svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ตรวจแถวการเมือง

ส่องเบื้องลึก กุนซือกฎหมาย"นายกฯประยุทธ์" ชี้แนวทางหักล้างปม"นายก 8 ปี"

08 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การปรากฎตัวของ "พล.ต.วิระ โรจนวาศ" ที่ปรึกษานายกฯ ด้วยการให้ข้อมูล คำชี้แจงต่อสู้ประเด็น ปม"นายก 8 ปี" ของพล.อ.ประยุทธ์ ต่อศาลรธน. ทำให้เห็นจังหวะก้าวของ"ทีมกุนซือนายกฯ" ชนิดไม่อาจมองข้ามเด็ดขาด

 

นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง สั่ง ให้ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" หยุดปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ปม"นายก 8 ปี" ซึ่งศาลรธน.ยังให้ผู้ถูกร้อง นั่นคือ "พล.อ.ประยุทธ์"  จัดทำคำชี้แจงมายังศาลรธน. ภายใน 15 วัน นับแต่ศาลรธน.มีคำสั่งเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา  

 

ผ่านมาถึงวันนี้ ( 31 ส.ค. 65) เป็นเวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์ มีความเคลื่อนไหวของ "พล.อ.ประยุทธ์" ผ่านทีม"ที่ปรึกษานายกฯ"ด้านกฎหมาย ในการจัดทำคำชี้แจง เพื่อหักล้าง ข้อกล่าวหา การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี "ครบวาระ 8 ปี" เมื่อใดกันแน่  

 

"พล.ต.วิระ โรจนวาศ"  ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับผิดชอบจัดทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

"การส่งคำชี้แจงจะทำให้เร็วและตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด แต่คาดว่าจะส่งได้ก่อนกำหนด 15 วัน ถ้าเร็วก็จะดีขึ้นเท่านั้นเอง เพราะเราทราบความจำเป็นและความเร่งด่วนของเรื่องนี้ ส่วนนายกฯ ไม่ห่วง ท่านให้ดูไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ในกฎหมายมีหลักเกณฑ์อย่างไรก็ว่าไปตามนั้น"   

 

"พล.ต.วิระ  โรจนวาศ"  ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับผิดชอบจัดทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยผ่านสื่อมวลชน เมื่อวันอังคารที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา 

 

"พล.ต.วิระ โรจนวาศ"  ยังได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ...

 

"เราชี้แจงตามข้อกฎหมาย อะไรควรจะเป็นตรงไหน เวลาอะไรเท่านั้น คงไม่มีอะไรน่ากังวล เนื้อหาที่ส่งไปมีครบทุกประเด็นที่ผู้ร้องเขาร้องมา และข้อกฎหมายเป็นอย่างไร"   

 

"ศาลส่งคำร้องของผู้ร้องมา เราก็ตอบไปให้ครบ ศาลคงไม่สั่งเกินคำขอ ดังนั้นเราตอบทุกคำถามที่ถามมา และเรามีข้อกฎหมายที่สนับสนุนไม่สนับสนุนอะไร ตีความตามตัวอักษรของรัฐธรรมนูญกำหนด และที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร และให้ศาลใช้ดุลยพินิจอีกครั้งหนึ่ง เพราะศาลคงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายมารวมกัน และความเห็นควรจะเป็นอย่างไร ท่านมี 9 คน ก็คงพิจารณารอบคอบและเป็นดุลพินิจของศาล"  

 

ไม่บ่อยนัก "พล.ต.วิระ โรจนวาศ" จะให้สัมภาษณ์สื่อ  ดังนั้น การแจกแจงออกมาครั้งนี้ ย่อมทำให้เห็นแนวทางการต่อสู้คดีเพื่อช่วยนายกฯ อย่างมีนัยสำคัญ  

 

"ในบันทึกการประชุมของ กรธ.ครั้งที่ 500/2561 ประชุมเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีจะนับอย่างไร ตอนนั้นคุยกัน แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ และไม่ใช่ความคิดเห็นของคณะกรรมการส่วนใหญ่ และความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ จึงขึ้นอยู่กับการตีความรัฐธรรมนูญว่าจะตีความอย่างไร"  

 

นี่เป็นถ้อยความอีกช่วงหนึ่งที่  "พล.ต.วิระ  โรจนวาศ" ซึ่งตัวเขาไม่ใช่แค่เป็นที่ปรึกษานายกฯ หากแต่เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็น"กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ" ที่มี "นายมีชัย ฤชุพันธ์ุ" เป็นประธานนั่นเอง 

 

.... ทุกถ้อยความที่สื่อสารออกมาชวนถอดรหัสให้เห็นแนวทางการต่อสู้คดียิ่งนัก...

