svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ตรวจแถวการเมือง

คืนชีพ"สูตรหาร100" กม.เลือกตั้ง ส.ส. "พรรคใหญ่"ได้เปรียบจุดจบ"พรรคเล็ก"

16 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พลันสภาล่ม !สู่บทอวสานร่างกม.เลือกตั้งส.ส. "สูตรหาร 500" จากนี้เข้าสู่การปัดฝุ่นร่างกม.เลือกตั้งส.ส. "สูตรหาร 100" นำกลับมาพิจารณาใหม่ เกมการเมืองพลิกกลับเปิดกว้าง"พรรคใหญ่"ได้เฮ "พรรคเล็ก"จบเห่ ต้องจับตาพรรคเล็กจะปรับตัวไปในทิศทางใด (คลิป)

     ในที่สุดการผลักดันร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ด้วยการคำนวณให้ได้มาซึ่งส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หารด้วย 500 ต้องปิดฉากลงอย่างเป็นทางการ ภายหลังที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา มีสมาชิกรัฐสภาไม่ครบองค์ประชุม ทำให้ "นายชวน หลีกภัย" ประธานรัฐสภา สั่งปิดประชุม ส่งผลให้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวมีอันต้องตกไปด้วย ตามกรอบเวลาของการจัดทำร่างกฎหมายที่ต้องแล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งวันสุดท้ายก็คือวันที่ 15 สิงหาคมนั่นเอง 

คืนชีพ"สูตรหาร100" กม.เลือกตั้ง ส.ส. "พรรคใหญ่"ได้เปรียบจุดจบ"พรรคเล็ก"

     "คำถามตามมาว่า หลังจากนี้ กติกาที่จะนำมาใช้ในการเลือกตั้งส.ส.ครั้งหน้าจะเดินหน้าอย่างไรต่อ "

     ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132 บัญญัติว่า ถ้าพิจารณาไม่เสร็จภายใน 180 วัน ก็ให้รัฐสภาใช้ร่างกฎหมายที่เสนอมาตามมาตรา 131 เป็นร่างที่ผ่านรัฐสภาได้เลย ไม่จำเป็นต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาอีก 

     หากย้อนกลับไปดูจะพบว่ามีร่างที่เสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา จำนวน 4 ร่าง โดยเนื้อหาทั้ง 4 ร่างนั้นไม่แตกต่างกันมากนัก คือ การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยการหาร 100 แต่ร่างหลักคือร่างของคณะรัฐมนตรี  ดังนั้นจึงต้องใช้ร่างกฎหมายดังกล่าว  ซึ่งกฎหมายถูกเสนอเข้ารัฐสภาแล้ว

     ขั้นตอนจากนี้ ประธานรัฐสภาต้องส่งร่างดังกล่าวกลับไปให้ กกต.พิจารณาและให้ความเห็นกลับมาที่รัฐสภาภายใน 10 วันหากไม่มีความเห็นแย้งจากนั้นก็ส่งไปยัง นายกรัฐมนตรี ตามขั้นตอนต้องพัก  5 วัน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งเชื่อว่า ระหว่างนี้ ส.ส.หรือ ส.ว.75 คน หรือเสียง 1 ใน 10 ของรัฐสภาฯสามารถ ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่หากไม่มี    ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯได้ เพื่อรอโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ต่อไป

คืนชีพ"สูตรหาร100" กม.เลือกตั้ง ส.ส. "พรรคใหญ่"ได้เปรียบจุดจบ"พรรคเล็ก"

     เมื่อพิจารณาสาระสำคัญหลักของร่างกฎหมายกม.ลูกเลือกตั้งส.ส.สูตรหาร 100  มีดังนี้ 

  1. ให้ กกต. ดำเนินการจัดการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน และการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน
  2. พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว จึงจะมีสิทธิ์ส่งผู้สมัครบัญชีรายชื่อ โดยต้องส่งก่อนปิดรับสมัครส.ส.แบบแบ่งเขต และต้องกำหนดวันที่พรรคการเมืองจะส่งรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ไม่น้อยกว่า 3 วัน
  3. ให้มีคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 7 คน มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนในที่เลือกตั้งและนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งแต่ละแห่ง
  4. ใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบละ 1 ใบ หรือบัตร 2 ใบ แต่คนละเบอร์
  5. ให้ใช้วิธีคำนวณหารด้วย 100 เพื่อหาค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน หากพรรคไหนมีคะแนนเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก

