svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

ปฎิรูปโยกย้ายทหารภาพสะท้อนจากบัญชีแต่งตั้ง"นายพล" โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

12 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชวนให้ขบคิด จากข่าวการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ตกเป็นที่สนใจบนกระแสสื่อทุกปี บางที เราอาจต้องยอมรับว่าข่าวเช่นนี้คือ หนึ่งใน "ภาพสะท้อนด้านลบ" ของการเมืองไทย ติดตามได้จากเจาะประเด็น โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

 

เมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง "ให้นายทหารรับราชการ" …

 

แล้วข่าวบัญชีรายชื่อการโยกย้ายนายทหารของกองทัพไทยก็ปรากฎเป็นข่าวในสื่อต่างๆทันที


ไม่มีปีไหนเลยที่เรื่องนี้ไม่เป็นประเด็นในสื่อ และดูจะเป็นหัวข้อข่าวที่สังคมเองส่วนหนึ่งก็ติดตามด้วยซึ่งอาจจะเป็นเพราะบทบาททางการเมืองของกองทัพเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้คนในสังคมจับตามอง

 

ข่าวโยกย้ายทหารในยามที่การเมืองอยู่ภาวะการเมืองแบบ "ลุ่มๆดอนๆ" เช่นปัจจุบันย่อมเป็นหัวข่าวของสื่ออย่างแน่นอน หรือกล่าวด้วยสำนวนของสื่อสิ่งพิมพ์ก็คงต้องบอกว่าเรื่องโยกย้ายทหารยังคงเป็น "ข่าวใหญ่หน้า 1" ของการเมืองไทยได้เสมอ

 

บางที เราอาจต้องยอมรับว่าข่าวเช่นนี้คือ หนึ่งใน "ภาพสะท้อนด้านลบ" ของการเมืองไทย เพราะหากประเทศเป็นประชาธิปไตย อย่างเช่นในประเทศประชาธิปไตยตะวันตกแล้ว เราจะไม่เห็น "หัวข่าว"
เรื่องนี้ เพราะการปรับย้ายทหารเป็นเรื่องภายในของกระทรวงกลาโหม และเป็นกระบวนการปกติของกองทัพที่นายทหารถูกปรับย้ายตำแหน่งด้วยมาตรฐานของ "เส้นทางรับราชการ" หรือประเด็นเรื่อง "career path"ในวิชาชีพทหาร

 

ซึ่งการโยกย้ายตามเส้นทางรับราชการทหารจะต้องถือเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการปฎิรูปกองทัพไทยในอนาคต เพราะการกระทำในกรอบดังกล่าวเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและป้องกันการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมภายในกองทัพ

 

นอกจากนี้ เราอาจกล่าวได้ในอีกมุมหนึ่งว่า ข่าวใหญ่เรื่องโยกย้ายทหารบนหน้าสื่อ คือภาพสะท้อนถึงสภาวะของการเมืองไทยที่ "ประชาธิปไตยและกระบวนการสร้างทหารอาชีพ" ยังคงเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการปฎิรูป อีกทั้งในอดีตที่ผ่านมา



เมื่อการเมืองตกภายใต้อำนาจของผู้นำทหารมาอย่างยาวนาน จึงทำให้เกิดข้อสังเกตว่า ถ้าต้องติดตามการเมืองไทย จึงต้องติดตามเรื่องทหารว่า ใครเป็นใครในกองทัพ… ใครอยู่รุ่นเดียวกับใครในกองทัพ… ใครมีอำนาจในกองทัพ เป็นต้น

 

แต่การต้องติดตามเรื่องเหล่านี้ก็คือ ภาพสะท้อนในทางลบที่ชัดเจนว่า กองทัพคือ "ศูนย์อำนาจ" หนึ่งที่สำคัญของการเมืองไทย แต่ถ้าเราสังเกตจากสื่อภาพ หรือสื่อกระดาษในประเทศประชาธิปไตยแล้ว
เราจะไม่เคยเห็นบัญชีโยกย้ายทหารปรากฎในรายงายของสื่อดังกล่าวแต่อย่างใด

 

ปรากฎการณ์เช่นนี้ ก็คือ ภาพสะท้อนว่ากองทัพไม่ได้มีบทบาทในการเมืองของประเทศ และสังคมการเมืองของประเทศนั้น
ก็ไม่ต้องให้ความสนใจว่า ใครจะเป็นผู้การกรม… ใครจะเป็นผู้บัญชาการกองพล… ใครจะเป็นแม่ทัพภาค… ใครจะเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเพียงกิจการภายในของกองทัพ
และไม่ใช่เรื่องที่จะต้องเป็นหัวข้อข่าวสำคัญในสื่อ

 

อีกทั้งกองทัพก็เป็นเพียงส่วนราชการหนึ่งในระบบราชการทหารของประเทศเท่านั้น สื่อต่างประเทศมักให้ความสนใจอย่างมากกับนโยบายยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ   นโยบายในการพัฒนากองทัพ เป็นต้น แต่ในประเทศด้อยพัฒนาที่กองทัพมีบทบาทอย่างมากนั้น
ข่าวการดำรงตำแหน่งของผู้นำทหารเป็นหัวข้อข่าวใหญ่เสมอ ดังนั้น
ข่าวโยกย้ายทหารจึงเป็นข่าวเพื่อบอกสังคมให้รับรู้ว่า ใครจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทหารที่จะกลายเป็น

