svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

ยาเสพติดกับสุญญากาศอำนาจอธิปไตย (ตอน 1) โดย ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร

11 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เหตุการณ์ชายหลอนยาเสพติดยิงเด็กนร.เสียชีวิต น่าจะเป็นจุดหักเหที่สำคัญทำให้สังคมไทยเกิดตั้งคำถามต่อปริมาณของคดียาเสพติดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ติดตามได้เจาะประเด็น โดย "ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร"

 

ภาพข่าวอาชญากรรมการยิงเด็กนักเรียนเสียชีวิตไปจำนวนสามคนซึ่งผู้ต้องหาคือผู้ที่มีลักษณะติดยาเสพติดและมีอาการคลุ้มคลั่ง น่าจะเป็นจุดหักเหที่สำคัญทำให้สังคมไทยเกิดตั้งตั้งคำถามต่อปริมาณของคดียาเสพติดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้ให้ความสนใจเฉพาะในกรณีของจำนวนผู้ค้ายาเสพติดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

 

แต่ในแง่สังคมกลับได้รับผลกระทบจากคดีอาชญากรรมที่เกิดจากการคลุ้มคลั่ง ซึ่งผู้สูญเสียไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดนับตั้งแต่เริ่มต้น อาจจะกล่าวได้ว่าคดียาเสพติดก่อให้เกิดโศกนาฎกรรมทางสังคม ในปัจจุบันได้กลายเป็นภาพความเจ็บปวดที่คุ้นชินจากการนำเสนอภาพข่าวหรือแม้กระทั่งสื่อสังคมออนไลน์

 

 แฟ้มภาพ จับแล้วคนร้าย “ยิงนักเรียนม.6” ดับ 3 ราย เผารถวอด สารภาพทำเพราะหลอนยา

 

การตั้งคำถามที่สำคัญต่อปริมาณคดียาเสพติดหรือแม้แต่กระทั่งจำนวนของยาเสพติดที่จับกุมในแต่ละครั้งจะพบว่าคือการนำเสนอเชิงปริมาณแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือไม่ เพราะในแง่ของการลดหรือจำนวนคดีที่เกิดขึ้นจากเสพติดไม่สามารถให้ความสนใจในเชิงปริมาณ

 

หากแต่ยังต้องให้ความสนใจในเชิงคุณภาพ โดยเฉพาะการลดผลกระทบจากคดียาเสพติดที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมและประชาชนผู้บริสุทธิ์อาจจะกล่าวได้ว่าภาพความขัดแย้งกับเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณในปัจจุบันอาจจะกลายเป็นคำถามสำคัญที่ก่อให้เกิด ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจและความความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

 

 

 

กล่าวคือ ในแง่ของเชิงปริมาณจะพบว่าการนำเสนอข้อมูลคดียาเสพติดที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมหรือแม้แต่กระทั่งปริมาณยาเสพติดมักจะกลายเป็นข้อมูลที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชนแต่ในอีกด้านหนึ่งจะพบว่าข้อมูลในเชิงคุณภาพนั้นมีความจำเป็นจะต้องให้ความสนใจในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากยาเสพติดหาไม่แล้ว ปริมาณของข้อมูลการจับกุมจึงเป็นเพียงการสร้างภาพมายาคติและไม่ได้ก่อให้เกิดการสร้างความมั่นคงในระบบการรักษาความปลอดภัย ของประชาชนในชีวิตประจำวันแต่อย่างใด

 

แฟ้มภาพ: จับแล้วคนร้าย “ยิงนักเรียนม.6” ดับ 3 ราย เผารถวอด สารภาพทำเพราะหลอนยาเสพติด

 