 

ก่อนหน้านี้ ศาลรธน.ได้เรียกให้ "นายมีชัย  ฤชุพันธ์ุ" อดีตประธาน กรธ. รวมถึง นายปกรณ์  นิลประพันธ์  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ซึ่งเคยอยู่ร่วม กรธ. มาชี้แจง  โดยทั้งสองได้ทำเป็นเอกสารชี้แจงไปยังศาลรธน.  จึงเห็นได้ว่า ศาลรธน.ให้ความสำคัญต่อบันทึกการประชุมกรธ. ครั้งที่ 500 / 2561 ภายหลังปรากฎข่าว กรธ.แสดงความเห็น ปมการดำรงตำแหน่งนายกฯ อย่างกว้างขวาง ก่อนที่คำร้อง "ปมนายก8 ปี " จะถึงมือตุลาการศาลรธน.  

 

พล.ต. วิระ โรจนวาศ เมื่อครั้งร่วมเป็นกรรมการร่างรธน.

"ผมไม่กังวล ท่านเป็นคนมีความรู้ความสามารถ และเป็นอดีตประธาน กรธ. ส่วนในเรื่องข้อกฎหมาย การพิจารณาอะไรก็ว่าไปตามหลักเกณฑ์ และเนื้อความกฎหมาย การตีความตามตัวอักษรและเจตนารมณ์เท่านั้น " พล.ต.วิระ กล่าว  

 

ย้อนดูผลงานมือกฎหมายท่านนี้ เคยดำรงตำแหน่ง "ผอ.กรมพระธรรมนูญ" กระทั่งคสช.ยึดอำนาจบริหารประเทศ"พล.ต.วิระ" ถูกเรียกมาใช้บริการชนิดแนบกาย"หัวหน้าคสช."

 

กล่าวคือ คอยให้คำแนะนำทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องทางการทหารเป็นหลัก "พล.ต.วิระ" จึงมีชื่ออยู่ในคณะกรรมการชุดต่างๆ  ไม่ว่าเป็นคณะคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร. ช่วงที่มีการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ในปีงบประมาณ 60  ก่อนที่จะมาร่วมเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดมีชัย ฤชุพันธุ์  เป็นประธานด้วย  

 

ด้วยบทบาทหน้าที่ในการให้คำปรึกษากฎหมายแบบซุ่มเงียบ  ไม่ออกหน้า ออกตัวเท่าที่ควร  ตามสไตล์นายทหาร แต่ทุกครั้งที่มีประเด็นคำร้อง "พล.อ.ประยุทธ์"  ต่อศาลรัฐธรรมนูญ  "พล.ต.วิระ"  คือ หน่วยรุกชุดแรกที่เข้าไปต่อสู้คดี  ไม่ว่าเป็นคดี พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคสช.เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่  หรือ  คดี "พล.อ.ประยุทธ์พักอาศัยบ้านหลวง" พล.ต.วิระทำหน้าที่ในการทำคำชี้แจงและชนะคดีในที่สุด 

 

วิษณุ  เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี

 

การจัดทำคำชี้แจงต่อสู้คดีให้นายกฯครั้งนี้ นอกจาก "พล.ต.วิระ" สืบทราบมาว่า ยังเป็นการระดมทีมกฎหมายข้างกายนายกฯ ตรวจสอบเนื้อหาคำชี้แจงให้เกิดความรัดกุมรอบคอบที่สุด  จึงหนีไม่พ้น เนติบริกร "วิษณุ เครืองาม" รองนายกฯด้านกฎหมาย ที่เป็นผู้อยู่ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จนส่งผลให้ "พล.อ.ประยุทธ์" หัวหน้าคสช. ได้ขึ้นเป็นนายกฯในวาระแรก จากสนช. ก่อนจะมาเป็นนายกฯอีกรอบ โดยมติของสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 

 

