ผลสืบเนื่องจากการเดินทางเยือนไต้หวันของประธานรัฐสภาอเมริกัน "แนนซี เพโลซี" คือการเปิดการซ้อมรบด้วยอาวุธจริงของกองทัพจีนในวันพฤหัสบดีที่ 4 ที่ผ่านมา อันเป็นการซ้อมรบใหญ่ที่สุดที่เกิดในพื้นที่ของช่องแคบไต้หวันและเป็นการส่งสัญญาณชุดใหญ่ของความไม่พอใจที่จีนมีต่อสหรัฐโดยมีไต้หวันเป็นจุดศูนย์กลางของความไม่พอใจครั้งนี้
จนหลายฝ่ายเกิดความกังวลว่าการซ้อมรบนี้จะขยายตัวเป็นความรุนแรงใหญ่ในอนาคตหรือไม่ และความกังวลอีกประการคือในที่สุดแล้วการซ้อมรบครั้งนี้จะนำไปสู่สถานการณ์ "การปิดล้อมไต้หวัน" หรือไม่
การซ้อมรบด้วยกระสุนจริงครั้งนี้ เป็นการใช้กำลังจากกองทัพประชาชนทั้งสามเหล่าและยังสำแดงกำลังด้วยการใช้หน่วยยกพลขึ้นบก ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณโดยตรงถึงการเตรียมการยกพลขึ้นบกยึดหัวหาดของไต้หวัน และยังตามมาด้วยการซ้อมยิงขีปนาวุธ
ที่มีรายงานว่าขีปนาวุธดังกล่าวตกลงในทะเลทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันตกเฉียงใต้ของไต้หวันซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และทำให้ทางการญี่ปุ่นต้องประท้วง
เนื่องจากขีปนาวุธดังกล่าวตกลงในพื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น ว่าที่จริงแล้ว จีนได้ซ้อมรบในช่องแคบไต้หวันมาอย่างต่อเนื่อง แต่การซ้อมรบในช่วงที่ผ่านมาไม่มีขนาดใหญ่เท่าปัจจุบัน และรัฐบาลจีนยืนยันว่า จะดำเนินการเช่นนี้ต่อไป
แม้จะมีแถลงการณ์ของกลุ่ม จี-7 และกลุ่มอาเซียน ที่เรียกร้องให้หาทางในการแก้ปัญหาอย่างสันติ ในทางกลับกัน ทางการจีนได้ออกประกาศว่า ห้ามเรือและอากาศยานเข้าไปในพื้นที่การซ้อมรบทั้ง 7 เขต(ซึ่งแต่เดิมประกาศเพียง 6 เขต) และถ้ามีการฝ่าฝืน อาจจะถูกยิงได้ซึ่งการประกาศเช่นนี้ย่อมจะส่งผลต่อสิทธิในการเดินเรือและเดินอากาศอย่างเสรี โดยเฉพาะสายการบินระหว่างประเทศที่จะเดินทางไปยังไต้หวัน อาจจะไม่สามารถทำการบินได้ตามปกติ
ในมุมมองของฝ่ายตะวันตกนั้น ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า การซ้อมรบครั้งนี้คือ การยกระดับความขัดแย้งโดยตรง เพราะเป็นเสมือนดัง "การปิดล้อมไต้หวัน" ด้วยการห้ามเรือและอากาศยานผ่านเข้าออก
อีกทั้งการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงนั้น มีโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดได้ง่าย เช่น กระสุนปืนใหญ่หรืออาวุธยิงระยะไกล อันส่งผลให้เกิดความกังวลว่าความผิดพลาดดังกล่าวอาจจะนำไปสู่สงครามใหญ่ได้โดยไม่ตั้งใจ หรือที่เป็นสงครามที่เกิดจากความไม่ตั้งใจและพารัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าสู่สถานการณ์สงครามอย่างไม่คาดคิด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงการเดินทางเยือนไต้หวันของประธานรัฐสภาอเมริกันและรวมถึงในช่วงของการซ้อมรบใหญ่นั้น จีนได้ดำเนินการ "โจมตีนอกแบบ" อีก 3 ส่วนต่อไต้หวัน คือ
การกดดันทางการทูต การแซงชั่นทางเศรษฐกิจ และการโจมตีทางไซเบอร์
ถ้าจะกล่าวว่าการซ้อมรบของจีนในช่องแคบไต้หวันไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประชาชนที่นั่นแต่อย่างใดเพราะจีนใช้การซ้อมรบเป็นปัจจัยกดดันไต้หวันมาอย่างต่อเนื่องแต่การเปิดการซ้อมรบใหญ่และการโจมตีนอกระบบคู่ขนานกันพร้อมกันนั้น ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหม่
นอกจากนี้ การซ้อมรบเช่นนี้ย่อมทำให้ถูกตีความว่า สิ่งที่เห็นทั้งหมดนี้คือแนวทางการบุกยึดไต้หวันด้วยการใช้กำลังทหารขนาดใหญ่ เพราะการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงก็คือ
การทำให้แผนสงครามมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุดและการดำเนินการปิดล้อมพื้นที่ทางทะเลและทางอากาศรอบตัวเกาะไต้หวันคือตัวแบบของการเตรียมแผนสงครามในการบุกไต้หวันด้วยการปิดพื้นที่
แต่การบุกไต้หวันอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะไต้หวันอยู่ในภาวะที่ต้องเตรียมตัวรับภัยจากการโจมตีทางทหารของจีนตลอดเวลา
กล่าวกันว่าสถานการณ์ของไต้หวันมี 2 แบบ คือ สถานการณ์ปกติ และสถานการณ์สงคราม ภาวะเช่นนี้ส่งผลให้ตลอดช่วงระยะเวลายาวๆ ที่ผ่านมา ไต้หวันให้ความสำคัญกับการพัฒนากองทัพอย่างมาก
กองทัพไต้หวันจึงเป็นกองทัพในระดับชั้นนำกองทัพหนึ่งของเอเชีย แม้ว่าโดยเปรียบเทียบแล้วจีนมีกองทัพที่ใหญ่กว่าไต้หวันมาก ซึ่งไม่ต่างจากสงครามยูเครนที่กองทัพรัสเซียมีขนาดใหญ่กว่ากองทัพยูเครนอย่างมาก แต่สงครามในยุคปัจจุบันไม่ได้ตัดสินด้วยการมีกองทัพใหญ่แต่เพียงประการเดียว
สงครามยูเครนเป็นคำตอบถึงมิติอื่นๆ ในการสงคราม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบพันธมิตร สถานะทางเศรษฐกิจ และการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศ
ฉะนั้น จนวันนี้เป็นเวลามากกว่า 5 เดือนแล้ว ยูเครนยังไม่แพ้ และหากมองในอีกมุมหนึ่ง อาจจะต้องกล่าวว่า รัสเซียต่างหากเข้าไป "ติดกับดักสงคราม" จนส่งผลกระทบอย่างมากทั้งต่อการเมืองและเศรษฐกิจของรัสเซียเองแต่สิ่งที่จะใช้หล่อเลี้ยงสงครามยูเครนได้ ก็คือ การปลุกกระแสชาตินิยมและการสร้างวาทกรรมเชิดชูสงครามในบ้าน ซึ่งสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นในจีนเช่นเดียวกัน
ดังนั้น พื้นที่ช่องแคบไต้หวันจึงเป็นจุดเปราะบางของสถานการณ์ความมั่นคงของเอเชียเป็นอย่างยิ่ง