svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

การตอบโต้ใหญ่ของจีน! โดย "สุรชาติ บำรุงสุข"

การเดินทางเยือนไต้หวันของประธานสภาอเมริกัน นางแนนซี เพโลซี นำไปสู่การตอบโต้ของจีนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการซ้อมรบใหญ่ของกองทัพจีน จนเป็นเสมือนกับการปิดล้อมไต้หวันไปในตัวเอง

 

แม้จะยังมีลักษณะเป็น "การปิดล้อมแบบบางส่วน" แต่ก็อาจยกระดับเป็นความขัดแย้งทางทหารในช่องแคบไต้หวันได้ไม่ยาก และอาจกลายเป็นความรุนแรงขนาดใหญ่ได้ เพราะจีนได้ประกาศขยายระยะเวลาการซ้อมรบเป็น 1 เดือน ซึ่งต้องถือเป็นระยะเวลาที่ยาวมากในทางการเมือง

 

แต่นอกเหนือจากการดำเนินมาตรการกดดันทางทหารผ่านการซ้อมรบใหญ่แล้ว เพื่อแสดงให้เห็นถึง "ความโกรธทางการเมือง" ที่มีต่อสหรัฐอเมริกา จีนยังได้ออกมาตราการตอบโต้ผ่านการประชุมกับสหรัฐในด้านต่างๆ อีก 8 เรื่อง ได้แก่ 

 

ยกเลิกเวทีการพูดคุยระหว่างผู้บังคับบัญชาทหารในระดับทางยุทธบริเวณระหว่างจีนกับสหรัฐ

ยกเลิกเวทีการพูดคุยเพื่อประสานนโยบายทางทหารระหว่างจีนกับสหรัฐ

ยกเลิกการเจรจาเพื่อการปรึกษาหารือทางทะลระหว่างกองทัพเรือจีนกับสหรัฐ

 

ยุติความร่วมมือในการส่งผู้อพยพผิดกฎหมายกลับประเทศ

ยุติความร่วมมือการให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม

 

ยุติความร่วมมือในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ

ยุติความร่วมมือในการต่อต้านยาเสพติด

ยุติเวทีการพูดคุยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ

 

การประกาศยกเวทีการพบปะพูดคุยทางทหารระหว่างจีนกับสหรัฐใน 3 เรื่องแรกนั้น ในทางการเมืองระหว่างประเทศต้องถือว่าเป็น "สัญญาณเชิงลบ" ของความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างกองทัพจีนกับกองทัพสหรัฐ หรืออาจกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสองได้ลดระดับลง และในทางกลับกันก็คือสัญญาณที่อาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งทางทหารของกองทัพสองประเทศได้ในอนาคต 

 

การตอบโต้ใหญ่ของจีน! โดย \"สุรชาติ บำรุงสุข\"

ส่วนการยุติเวทีความร่วมมือในอีก 5 เรื่องที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายพลเรือนนั้น จีนมองว่าผลที่เกิดขึ้นจะกระทบกับสหรัฐมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขึ้นสู่ตำแหน่งในทำเนียบขาวแล้ว เขาได้ผลักดันประเด็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศอย่างมาก


การที่จีนประกาศยุติความร่วมมือ จะทำให้การผลักดันประเด็นนี้ในเวทีโลกทำได้ยากขึ้น 

 

การตอบโต้ใหญ่ของจีน! โดย \"สุรชาติ บำรุงสุข\"

 

หรือการยุติเวทีความร่วมมือด้านยาเสพติดในมุมมองของจีน จะยิ่งทำให้ยาเสพติดทะลักเข้าสู้สังคมอเมริกันได้ง่าย และเป็นผลร้ายต่อสหรัฐเอง 

 

ว่าที่จริง ความจำเป็นในการตอบโต้เช่นนี้ด้านหนึ่งคือ การส่งสัญญาณถึงทำเนียบขาวว่า จีนมีขีดความสามารถเพียงพอที่จะตอบโต้กับสหรัฐในประเด็นที่เป็นเรื่องของความร่วมมือระหว่างประเทศ และในอีกด้านหนึ่งก็คือ การส่งสัญญาณถึงผู้นำประเทศอื่นๆ ที่มีแนวโน้มในการเดินทางเยือนไต้หวันว่า จะถูกตอบโต้เช่นไร ดังที่มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของสภาล่างของอังกฤษ มีแผนที่จะเดินทางไปไต้หวันในช่วงปลายปีนี้ เป็นต้น

 

ต้องยอมรับว่า ผลสืบเนื่องที่ตามมาอย่างชัดเจนคือ ความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่ที่ทรุดตัวลง และถือเป็นความน่ากังวลคู่ขนาน เมื่อต้องพิจารณารวมกับสถานการณ์สงครามยูเครนที่ดำเนินมามากกว่า 5 เดือนแล้ว และยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติลง ซึ่งหลายฝ่ายได้แต่หวังว่า วิกฤตชุดนี้ในอนาคตจะไม่ขยายตัวเป็น "สงครามช่องแคบไต้หวัน"

 

แต่สิ่งที่เป็นจริงในวันนี้ก็คือ สถานการณ์ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันยกระดับสูงขึ้น หรือ "ร้อนขึ้น" และสิ่งที่ตามมากับสถานการณ์เช่นนี้อีกประการคือ "ความเชื่อมั่น " ระหว่างประเทศทั้งสองได้หายไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการฟื้นฟูความเชื่อมั่นดังกล่าวอาจจะไม่ง่ายนักทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

 

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบโดยตรงกับการเมืองในภูมิภาคเอเชียโดยตรง และทำให้การแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่ในเวทีภูมิภาคมีความเข้มข้นมากขึ้น และอาจต้องถือว่า "สงครามเย็นใหม่" ได้ค่อยๆ เริ่มขึ้นในเอเชียอย่างชัดเจนแล้ว!

 

ดังนั้น ผู้นำประเทศเล็กๆ ในเอเชียจึงต้องพึงสังวรณ์กับโจทย์การเมืองระหว่างประเทศชุดนี้เป็นอย่างยิ่ง!