ส่องเบื้องลึก กุนซือกฎหมาย"นายกฯประยุทธ์" ชี้แนวทางหักล้างปม"นายก 8 ปี"

ขณะเดียวกัน รองนายกฯวิษณุ ได้รับมอบหมายจากนายกฯตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 263 /2563 ได้รับมอบอำนาจปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี กำกับดูแล "สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา" ฉะนั้นแล้ว จึงเป็นมือประสานเบอร์1 กับหน่วยงานด้านกฎหมาย ในการระดมมือกฎหมายในคณะกรรมการกฤษฏีกา ปรึกษาหารือ  ปม "นายก 8 ปี" เพื่อเป็นแนวทางต่อสู้คดี ให้กับ "พล.อ.ประยุทธ์" อีกด้วย 

 

ดิสทัตย์  โหตระกิตย์  เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอดีตเลขาธิการกรรมการกฤษฏีกา

 

ขณะเดียวกัน "พล.อ.ประยุทธ์" ยังใช้บริการ "ดิสทัต  โหตระกิตย์" มือกฎหมายชั้นครู  ด้วยการแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2562 และยังคงไว้วางใจทำหน้าที่ข้างกาย คอยตรวจสอบประเด็นข้อกฎหมาย ข้อห้าม อะไรทำได้ไม่ได้ให้"พล.อ.ประยุทธ์" ซึ่งมาจากทหารได้อย่างมั่นใจเมื่อเข้ามาทำหน้าที่ทางการเมือง   

 

อย่าลืมว่า "ดิสทัต" เติบโตมาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  โดยระหว่างปี 2549- 2555 เป็นกรรมการร่างกฎหมายประจำ ระดับทรงคุณวุฒิในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ปี 2555-2557 เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ปี 2557-2561 เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน  

 

พีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค  ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

 

มองข้ามไม่ได้อีกราย "พีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค" ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่ง"พล.อ.ประยุทธ์" จัดวางไว้ให้ช่วยงานเชิงยุทธศาสตร์ทางการเมืองตอนนี้ก็ยังสวมบทหัวหน้า"พรรครวมไทยสร้างชาติ" 

 

ก่อนหน้านี้ "พีระพันธ์ุ" สร้างผลงานชิ้นโบว์แดงจากการต่อสู้คดีค่าโง่ทางด่วนโฮปเวลล์ โดยศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำขอให้พิจารณา"คดีโฮปเวลล์"ใหม่ ส่งผลให้รัฐบาลยุคพล.อ.ประยุทธ์ประหยัดงบกว่า 3 หมื่นล้านบาท

 

ชื่อชั้น "พีระพันธุ์" เป็นที่รับรู้ในแวดวงตุลาการ เพราะเขาเติบโตมากจากสายผู้พิพากษา จนมาเป็นอดีตรมว.ยุติธรรม ยิ่งผลงานการันตีในช่วงที่มาเป็นที่ปรึกษานายกฯ ให้กับ"พล.อ.ประยุทธ์" ด้วยแล้ว จากการที่ ศาลปกครองสูงสุด สั่งรื้อคดีค่าโง่โฮปเวลล์  ฉะนั้น การร่วมวางแนวทาง อุดช่องว่างตามรธน.ในปม "นายก8 ปี" จึงละเอียดในทุกเม็ดของการต่อสู้คดี   

 

ยังไม่นับรวม ที่ปรึกษาทางกฎหมาย  ระดับอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รายหนึ่ง ไม่ประสงค์เอ่ยนาม ให้คำแนะนำแนวทางการต่อสู้คดี เช่นกัน 

 

เห็นได้ว่า "พล.อ.ประยุทธ์" มีมือไม้ด้านกฎหมายระดับแถวหน้าของประเทศ ระดับชั้นครูทางกฎหมาย ล้อมรอบกายสร้างความมั่นใจในการชี้แจงหักล้างคำร้องของสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ 

 

อย่างไรก็ตาม การทำให้"พล.อ.ประยุทธ์" ได้ไปต่อหรือหยุดแค่นี้   ผู้ที่จะปลดล็อก"นายก8 ปี" เขียนฉากจบของเรื่อง ขึ้นอยู่กับ "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ"  9 ท่าน ในการให้คำตอบเร็วๆนี้  

  

logoline