 

     มองถึงความได้เปรียบเสียเปรียบ เมื่อมีการนำร่างพรป.เลือกตั้งส.ส.สูตรหาร 100 กลับมาเคาะกันใหม่  ย่อมเป็นความต้องการของพรรคการเมืองขนาดใหญ่อยู่แล้ว อย่างเช่น พรรคเพื่อไทย ที่ประกาศทุกสนามเลือกตั้งว่าต้องชนะแลนด์สไลด์ 

     ยิ่งกลับมาใช้วิธีคำนวณส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อด้วยสูตรหาร 100  ยิ่งเติมความได้เปรียบในการได้รับคะแนนความนิยมเพื่อมาคำนวณให้ได้ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อกลับมาอีกเป็นอะไรที่แตกต่างจาก กติกาการเลือกตั้งเมื่อปี 62 ที่มีการคำนวณส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ด้วยการใช้สูตรหาร 500 ทำให้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยไม่ได้เดินเข้าสภาสักรายเดียว เพราะเทคะแนนไปที่ส.ส.ระบบเขตเต็มที่แล้ว

     กล่าวแบบนี้ย่อมเป็นคำตอบถึงพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่จะได้ผลลัพธ์ตรงกันข้ามกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่  คือ อาจถึงขั้นสูญพันธุ์ 

     "นิกร จำนง"  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.ป.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…  ยอมรับว่า แนวทางนี้ พรรคการเมืองใหญ่มีความได้เปรียบพรรคการเมืองขนาดเล็ก เพราะมีสายป่านที่ยาว และโครงสร้างที่แข็งแรงกว่า แต่ถ้าพรรคการเมืองขนาดเล็กมีการปรับตัว สร้างความนิยมกำหนดเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเฉพาะก็ยังมีโอกาสที่จะมีที่ยืนในสภาฯต่อไปได้ สูตรการคำนวณแบบนี้ ไม่ได้ปิดกั้นหรือปิดตายพรรคการเมืองขนาดเล็กให้สูญพันธุ์ เพราะมีช่องทางให้สามารถดำเนินการได้ 

คืนชีพ"สูตรหาร100" กม.เลือกตั้ง ส.ส. "พรรคใหญ่"ได้เปรียบจุดจบ"พรรคเล็ก"

     คราวนี้ ลองนำสูตรหาร 100 มาพิจารณากับพรรคการเมืองต่างๆ  โดยเฉพาะชะตากรรมของบรรดาพรรคการเมืองขนาดเล็ก พรรค 1 เสียง รวมถึงพรรคปัดเศษ โดยเทียบเคียงผลคะแนนการเลือกตั้งเมื่อปี 2562  

     เมื่อมาดูสูตรปาร์ตี้ลิสต์หาร 100 บัตร 2 ใบ...ใครสูญพันธุ์ 

คืนชีพ"สูตรหาร100" กม.เลือกตั้ง ส.ส. "พรรคใหญ่"ได้เปรียบจุดจบ"พรรคเล็ก"

  • พลังประชารัฐ  8,441,274 คะแนน
  • เพื่อไทย  7,881,006 คะแนน 
  • อนาคตใหม่ (ก้าวไกล )  6,330,617 คะแนน 
  • ประชาธิปัตย์ 3,959,358 คะแนน 
  • ภูมิใจไทย 3,734,459 คะแนน 
  • เสรีรวมไทย 824,284 คะแนน 
  • ชาติไทยพัฒนา  783,689 คะแนน 
  • เศรษฐกิจใหม่ 486,273 คะแนน 
  • ประชาชาติ 481,490 คะแนน 
  • เพื่อชาติ 421,412 คะแนน 
  • รวมพลังประชาชาติไทย 415,585 คะแนน
  • ชาติพัฒนา 244,770 คะแนน 
  • พลังท้องถิ่นไท 214,189 คะแนน 
  • รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 134,816 คะแนน 
  • พลังปวงชนไทย 80,186 คะแนน 
  • พลังชาติไทย 73,421 คะแนน 
  • ประชาภิวัฒน์ 69,431 คะแนน 
  • พลังไทยรักไทย 60,434 คะแนน 
  • ไทยศรีวิไลย์ 60,354 คะแนน 
  • ครูไทยเพื่อประชาชน 56,633 คะแนน 
  • ประชานิยม 56,264 คะแนน 
  • ประชาธรรมไทย 48,037 คะแนน 
  • ประชาชนปฏิรูป 45,420 คะแนน 
  • พลเมืองไทย 44,961 คะแนน 
  • ประชาธิปไตยใหม่ 39,260 คะแนน 
  • พลังธรรมใหม่ 35,099 คะแนน 
  • พรรคอื่นๆ รวมกัน 57,344 คะแนน 

