svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ตรวจแถวการเมือง

จับจังหวะ"ผู้สมัครส.ส." ดีลเว้น+ฮั้วต่างพรรค ส่งผลเช่นใดกับถนนการเมือง

13 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดฉากกันแล้วสำหรับการวางตัวผู้สมัครส.ส.ระบบเขตในการเลือกตั้งงวดหน้า เพราะคีย์แมนบางพรรคชี้ชัดว่าบางเขตจะเว้นวรรคให้บางพรรคส่ง และเรื่องนี้มันคือการฮั้วการเมืองล่วงหน้าหรือไม่...รวมทั้งเหตุใดจึงต้องดำเนินการ ติดตามได้ที่นี่

 

ฮือฮาแล้วสำหรับโอกาสเว้นวรรคกับการ"ส่งหรือไม่ส่งผู้สมัครส.ส.บางเขตของบางพรรค" โดยเรื่องนี้หลุดจาก "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐที่ยืนยันขั้นต้นไว้ที่จ.ตาก

 

"พื้นที่ไหนที่พรรคเศรษฐกิจไทยส่งเราก็ไม่ลง ไม่เป็นอะไร รวมถึงในพื้นที่ภาคเหนือด้วย"   

 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ วางบทบาทลงพื้นที่พบประชาชนอย่างถี่ยิบ

 

"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ"  รองนายกฯและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ตอบคำถามสื่อ กรณี หากส.ส.พรรคพลังประชารัฐที่ย้ายไปอยู่พรรคเศรษฐกิจไทย จะลงสมัคร ส.ส.ตาก พรรคเตรียมความพร้อมวางตัวผู้สมัครอย่างไร   เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 65 

 

ครั้นถามว่า "พรรคเศรษฐกิจไทย" จะมีแนวโน้มกลับมารวมอยู่กับ พปชรเหมือนเดิมหรือไม่ "พล.อ.ประวิตร" กล่าวว่า "ก็แล้วแต่เขา"

เมื่อถามย้ำ ไม่มีปัญหาใช่หรือไม่ หากจะขอย้ายกลับมาพรรค พปชร.เหมือนเดิม "พล.อ.ประวิตร"  กล่าวว่า "ก็แล้วแต่เขา ขอให้ถึงวันนั้นก่อน แล้วค่อยตอบสื่อ"

 

นี่คือท่าทีล่าสุดของ "บิ๊กป้อม" ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต่อกระแสข่าวลมพัดหวนของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่าและคณะ 

 

อย่างไรก็ตาม การเปิดพื้นที่ไม่ส่งผู้สมัครทับซ้อน ย่อมเกิดคำถามตามว่า  แบบนี้จะผิดกฎหมาย เป็นการ "ฮั้วเลือกตั้งล่วงหน้าหรือไม่"  โดยเฉพาะขั้วการเมืองตรงข้ามที่จะนำไปปั่นกระแสจ้องเล่นงาน

 

มีเหตุการณ์ให้เทียบเคียง โดยดูจากการเลือกตั้งคราวก่อน พรรคเพื่อไทยเว้นหลายเขตให้พรรคไทยรักษาชาติส่งแทน  หรือแม้แต่การเลือกตั้งซ่อมส.ส.หลายครั้งที่ผ่านมาเทียบเคียง  บางพรรคที่เคยส่งตอนเลือกตั้งใหญ่แต่เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมกลับไม่ส่ง

 

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางข่าวหนาหูการคืนรังพลังประชารัฐ

 

หาก"ลุงป้อม" ยืนยันข้างต้นแบบนี้  โอกาส พปชร.จะแตะ 150 ส.ส.ก็เหนื่อยขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง เพราะต้องเจียดบางเขตให้พรรคของ "ผู้กองคนดัง" ในเขตที่ลุ้นได้ (รอลุ้นว่าพรรคของผู้กองคนดังจะคัมแบ็กบ้านเก่าอีกชั้นหนึ่ง?) ขณะเดียวกันจะกลายเป็นโจทย์การเมืองแบบง่ายๆสำหรับคู่แข่งฝั่งตรงข้ามไปทันที

 

อย่างเช่น "พรรคก้าวไกล" ยืนยันส่งครบ 500 ผู้สมัครส.ส.และดันหัวหน้าพรรค"พิธา  ลิ้มเจริญรัตน์" ขึ้นชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ขณะที่ เพื่อไทย หวังยึดที่นั่งให้ได้ 250 ส.ส. สร้างปรากฎการณ์แลนด์สไลด์ ยังตั้งมั่นหลักการเดิม และพรรคอื่นๆพร้อมลงท้าชิงแต้ม  

