พลเอกประยุทธ์กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งอย่างง่ายดาย

 

ในมุมมองทางรัฐศาสตร์นั้น คำตัดสินเช่นนั้นอาจจะเป็นจุดตั้งต้นของวิกฤตการเมืองในอีกแบบ กลุ่มผู้นำทหารที่มีอำนาจทางการเมืองอาจจะเชื่อว่า กลุ่มต่อต้านรัฐบาลไม่มีความเข้มแข็งมากพอจะขับเคลื่อน "ม็อบบนถนน" และแรงต่อต้านรัฐบาลยังไม่สามารถพา "คนลงถนน" ได้เป็นจำนวนมาก ทั้งไม่อาจก่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้จริง 

 

กลุ่มผู้มีอำนาจเหล่านี้เชื่อมาโดยตลอดว่าการ "จับกุมคุมขัง" ด้วยมาตรการตำรวจ และการใช้มาตรการทางกฎหมายด้วย "โทษแรง" จะสร้างให้เกิด "บรรยากาศแห่งความกลัว" ในสังคม ทำให้ "ม็อบต่อต้านรัฐบาล" ไม่มีพลัง และจบลงด้วยการอยู่ต่อในอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์อย่างปลอดภัย

 

คณะหลอมรวมประชาชน พยายามจัดชุมนุมต่อต้านนายกฯ อยู่เกิน 8 ปี

 

การประเมินสถานการณ์แบบ "โลกสวย" เช่นนี้ อาจจะช่วยให้ผู้นำที่ต้องการอยู่ในอำนาจได้สบายใจ แต่ถ้าผู้คนในสังคมไม่ตอบรับกับคำตัดสินที่ให้พลเอกประยุทธ์ได้อยู่ในอำนาจต่อ ซึ่งความไม่พอใจของประชาชนในมุมมองของวิชาจิตวิทยาการเมือง เป็นประเด็นที่ไม่อาจละเลยได้ และภัยคุกคามที่น่ากลัวที่สุดของรัฐบาล ไม่ใช่พรรคฝ่ายค้าน

 

แต่เป็นภาวะของการมองไม่เหมือนถึงความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ทางการเมืองของคนในสังคม และเดิน "ฝ่ากระแสอารมณ์" ของความไม่พอใจดังกล่าวด้วยการละเลยสิ่งเหล่านี้ โดยมีความเชื่อประการเดียวว่า รัฐบาลยังสามารถควบคุมสถานการณ์ทุกอย่างได้ไม่ต่างจากยุคหลังรัฐประหาร 2557 

 

วิธีคิดของผู้นำรัฐบาลที่ละเลยอารมณ์ทางการเมืองของประชาชนพาพวกเขาไปสู่จุดจบมานักต่อนักแล้ว จึงน่าติดตามอีกครั้งว่า คำตัดสิน "คดี 8 ปี" จะ "จบบนศาล" หรือจะ "จบบนถนน" แต่ก็หวังว่าจะ "ไม่จบบนรถถัง"!

 

และหวังว่าจะไม่มีอภินิหารทางกฎหมาย ออกมาแบบ "อารมณ์ค้าง" มีมติว่า ครบ 8 ปี แต่ไม่บอกต่อให้ทำอะไร และ พล.อ.ประยุทธ์ ได้อยู่ต่อ!

logoline