svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"กาดวิถีชุมชนคูบัว" เศรษฐกิจวัฒนธรรม"ไทยวน" โดย ส.ว."พลเดช  ปิ่นประทีป"

12 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ถึงแม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน แต่"ชาวไทยวน"ที่นี่ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ภาษาพูด หรือ การแต่งกาย รวมทั้งภูมิปัญญาด้านงานหัตถกรรมชุมชนจากบรรพบุรุษ มิได้จืดจาง ติดตาม "กาดวิถีชุมชนคูบัว" โดย "พลเดช ปิ่นประทีป" ได้ที่นี่

 

เมื่อเดือนก่อน ได้รับเชิญไปเยี่ยมชมผลงานการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของกลุ่มเครือข่ายราชบุรีวิถีใหม่ เมื่อภรรยาทราบว่าผมมีโปรแกรมไปที่ อบต.คูบัว  จึงกระซิบว่าที่นี่เขามีชื่อเสียงเรื่องผ้าตีนจกของชาวไท-ยวน ทั้งยังกำชับให้อุดหนุนสินค้าชาวบ้านด้วย

 

ไทยวน (อ่านว่า ไท-ยวน) คือชาวล้านนา หรือคนไทยทางเหนือ บางทีเรียกไตยวน ยวน โยน ลาว ขะหลอม ก้อหล่ง เจ๊ะ กอเลาะ จั่นกะหลอม ไต๋มุง  พูดภาษาคำเมือง ภาษาเขียนเป็นตัวอักษรธรรมล้านนาและอักษรฝักขาม 

 

"กาดวิถีชุมชนคูบัว" เศรษฐกิจวัฒนธรรม"ไทยวน"  โดย ส.ว."พลเดช  ปิ่นประทีป"

 

ในปี พ.ศ. 2347  เชียงแสนยังตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯให้กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราช พร้อมด้วยกองทัพลาว ยกทัพไปตีเมืองเชียงแสน เมื่อตีเมืองได้แล้วจึงให้รื้อกำแพง รื้อบ้านเมือง และรวบรวมผู้คนชาวเชียงแสน อพยพเป็น 5 ส่วน ให้ไปอยู่เชียงใหม่ ลำปาง น่าน เวียงจันทน์ และอีกส่วนหนึ่งให้เดินทางมายังภาคกลางโดยให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ราชบุรีและสระบุรี

 

หลวงพี่ที่วัดและผู้นำชุมชนเล่าให้ฟังว่า "ชาวไทยวน"หรือไทยโยนกที่อพยพมาจากเมืองเชียงแสน ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่เมื่อราว 200 ปีที่แล้ว การอพยพจากสภาพสงครามครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นตำนานที่เล่าสืบทอดกันมา โดยเฉพาะชาวไทยวนที่บ้านคูบัวยังคงจดจำเรื่องเล่า แต่งเป็นบทเพลงพื้นบ้าน การฟ้อนรำ และนิทานพื้นบ้าน สืบสานประวัติศาสตร์และเรื่องราวของชาติพันธุ์ 

 

"กาดวิถีชุมชนคูบัว" เศรษฐกิจวัฒนธรรม"ไทยวน"  โดย ส.ว."พลเดช  ปิ่นประทีป"

 

ถึงแม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน แต่ชาวไทยวนที่นี่ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ภาษาพูด หรือ การแต่งกาย รวมทั้งภูมิปัญญาด้านงานหัตถกรรมชุมชนจากบรรพบุรุษ มิได้จืดจางหรือถูกกลบกลืนไปกับกระแสวัฒนธรรมภาคกลาง 



"ผ้าซิ่นตีนจก" ถือเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน  เป็นผ้าที่มีลวดลายสวยงาม แสดงออกถึงความเป็นอัตลักษณ์ของชาวไทยวนได้เป็นอย่างดี  เอกลักษณ์ของผ้าทอบ้านคูบัว คือ สีเขียว ดำ แดง  มีลายดอกเซีย ลายหักนกคู่ ลายโก้งเก้ง ลายหน้าหมอน และลายกาบ  ในการจกจะใช้เส้นด้ายยืนสีดำเพื่อจกให้เห็นลายชัดเจน ส่วนสีสันของเส้นใยจะสดใสและประณีต นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่ออื่นอีกมาก เช่น การสานข้องดักปลา การทำขลุ่ย การทำแคน การทำครกไม้ 


"กาดวิถีชุมชนคูบัว" เศรษฐกิจวัฒนธรรม"ไทยวน"  โดย ส.ว."พลเดช  ปิ่นประทีป"

 

"กาดวิถีชุมชนคูบัว" ตั้งอยู่บริเวณวัดโขลงสุวรรณคีรี บริเวณเมืองเก่าคูบัว ที่นี่เป็นจุดตั้งรกรากในช่วงที่อพยพมา จึงถูกเลือกให้เป็นที่ตั้งของกาด (หมายถึง ตลาด)  สถานที่แห่งนี้เปิดเป็นตลาดนัดค้าขาย เปิดทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์  เพื่อเผยแพร่เอกลักษณ์ของคนไทยวน สามารถหาซื้อผลิตภัณฑ์ของชุมชน พร้อมกับชิมอาหารของชาวไทยวนมีการออกร้านค้า จำหน่ายสินค้าของฝาก อาทิ ผ้าจกคูบัว อาหารพื้นบ้าน อาหารคาว ขนมหวานพื้นถิ่น เครื่องดื่มผลไม้ ร้านกาแฟสด และของฝากจากชุมชน ของดี OTOP จังหวัดราชบุรี และของชำร่วยต่างๆ  


ควรมีเวลาแวะเข้าไปเยี่ยมชมที่ "จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว" หรือ พิพิธภัณฑ์ชุมชนที่รวบรวมประวัติของชาวไทยวน จะเข้าใจความเป็นไทยวนได้มากขึ้น 


ที่นี่ ปกติพ่อค้าแม่ขายในตลาดจะนุ่งผ้าซิ่นในการขายของและให้บริการอำนวยความสะดวก พอถึงช่วงแดดร่มลมตก เขาจะมีกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวนั่งพักเหนื่อย กินขันโตก ชมการแสดงพื้นเมือง  ซึ่งพวกแม่ค้าทั้งหลายแหล่ที่ขายของอยู่และลูกหลานชาวไทยวนที่เป็นเยาวชน จะพลัดกันขึ้นมาฟ้อนรำ ร้องเพลง เล่นดนตรี และแสดงศิลปะวัฒนธรรมพื้นเมืองให้แขกได้รับชม

 
อาหารชาวไทยวน เน้นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในชุมชน ปรุงรสจัดจ้าน นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนที่ลิ้มลองสามารถสัมผัสความอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น เมนูแกงหยวกกล้วย แกงส้มผักปลัง และแกงผำ (ผำ เป็นพืชน้ำชนิดหนึ่งที่ขึ้นในแหล่งน้ำธรรมชาติที่สะอาด เขานำมาทำเป็นอาหารจานเด็ด)  อยากลองชิมต้องมาที่บ้านคูบัว


ภายในวัดโขลงสุวรรณคีรี ยังมีแหล่งโบราณสถานสำคัญ มีหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากที่ขุดค้นพบ บ่งชี้ว่าเมืองราชบุรีแห่งนี้ ในอดีตเคยเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองในยุคทวารวดี ประมาณ 1,300 ปีมาแล้ว เป็นความเจริญรุ่งเรืองของเมืองริมน้ำที่เคยคึกคึกมาก่อน
 

logoline