 

พิจารณาให้จงหนัก กติกาบัตรเลือกตั้งสองใบจะเป็นตัวชี้วัด หนึ่งใบสำหรับส.ส.เขต ส่วนอีกหนึ่งใบของส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์  เป็นแนวโน้มที่พรรคใหญ่  พรรคที่มีผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อประเภท"ดี-เด่น-ดัง"ในอันดับท๊อปลิสต์น่าจะได้โอกาสเข้ารัฐสภามากกว่า

 

"กระแสนิยมพรรค-ผู้สมัครส.ส.ระบบเขต" นั้นแยกขาดจากกัน หากใช้บัตรเลือกตั้งสองใบเพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะ"เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ" กันชัดแจ้ง โดยพรรคที่ "คุ้นหูคุ้นตา" ชาวบ้านร้านตลาดได้เปรียบพรรคอื่นๆ (ต้องบวกกระแสนิยมพรรคนั้นๆในจังหวัด-ภูมิภาค นั้นๆ ประกอบไปด้วย )

 

กองเชียร์พรรคเศรษฐกิจไทย

ผลเลือกตั้งส.ส.77 จังหวัด เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2562  พบว่า 81 พรรคการเมืองส่งผู้สมัคร ส.ส.  ได้รับคะแนนเสียงรวมกัน 35,532,647 คะแนน โดยพรรคพลังประชารัฐมีฐานคะแนนสูงสุด 8.43 ล้านเสียง     พรรคเพื่อไทยได้คะแนน 7.92 ล้านเสียง และจำแนกตามปีกการเมืองได้ดังนี้ (ตัดพรรคจิ๋วคือพรรคที่ได้ส.ส.จากการปัดเศษออกไป)
พรรคที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย(ฝ่ายค้านในตอนนี้)


• พรรคเพื่อไทย 7,920,630 เสียง

• พรรคอนาคตใหม่ 6,265,950 เสียง

• พรรคเสรีรวมไทย 826,530 เสียง

• พรรคประชาชาติ 485,436 เสียง

• พรรคเพื่อชาติ 419,393 เสียง

• พรรคพลังปวงชนไทย 81,733 เสียง

 

พรรคที่ถูกเรียกว่าพรรคสืบทอดอำนาจ (ฝ่ายรัฐบาลในตอนนี้)

• พรรคพลังประชารัฐ 8,433,137 เสียง

• พรรคประชาธิปัตย์ 3,947,726 เสียง

• พรรคภูมิใจไทย 3,732,883 เสียง


• พรรคชาติไทยพัฒนา 782,031 เสียง
• พรรคเศรษฐกิจใหม่ 485,664 เสียง
• พรรครวมพลังประชาชาติไทย 416,234 เสียง
• พรรคชาติพัฒนา 252,044 เสียง
• พรรคพลังท้องถิ่นไทย 213,129 เสียง
• พรรครักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย 136,597 เสียง
• พรรคพลังชาติไทย 73,781 เสียง

 

ดังนั้น  หากส่องส.ส.ในวันนี้ของพรรคหลักๆ(จำแนกตามภูมิภาค)จะพบว่า ผลเลือกตั้งส.ส.ระบบเขตเมื่อปี 2562  พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ชนะ ส.ส.เขต มากที่สุดใน"ภาคเหนือ" คือได้ 25 ที่นั่ง จาก 33 ที่นั่ง  ที่เหลือเฉลี่ยให้พรรคอื่นๆ

 

พรรคประชาธิปัตย์เสียที่นั่งใน"ภาคใต้"(ฐานเสียงสำคัญ)ไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือชนะ ส.ส.เขต  22 ที่นั่งจาก 50ที่นั่ง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐได้ส.ส.13 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส. 8 ที่นั่ง พรรคประชาชาติได้ ส.ส. ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน 6 ที่นั่ง ส่วนอีก 1 เขตเป็นของพรรครวมพลังประชาชาติไทย

 

ส่วน"ภาคอีสาน"นั้น ปี 2562 พรรคเพื่อไทยยังครองได้เป็นส่วนใหญ่แต่ได้ส.ส. 84 ที่นั่ง ( ลดลง 11% จากปี 2554)  พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส. 16 ที่นั่ง ( จ.บุรีรัมย์เหมาครบ 8 เขต) พรรคพลังประชารัฐ ได้ส.ส. 11 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ส.ส. 2 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนาได้ ส.ส. พรรคละ 1 ที่นั่ง