     คะแนนบัตรดีทั้งหมด 35,561,556 คะแนน  (หักบัตรเสีย และไม่ประสงค์ลงคะแนนออกแล้ว) 

     จำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ 38,268,366 คะแนน คิดเป็น ร้อยละ 74.69 

     จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 51,239,638 คน

     เมื่อดูจากข้อสังเกต 

  1. จำนวนผู้มีสิทธิ์การเลือกตั้งเมื่อปี 62 ราวๆ 51 ล้านคน มาใช้สิทธิ์ราวๆ 38 ล้านคน การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นใหม่ ในปีนี้หรือปีหน้า จะมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมากขึ้น และจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ก็อาจจะมากขึ้นตามด้วย เพราะมีกระแสต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และบรรยากาศบ้านเมืองค่อนข้างขัดแย้ง 
  2. เมื่อปี 62 ใช้ระบบบัตรใบเดียว มีการคิด ส.ส.พึงมี โดยนำ 500 ที่เป็นจำนวน ส.ส.ทั้งสภา ไปหารคะแนนบัตรดีทั้งหมด ดังนั้น ส.ส. 1 คน ต้องได้ราวๆ 71,000 คะแนน 
  3. ตัวเลข 71,000 คะแนน ถือว่าต่ำ และทำให้พรรคเล็กได้ ส.ส.พอสมควร
  4. วิธีคำนวณคะแนนยังให้ปัดเศษเป็นประโยชน์กับพรรคเล็ก ทำให้พรรคที่ได้คะแนนต่ำกว่า 71,000 คะแนน ยังได้ ส.ส. 1 คน เรียกว่าพรรคปัดเศษ 
    ทั้งนี้ เมื่อดูตามตาราง(กราฟฟิคข้างต้น )  ก็คือตั้งแต่พรรคพลังประชาภิวัฒน์เป็นต้นมา ซึ่งพรรคเหล่านี้ได้ประโยชน์จากสูตรคำนวณ และได้โหวตหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯทั้งหมด รวมทั้งพรรคไทยศรีวิไลย์ โดยพรรค 1 เสียงพรรคเดียว ที่ไปอยู่กับฝ่ายค้าน คือ พลังปวงชนไทย ได้ 80,186 คะแนน ไม่ใช่พรรคปัดเศษ​
  5. ถ้าคิดตัวเลขนี้ คะแนนบัตรดี 35 ล้านคะแนน หากหารด้วย 100 ตามกฎหมายลูกที่กำลังนำมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ทำให้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน พรรคการเมืองที่จะได้ ส.ส.ต้องมีคะแนนถึง 350,000 คะแนนเป็นอย่างน้อย
    อย่างไรก็ตาม ถ้าดูตามตาราง จะพบว่า ตั้งแต่พรรคชาติพัฒนาลงมา จะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย แต่ยังมีโอกาสได้ ส.ส.เขต ซึ่งพรรคชาติพัฒนาก็ยังได้ ถือว่าไม่สูญพันธุ์ 
    ทว่า ตั้งแต่พรรคพลังท้องถิ่นไทลงมา ไม่มี ส.ส.เขตเลย จะสูญพันธุ์ทั้งหมดหากคิดตามสูตรหาร 100 คือ ไม่ได้ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์เลย (ส่วน ส.ส.เขต ไม่ได้อยู่แล้ว)
    สำหรับพรรคที่อันตราย คือ พรรคเศรษฐกิจใหม่ กับ พรรคเพื่อชาติ เพราะไม่มี ส.ส.เขต 
  6. ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป คะแนนบัตรดี น่าจะมากกว่านี้ สมมติ 40 ล้านคะแนน ก็จะทำให้คะแนนของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน สูงขึ้นไปอีก คือ 4 แสนคะแนน 

     ผลตามมาคือ พรรคเล็กต้องหนีตาย และควบรวมกับพรรคใหญ่ การเมืองไทยจะเป็นแบบใดต่อไป

ชมคลิป>>>

 

 

logoline