นอกจากนั้นแล้วการปรับมาตั้งคำถามต่อมูลเหตุสำคัญของคดียาเสพติดมักจะถูกให้คำอธิบายว่าไม่สามารถที่จะลดปริมาณความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคยาเสพติดภายในประเทศ ซึ่งในแง่ของคำอธิบายภาครัฐมักจะให้ความสนใจเฉพาะการลดและสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ประชาชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นมาตรการในการป้องปรามหรือแม้กระทั่งกระบวนการให้ความรู้

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กันนั่นก็คือว่าการลดปริมาณการเสพและการค้ายาเสพติดภายในประเทศแต่เพียงอย่างเดียวจะสามารถลดโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับยาเสพติดด้วยหรือไม่ หรือในอีกด้านหนึ่งมีความจำเป็นจะต้องให้ความสนใจกับแหล่งผลิตยาเสพติดภายนอกประเทศ ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น

 

ในกรณีดังกล่าวนี้ เมื่อพิจารณาถึงแหล่งผลิตยาเสพติด ชายแดนของประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะพื้นที่ทางด้านรัฐฉานทางตอนเหนือจึงกลายเป็นพื้นที่ที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบด้านโดยเฉพาะมูลเหตุใดที่ปริมาณการผลิตยาเสพติดในพื้นที่ดังกล่าวมีมากยิ่งขึ้นทั้งที่การนำเสนอข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ มักจะนำเสนอภาพการใหความร่วมมือของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงการให้ข้อมูลการนำเสนอการเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติดจากประเทศนอกภูมิภาค

 

แฟ้มภาพ : ปส. แถลงจับไอซ์ล็อตใหญ่ 130 กิโล และ ยาบ้ากว่า 4 ล้านเม็ดเมื่อวันที่  4 ต.ค.64

 

ในกรณีนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องทำความเข้าใจกลไกของการผลิตยาเสพติดภายในประเทศของเมียนมาเองหรือแม้แต่กระทั่งกลไกของผลิตการผลิตยาเสพติดที่เกี่ยวเนื่องกับสงครามกลางเมือง


ยิ่งในสภาวะปัจจุบันที่สงครามกลางเมืองเมียนมามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นนั่นหมายความว่าความต้องการอาวุธและการใช้ยาเสพติดเพื่อแลกกับอาวุธย่อมมีมากขึ้นไปด้วย สิ่งที่น่าสนใจนั่นก็คือตัวละครที่มีความเกี่ยวข้องกับ ระบบของการผลิตยาเสพติดนั้นในปัจจุบันไม่ใช่เพียงเฉพาะกลุ่มอาชญากรรมแบบเดิมที่มีสายสัมพันธ์กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์หรือแม้แต่กระทั่งกองกำลังพิทักษ์ชายแดนแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

 

แต่ยังต้องให้ความสนใจกับการสร้างรูปของกองกำลังติดอาวุธรูปแบบใหม่โดยเฉพาะกองกำลังที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านอำนาจรัฐในยุคปัจจุบันเพราะในหลายครั้งจะพบว่าเมื่อการต่อสู้ด้านการเมืองมีระยะเวลายืดเยื้อต่อไปปริมาณความต้องการยาเสพติดของกลุ่มกองกำลังใหม่ในการจัดหากับอาวุธชนิดใหม่หรือแม้แต่กระทั่งการค้ายาเสพติดเพื่อแลกกับการสนับสนุน การเคลื่อนไหวด้านการเมืองของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีมาอยู่เดิมนั้นย่อมมีภาวะที่สูงมากยิ่งขึ้น

 

แฟ้มภาพ: ผบช.ภ.5 แถลง "จับยาบ้า" 2.6ล้านเม็ด ยึดทรัพย์ แก๊งค้ายา ได้กว่า2พันล้านบาท เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.64

 

