svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"นายกฯ 8 ปี " ยื้อต่อและลากไป! โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

09 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปัญหาทางการเมืองของรัฐบาลที่ต้องมีการตีความทางกฎหมายนั้น มักจะจบลงด้วยความอยู่รอดของรัฐบาลเสมอ จนอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลและตัวนายกรัฐมนตรี"พลเอกประยุทธ์" ไม่เคยมีประวัติการ “แพ้คดีการเมือง” ในศาลใดๆ เลย ติดตามได้เจาะประเด็นร้อน โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

 

ในช่วงที่ผ่านมาคงต้องยอมรับว่าการเมืองไทยวนเวียนอยู่กับเรื่องหลักเพียงเรื่องเดียวคือ ปัญหาการตีความตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ว่า"ครบ 8 ปี" แล้วหรือไม่?

 

จนความพยายามที่จะตอบคำถามเช่นนี้ทำท่าว่าอาจจะกลายเป็น "วิกฤตการเมือง" ในตัวเองได้ไม่ยาก เพราะมีการตีความในทางกฎหมายที่หลากหลาย จนประชาชนเองเกิดความสับสนว่า เมื่อเกิดปัญหาทางการเมืองในเรื่องหนึ่งเรื่องใดแล้ว ทำไมกฎหมายไทยไม่สามารถทำให้เกิดความชัดเจนได้ 

 

ดังจะเห็นได้ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตีความเท่านั้น เท่าๆกับที่ "ความถูกความผิด" ในทางการเมืองก็เป็นเรื่องของการตีความทางกฎหมายเช่นกัน

 

"นายกฯ 8 ปี " ยื้อต่อและลากไป!  โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

 

นอกจากนี้ยังเห็นอีกด้วยว่า ปัญหาทางการเมืองของรัฐบาลที่ต้องมีการตีความทางกฎหมายนั้น มักจะจบลงด้วยความอยู่รอดของรัฐบาลเสมอ จนอาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลและตัวนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ ไม่เคยมีประวัติการ "แพ้คดีการเมือง" ในศาลใดๆ เลย 

 

ปรากฎการณ์เช่นนี้จึงเป็นเสมือน "อภินิหาร" พอๆ กับ "ความมหัศจรรย์" ทางกฎหมายที่เกิดแก่รัฐบาล"พลเอกประยุทธ์" ที่สืบทอดอำนาจมาจากคณะรัฐประหาร 2557 

 

ย้อนคำวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวข้องกับ "ประยุทธ์" ในอุ้งมือศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมารอดหมดทุกสังเวียน

 

ดังนั้น ความพยายามที่จะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปของ"พลเอกประยุทธ์" พร้อมกับการยื่นความเห็นแย้งให้แก่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีการอ้างถึงความเห็นของบุคคลหลักในคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมทำให้คนในสังคมส่วนหนึ่งตีความจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาว่า แล้ว"พลเอกประยุทธ์"ก็น่าจะชนะอีกครั้ง เพราะเขาไม่เคยแพ้ในทางคดีมาก่อน 

 

มิใยที่จะต้องกล่าวว่า ตัวบุคคลในองค์กรอิสระทั้งหลายนั้น ล้วนมาการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร 2557 แม้ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีมติให้นายกรัฐมนตรี "หยุดงานชั่วคราว" ในการดำรงตำแหน่งก็ตาม 

 

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมทางรัฐศาสตร์ดังที่ได้เคยกล่าวมาแล้วว่า การนับอายุตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีความชัดเจนในตัวเองที่ต้องเริ่มที่การรับตำแหน่งครั้งแรกในวันที่ 23 สิงหาคม 2557 และไม่น่าจะมีทางนับเป็นอื่นเลยในมิติทางรัฐศาสตร์ เนื่องจากปรากฏชัดจากการมีคำสั่งแต่งตั้งครั้งแรกเกิดขึ้นในวันนั้น 

 

"นายกฯ 8 ปี " ยื้อต่อและลากไป!  โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

 