"ภาคกลาง"ที่มี 121 ส.ส.นั้นพบว่า ปี 2562 พรรคพลังประชารัฐได้ส.ส. 58 ที่นั่ง (คิดเป็น 48% ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด) พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.  18 ที่นั่ง (ลดลงจากปี 2554  ร้อยละ 28) พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 15 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ได้  16 ส.ส.  พรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส. 15 ที่นั่ง  พรรคชาติพัฒนาได้ ส.ส. 5 ที่นั่ง

 

"กทม."ที่มี 30 เก้าอี้ให้ลุ้น พบว่า ปี 2562 พบว่าพรรคประชาธิปัตย์สูญพันธุ์  โดยพรรคพลังประชารัฐขึ้นมาครองอันดับ 1 ใน กทม. แทน โดยได้ 12ส.ส  ส่วนพรรคเพื่อไทยได้มา 9ที่นั่ง และพรรคอนาคตใหม่ 9 ที่นั่ง

 

ส่วน"ส.ส.บัญชีรายชื่อ"นั้น พรรคเพื่อไทยไม่ได้แม้แต่คนเดียว(ตาม กฎส.ส.พึงมี ) ในตอนนั้นกกต. ประกาศการคำนวณเพื่อหาจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ว่าพรรคที่จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อนั้นต้องได้คะแนนเสียงอย่างน้อยประมาณ 70,000 คะแนนขึ้นไป

 

กติกาดังกล่าว จึงปรากฎผลออกมาว่า "พรรคอนาคตใหม่" ได้ 50 ส.ส. พรรคพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ได้ 19 คนเท่ากัน พรรคภูมิใจไทย 12 ส.ส.พรรคเสรีรวมไทย 10 ส.ส. พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 ส.ส.พรรคเพื่อชาติ 5 ส.ส. พรรครวมพลังประชาชาติไทย  4ส.ส. พรรคชาติพัฒนา 4  ส.ส. พรรคพลังท้องถิ่นไท  3 ส.ส. พรรคชาติพัฒนาและรักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคละ  2 ส.ส.

 

ส่วนพรรคหนึ่งเสียงนั้นคือ พรรคพลังปวงชนไทย/พลังชาติไทย/ประชาภิวัฒน์/พลังไทยรักไทย/ไทยศรีวิไลย์/ประชานิยม/ครูไทยเพื่อประชาชน/ประชาธรรมไทย/ประชาชนปฏิรูป/พลเมืองไทย/ประชาธิปไตยใหม่/พลังธรรมใหม่/ไทรักธรรม

 

ฉะนั้นเมื่อสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 (คือ จำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไปหารด้วยคะแนนรวมในบัตรเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองทั่วประเทศ จนได้ตัวเลขเป็นฐานคะแนนต่อส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน แล้วนำคะแนนของแต่ละพรรค การเมืองมาดูว่า ได้คะแนนเท่าใด แล้วจึงคิดออกมาเป็นสัดส่วนของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคจะคว้าได้ในสภาฯ จนครบ 100 คน
 

ตัวอย่างการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 หากบัตรคะแนนเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ทั่วประเทศ รวมกันแล้วมีทั้งสิ้น 37,000,000 คะแนน ก็นำ 37,000,000 ไปหารด้วย 100 จะเท่ากับได้ 370,000 คะแนนต่อส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน ) ดังนั้นโอกาสพรรคจิ๋วๆในการเลือกตั้งงวดหน้าคงจะปิดฉากได้ล่วงหน้าแล้วว่า "จอดป้ายนี้"

 

ภาวะการเมืองตอนนี้อย่าลืมว่าบางพรรคกระแสขึ้น  บางพรรคกระแสลง บวกกับการเกิดขึ้นของพรรคใหม่  การย้ายพรรคของคีย์แมนการเมือง แต่หากอิงตัวเลขเมื่อปี  2562 น่าจะประเมินกันได้บ้างแล้วว่า สถานการณ์หกเดือนก่อนครบวาระสี่ปีนับจากนี้  โอกาสของพรรคใดมีมากกว่ากัน...สำหรับการได้ชัยชนะบนสนามเลือกตั้ง
 

logoline