svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

อนุรักษ์พัฒนา " แก่งละว้า"ของชุมชน" รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป

10 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"แก่งละว้า" แหล่งน้ำขนาดใหญ่ของประเทศและภาคอีสาน พื้นที่ชุ่มน้ำขนาด 17,000 ไร่ รองรับมวลน้ำชีจากจังหวัดชัยภูมิ เป็นแหล่งทรัพยากรทางน้ำที่สำคัญหล่อเลี้ยงหลายอำเภอจ.ขอนแก่น ติดตามเจาะประเด็น โดย "พลเดช ปิ่นประทีป"

 

"แก่งละว้า" แหล่งน้ำขนาดใหญ่ของประเทศและภาคอีสาน พื้นที่ชุ่มน้ำขนาด 17,000 ไร่ รองรับมวลน้ำชีจาก"จังหวัดชัยภูมิ" มีความสำคัญต่อชาวบ้านอำเภอไผ่ อำเภอชนบท อำเภอบ้านแฮด อำเภอมัญจาคีรี "จังหวัดขอนแก่น" ก่อนไหลลงสู่ลำน้ำมูลและแม่น้ำโขง เป็นที่หาอยู่หากินของชาวบ้านกว่า 40 หมู่บ้าน

  แก่งละว้า จังหวัดชัยภูมิ

 

เมื่อเทียบขนาดกับแหล่งน้ำใหญ่แห่งอื่นๆของประเทศ จะเห็นความสำคัญที่ชัดขึ้น กล่าวคือ ทะเลสาบสงขลา  616,000 ไร่  บึงบอระเพ็ด นครสวรรค์ 132,000 ไร่ หนองหาร สกลนคร 46,000 ไร่ แก่งละว้า 17,000 ไร่ และกว้านพะเยา 10,600 ไร่

 

นอกจากจากวิถีชีวิตการหาอยู่หากินกับแหล่งน้ำแบบประมงพื้นบ้านแล้ว บริเวณขอบแก่งยังเป็นที่ทำนาอันกว้างใหญ่และอุดมสมบูรณ์ เพราะในหน้าน้ำหลากได้ไหลชะเอาธาตุอาหารมาฝังไว้ในผืนดินที่น้ำท่วมขัง กลายเป็นผืนดินการเกษตรที่เหมาะต่อการปลูกข้าวและพืชผลอื่นๆ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำอันสำคัญของผู้คนบ้านไผ่ และเลี้ยงปากท้องคนขอนแก่น

 

ที่นี่ยังมีชุมชนที่เลี้ยงควายฝูงใหญ่อยู่หลายฝูง มีชื่อเสียงมากในนามของ "ควายทาม" มีเอกลักษณ์เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว ขี้ควายยังกอบเก็บมาใส่กระสอบขายได้ราคาดี นับเป็นวิถีชีวิตของชุมชนเกษตรกรที่สุขสงบ 

เมื่อมีข่าวว่าจะก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือไบโอฮับ ในพื้นที่ 4,000 ไร่ ปรากฏอยู่ในแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย 10 ปี (พ.ศ. 2558-2569) ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) ที่ระบุเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้นจาก 1,542 เมกะวัตต์ เป็น 4,000 เมกะวัตต์

 

อนุรักษ์พัฒนา " แก่งละว้า"ของชุมชน"  รายงานประชาชน โดย ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป

 

ชาวบ้านเกิดความวิตกกังวลต่อผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะรู้ดีว่าการปลูกอ้อยต้องใช้สารเคมีมากกว่าทำนาหลายเท่าตัว อะไรจะเกิดขึ้นหากไร่อ้อยและโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลจะถมใส่สารเคมีจำนวนมหาศาลลงไปในระบบนิเวศ รวมทั้งฝุ่นและควันจากการเผาไร่อ้อยจะเพิ่มปัญหาอีเอ็ม 2.5 และมลภาวะทางอากาศ

 

การลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพตามนโยบายประชารัฐสู่การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม ระหว่างบริษัทเอกชน 13 ราย และหน่วยงานภาครัฐ สถาบันวิชาการ 23 หน่วยงาน มีกลุ่มเอทานอลจากอ้อยและมันสำปะหลัง เป้าหมาย 2,506 ล้านลิตรต่อปี กลุ่มโรงงานชีวมวลจากชานอ้อย เป้าหมายผลิตไฟฟ้า 1,800 เมกะวัตต์ และการนำกากมันเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตไฟฟ้า 336-500 เมกะวัตต์  กลุ่มไบโอพลาสติก กลุ่มแป้งและน้ำตาล กลุ่มอุตสาหกรรมยา ชีววัตถุ วัคซีนขั้นสูง มุ่งเป็น "ไบโอฮับ"

 

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2565 รายการฟังเสียงประเทศไทย ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้ไปจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสาธารณะกับชาวบ้านชาวเมืองในพื้นที่ โดยให้ชื่อตอนว่า "เบิ่งแง่ง อนาคตแก่งละว้า"  วิทยากรได้ใช้เทคนิคกระบวนการ "ประชาพิจัย" โดยสร้างฉากทัศน์เป็นทางเลือก 3 แบบ เป็นกรอบในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นกัน 


ฉากทัศน์ที่ 1  การดูแลและจัดการการใช้ประโยชน์ทางตรงตามวิถีชุมชน ตามระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมดั้งเดิมต่อไป  

 

ฉากทัศน์ที่ 2  ภาคประชาชนเข้มแข็งเป็นกำลังหลัก สร้างการมีส่วนร่วม และมีการใช้ประโยชน์ทางอ้อมเพิ่มมากขึ้น  

 

ฉากทัศน์ที่ 3  ดูแลและจัดการการใช้ประโยชน์ตามนโยบายรัฐ มุ่งทำให้แก่งละว้าและบ้านไผ่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพ อุตสาหกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง


เมื่อเวทีได้ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองระหว่างชุมชนและนักวิจัยจากสถาบันวิชาการท้องถิ่น สุดท้าย การโหวตทางเลือกจากเวทีและคนที่รับชมถ่ายทอดสดทางโซเชียล ส่งผลออกมาว่าคนส่วนใหญ่เห็นเป็นเอกฉันท์ (ร้อยละ 88.5) ต้องการฉากทัศน์ที่ 2

 

อย่างไรก็ตาม การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะสำนักงานชลประทานที่รับผิดชอบแก่งละว้าโดยตรงและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ต่างคนต่างทำ แยกย่อยกันไปตามภารกิจของหน่วยงาน อำนาจตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง การบูรณาการกลายเป็นเพียงคำใหญ่ๆที่สวยหรู ไม่เคยเกิดขึ้นจริง 

 

นอกจากนั้นยังมีปัญหาทุจริตในงบประมาณการพัฒนาของภาครัฐอย่างเป็นระบบ ตัวอย่างกรณีงบขุดลอกคูคลอง 15 ล้านบาทในปี 2564 เพียงบ่อเดียว ถูกซอยออกเป็น 30 สัญญา สัญญาละ 476,200 บาทเท่ากันทุกโครงการ เพื่อหลบหลีกกระบวนการ e-bidding ตามกฎหมาย  ทำกันเสียจนไม่มีใครผิด สูบกินงบประมาณแผ่นดินจนเป็นปกติวิสัย  ในขณะที่เอ็นจีโอ ผู้คัดค้าน ก็ทำเพื่อปกป้องชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม พวกเขาจึงมีภูมิคุ้มกันอยู่ในตัว  

 

แก่งละว้า  จังหวัดชัยภูมิ

 

ด้วยเหตุนี้เอง เครือข่ายชุมชนและภาคประชาสังคมเล็งเห็นว่า ถ้าขืนปล่อยให้งานพัฒนาแก่งละว้า ที่นำโดยภาครัฐและภาคธุรกิจเป็นไปเช่นนี้ สุดท้ายจะยิ่งเกิดปัญหาสะสมจนไม่อาจเยียวยา พวกเขาจึงรวมตัวกันในนาม "เครือข่ายขอนแก่นวิถีใหม่" ทำหนังสือร้องทุกข์ร้องเรียน เข้ามายื่นถึงวุฒิสภา โดยมีเพียงข้อเสนอเดียว สั้นๆว่า 

"ขอเรียกร้อง ให้มอบหมายงานพัฒนาแก่งละว้า เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีสำนักงาน กปร.ดูแล เพื่อให้เกิดการบูรณาการและเป็นที่ไว้วางใจของชาวบ้านด้วยเถิด"

logoline