ในอีกด้านหนึ่งจะพบว่า การแบ่งเขตและแย่งการควบคุมพื้นที่ในเขตรัฐฉานตอนบนก่อให้เกิดการพยายามขยายเขตอำนาจของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และภายในเครือข่ายดังกล่าวนั้นจะพบว่ามีฝ่ายเศรษฐกิจที่จะสามารถใช้พื้นที่ที่ยึดครองในการสร้างและผลิตยาเสพติดโดยเฉพาะการเปิดให้มีการลงทุนจากนักลงทุนหน้าใหม่จากภายในภูมิภาคหรือต่างภูมิภาค รวมทั้งการพยายามที่จะทำให้พื้นที่ยึดครองไม่กลายเป็นพื้นที่ปราศจากอำนาจอธิปไตย ที่รัฐเมียนมาเองไม่สามารถเข้าไปควบคุมหรือตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจยาเสพติดในพื้นที่ได้

 

ปัญหาลักษณะนี้อาจจะเรียกได้ว่าภาวะ "สุญญากาศของอำนาจอธิปไตย" ในเขตพื้นที่ของรัฐฉานทางตอนเหนือกลายเป็นปัจจัยหลักทำให้การผลิตยาเสพติดมีความเฟื่องฟูแม้ว่าการทำงานของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร หรือแม้แต่กระทั่งความร่วมมือในการสกัดสารตั้งต้น

 

แต่เมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างภายในของระบบการผลิตยาเสพติดแล้วจะพบว่าโครงสร้างของสงครามกลางเมืองของเมียนมาในปัจจุบันต่างหากที่เป็นแหล่งในการเพิ่มและเฟื่องฟูการผลิตยาเสพติดซึ่งถือได้ว่านั่นคือมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ ปริมาณการผลิตยาเสพติดออกมาล้นตลาดและทำให้ราคาของยาเสพติดนั้นลดลงจนสามารถทำให้คนทุกระดับชั้นจัดหาและจัดซื้อหายาเสพติดได้ไม่ยากเย็นนัก
    

การตั้งโจทย์คำถามต่อการลดหรือแม้แต่กระทั่งการผลิตยาเสพติด ในฝั่งตรงข้ามประเทศเพื่อนบ้านจึงไม่ใช่เฉพาะการตั้งคำถามหรือแม้กระทั่งการสร้างมาตรการความร่วมมือของกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องสามารถตั้งคำถามและหาแนวทางในการลดปริมาณการผลิตยาเสพติดภายใต้สงครามกลางเมืองที่ดำรงอยู่

 

นั่นหมายความว่า หากสามารถยุติสงครามกลางเมือง การจำแนกตัวละครของสงครามกลางเมืองจะสามารถทำให้เห็นถึงกลไกการผลิตและสามารถชี้ให้ถึงแนวทางของการลดปริมาณการผลิต แต่ทั้งนี้ข้อพิจารณาที่สำคัญนั้นก็คือในกรณีภาวะของสุญญากาศอำนาจอธิปไตย

 

แม้ว่าจะมีการกระบวนการสร้างสันติภาพหรือแม้แต่กระทั่งการพยายามจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่แต่เพียงอย่างเดียวแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดเหล่านั้นลงได้เพราะเมื่อไรก็ตามที่สุญญากาศอำนาจอธิปไตยยังคงอยู่ปริมาณยาเสพติดจึงยังคงอยู่ด้วย

 

ฉะนั้นการลดสุญญากาศอำนาจอธิปไตยโดยเฉพาะการกระจายอำนาจในการปกครองอย่างเท่าเทียม อาจจะเป็นข้อเสนอใหม่ที่จะสามารถทำให้เห็นได้ว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดจึงมีความเกี่ยวพันกับการออกรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับพื้นที่ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งกลไกด้านการเจรจาข้ามชาติ จึงอาจกลายเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่จะสามารถทำให้เห็นได้ว่า ปัญหายาเสพติด มีความจำเป็นจะต้องใช้กลไกเครื่องมือข้ามชาติ ได้มากกว่าเดิม หาไม่แล้วชีวิตของคนไทยจะถูกผสานเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนสงครามกลางเมืองเมียนมาได้อย่างไม่รู้ตัว
 

logoline