แต่วันนี้ ฝ่ายกฎหมาย หรือ "นิติกรนายกฯ" ของพลเอกประยุทธ์ ที่ล้วนนั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งเห็นและรับรองรายงานการประชุมที่เกิดขึ้น พยายามจะโต้แย้งว่า ต้องนับใหม่ด้วยการ "ตัดตอนนับ" จะนับเป็นเวลาต่อเนื่องไม่ได้ แม้จะมีการดำรงตำแหน่งต่อเนื่องก็ตาม จนอาจจะต้องเรียกภาวะที่เกิดขึ้นว่า "นายกฯตัดตอน"

 

การคิดหาทางออกและตีความทางกฎหมายเช่นนี้ อาจจะเทียบเคียงได้กรณีปัญหาการ "ยืมนาฬิกา" ที่จบลงด้วย "เสียงหัวเราะ" อย่างน่าเศร้าใจของคนในสังคม แต่เท่ากับบ่งบอกในเชิงความรู้สึกของผู้คนในสังคมว่า "ความน่าเชื่อถือ" ของระบบกฎหมายไทยกลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามอย่างมากในทางการเมือง 

 

คำชี้แจง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อศาลรธน.ปม "8 ปีนายกฯ"

 

ฉะนั้น การนำเสนอข้อโต้แย้งแบบ "นายกฯตัดตอน" คงต้องถือว่าเป็นมิติใหม่ของบรรดา "นิติกรนายกฯ" ที่สร้างอภินิหารมาหลายครั้ง และถ้าอภินิหารจะเกิดขึ้นอีกครั้งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดไปจากความคาดหมายแต่อย่างใด 

 

แต่ดังที่กล่าวแล้ว ความสำเร็จเช่นนี้กลายเป็นปัจจัยที่บั่นทอนสถานะของรัฐบาลและตัวพลเอกประยุทธ์เอง ความจริงประการสำคัญที่ "กองเชียร์พลเอกประยุทธ์" อาจต้องยอมรับในอีกด้านคือ การสร้าง "อภินิหารทางกฎหมาย" ที่เกิดหลายครั้งนั้น ได้ทำลายทั้งความชอบธรรมของรัฐบาลลงไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับเป็นการทำลายสถานะของตัวผู้นำและบรรดา "นิติกรนายกฯ" ที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเหล่านี้ถูกยกย่องให้เป็น "เทพแห่งกฎหมาย" ของวงการนิติศาสตร์ไทยลงอย่างไม่เหลือ 

 

ดังนั้น คำตอบในทางรัฐศาสตร์ (ไม่ใช่คำโต้ในทางนิติศาสตร์) จึงเหลือเป็น "คำเตือน" แต่เพียงประการเดียวว่า หากการนับอายุ 8 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถูกขยายออกไปด้วยคำอธิบายแบบตัดตอนแล้ว สถานะความชอบธรรมทางการเมืองของตัว"พลเอกประยุทธ์" จะหมดลงไม่เหลือ และจะตามมาด้วยคำเรียกอย่างเยาะเย้ย พร้อมกับพาสถานะขององค์กรอิสระล่มสลายไปในความรู้สึกของวิญญูชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

"นายกฯ 8 ปี " ยื้อต่อและลากไป!  โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

การขยายเวลานับด้วยวิธีของ "นิติกรนายกฯ" จะเป็นดังการ "สืบทอดอำนาจครั้งที่ 2" ของผู้นำรัฐประหาร และจะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตทางการเมืองที่จะตามมาอย่างแน่นอน โดยไม่จำเป็นต้องไปคำนวณดวงดาวในทางโหราศาสตร์ว่า มฤตยูยังกุมลัคน์ของดวงเมืองหรือไม่ 

 

ปัญหาสำคัญจึงเหลือเพียงประการเดียวว่า ถ้าวิกฤตการเมืองไทยเกิดขึ้นจริง วิกฤตชุดนี้จะมีความใหญ่ที่จะสร้างผลสะเทือนต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอนาคตได้มากน้อยเพียงใด!

 

แต่ความสำเร็จที่จะอยู่ต่อไปจากอภินิหารทางกฎหมาย จะกลายเป็น "แนวร่วมมุมกลับ" สำหรับการประท้วงรัฐบาลในอนาคตด้วย

 

logoline