 

"ศูนย์อำนาจใหม่" ในอนาคต เพราะบทบาทของเขาอาจจะเป็นผู้กำหนดอนาคตทางการเมืองของประเทศได้อีกด้วย  อีกทั้ง ถ้าการขึ้นสู่ตำแหน่งของนายทหารเหล่านี้ไม่มีนัยทางการเมืองแล้ว ทำไมสื่อจะต้องรายงานข่าวนี้  และในทำนองเดียวกัน ทำไมเราที่อยู่ในสังคมต้องสนใจข่าวนี้ด้วย และถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตยได้จริงแล้ว
เราคงไม่มีความจำเป็นต้อง "วิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง" ว่าใครจะมีตำแหน่งอะไรในกองทัพ… ใครมาจากรุ่นไหน  เพราะเป็นประเด็นเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีผลในทางการเมือง

 

เนื่องจากกองทัพในสังคมประชาธิปไตยไม่ได้เป็น"ฐานอำนาจ"  ทางการเมืองของใคร แต่มีบทบาทเป็น "ฐานที่มั่นหลัก" ของทหารอาชีพ   สังคมที่ "เสพติด" อยู่กับข่าวเช่นนี้ จึงไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าภาพสะท้อนถึงความด้อยพัฒนาและความไม่เป็นประชาธิปไตยในสังคมการเมืองของประเทศว่าที่จริงแล้วเรื่องเหล่านี้ก็คือ ภาพสะท้อนถึง "ความบกพร่องของระบอบการเมือง" ที่กองทัพเป็นสถาบันที่มีอำนาจทางการเมืองอย่างมาก ทั้งที่กองทัพมีสถานะเป็น "กลไกรัฐ" หรืออีกนัยหนึ่ง สิ่งเหล่านี้คือเครื่องบ่งชี้ถึงปัญหาการสร้าง “ทหารอาชีพ”

 

ที่การปรับย้ายควรจะต้องมีกระบวนการที่วิชาบริหารเรียกว่า "merit system" รองรับ ดังนั้นถ้าการปรับย้ายในกองทัพถือเอาความสามารถและเส้นทางรับราชการทางทหารเป็นแนวทางหลักได้จริงแล้ว
ไม่เพียงแต่จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งภายในกองทัพเท่านั้น
แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่สำคัญของการสร้างทหารอาชีพไทย ที่ไม่ต้องยึดอยู่กับปัจจัยทางการเมืองหรือโยงอยู่กับเรื่องของรุ่น อันเป็นชนวนความขัดแย้งที่เคยส่งผลอย่างสำคัญมาแล้วในปี 2535 (5 vs 7)
แต่ในด้านกลับ ดูเหมือนเราจะสนใจน้อยมากกับนโยบายทางทหารของประเทศ หรือในทางกลับกัน

 

เราแทบไม่เคยเห็นคำประกาศ "ยุทธศาสตร์ทหาร" ของไทยเลย มีแต่การเสนอ "คำขวัญเชยๆ" (และเชยมาก!)ของผู้นำเหล่าทัพ ประมาณเดียวกับคำขวัญชักชวนท่องเที่ยวของจังหวัดต่างๆ

 

ภาวะเช่นนี้จึงทำให้อดคิดไม่ได้… หรือว่ากองทัพไทยมีแต่เพียง "ยุทธศาสตร์ซื้ออาวุธ"   เมื่อใครมาเป็นผู้นำกองทัพก็จะต้องซื้ออาวุธใหม่ แต่สังคมแทบไม่เคยเห็นยุทธศาสตร์ทหารใหม่เลย
หรือถ้ามีก็เป็นเพียง "การขายฝัน" ที่ไม่ได้ยึดโยงกับ "การประมาณการของสภาวะแวดล้อมทางยุทธศาสตร์" ที่เป็นจริงทั้งภายนอกและภายใน   

 

บางทีน่าคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสื่อไทยยุติเสนอข่าวเรื่องโยกย้ายทหารและปล่อยให้กองทัพเป็น "ตัวละครปกติ" ที่เราไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญเกินจำเป็น

 

แต่ที่เป็นเช่นนี้ เพราะความจริงที่เป็นเรื่อง "ตลกร้าย" ของการเมืองไทย ก็คือ เราต้อง สนใจบัญชีโยกย้ายทหารเนื่องจาก "อธิบดี" ของ "กรมทหารบก"ในระดับของกระทรวงกลาโหมมักจะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยการรัฐประหารเสมอจนกลายเป็นสัจธรรมของการเมืองไทยว่า ผู้นำทหารที่เป็นผู้นำรัฐบาลก็คือ "ผู้นำรัฐประหาร" นั่นเอง …

ประเด็นเช่นนี้ล้วนชี้ชวนให้สังคมไทยต้องคิดถึงเรื่องการปฎิรูปกองทัพมากขึ้นแล้ว!

logoline