svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

การเมืองไทย :ความอัปลักษณ์และความหวังกรณีรัฐธรรมนูญ โดย "โคทม อารียา"

30 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เสียงสะท้อนจากอดีตกกต. หนึ่งเสียงที่พุ่งตรงไปที่รัฐสภากับการแก้กม.ประกอบรธน. ว่าด้วยการเลือกตั้ง จากสูตรหาร 100 มาเป็นสูตรหาร 500 สุดท้ายแล้วผู้ที่สืบทอดอำนาจมาก็อยากสืบทอดต่อไป ด้วยกลลวง และการ "เล่นเกมล้ม ต้มคนดู" ติดตามเจาะประเด็นได้จาก" โคทม อารียา"

 

การเมืองในประเทศต่าง ๆ มีทั้งที่พอเป็นความหวังแก่ประชาชน และมีด้านอัปลักษณ์ของการแสวงหาอำนาจโดยบางทีก็อ้าง บางทีก็ไม่อ้างประชาชน ตัวอย่างเช่น ในประเทศตูนีเซีย ประธานาธิบดีทำ "รัฐประหารเงียบ" ยุบสภาและคณะรัฐมนตรี และเพิ่งจัดให้มีการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจแก่ประธานาธิบดี คล้ายกับให้ความชอบธรรมแก่การทำรัฐประหารเงียบดังกล่าว ปรากฏว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์ประมาณ 27 % ในจำนวนนี้ มีผู้เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญกว่า 90 % ขณะที่ฝ่ายค้านที่คว่ำบาตรการลงประชามติกล่าวหา กกต. ของตูนีเซียว่าไม่สุจริตและเที่ยงธรรม 

 

การเมืองไทย :ความอัปลักษณ์และความหวังกรณีรัฐธรรมนูญ โดย "โคทม อารียา"

 

ทหารเมียนมาทำรัฐประหารหลังจากที่ประชาชนลงคะแนนเลือกผู้สมัครพรรคสันนิบาตแห่งชาติ (NLD) ที่มี"นางอองซาน ซูจี"เป็นผู้นำ ให้ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น แต่ทหารไม่สนใจ ยึดอำนาจเฉยเลย หลังรัฐประหารใหม่ ๆ ทหารประกาศจะจัดให้มีการเลือกตั้งที่สุจริตกว่าการเลือกตั้งที่ตัวเองล้มล้างไปแล้วภายใน 1 ปี แล้วต่อมาขอขยายเวลาไปเป็น 2 ปี ขณะเดียวกัน ก็ดำเนินคดีกับ"นางอองซาน ซูจี" นับสิบคดี แล้วมีข่าวว่าได้นำตัวไปขังเดี่ยวในเรือนจำแห่งหนึ่ง ระหว่างนั้น ผู้นำรัฐประหารได้ไปประชุมร่วมกับผู้นำประเทศอาเซียน และมีการประกาศฉันทามติร่วมกัน 5 ข้อ มาบัดนี้ เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนก็จะครบ 2 ปีของการรัฐประหารแล้ว ไม่มีวี่แววว่าจะคืนอำนาจให้แก่ประชาชน ไม่มีวี่แววว่าจะทำตามฉันทามติ 5 ข้อ ที่ให้ไว้แก่ประเทศอาเซียน ซ้ำร้าย เพิ่งนำนักเคลื่อนไหวที่เป็นนักโทษการเมือง 4 คนไปประหารชีวิตในข้อหาก่อการร้าย

 

นักรัฐประหารประเทศไทยก็มีด้านอัปลักษณ์ในทำนองเดียวกัน เพียงแต่อาจทำได้แนบเนียนกว่า ใช้อำนาจรัฐดลบันดาลความชอบธรรมโดยอาศัยกฎหมายและศาลรัฐธรรมนูญได้นุ่มนวลกว่า รวมทั้งเดินหมากทางการเมืองได้อย่างถูกจริตฝ่ายอนุรักษ์และดึงดูดนักการเมืองที่แสวงอำนาจได้ดีกว่า ส่วนเรื่องวาจาที่เป็นเท็จก็สามารถกลบเกลื่อนได้โดยอาศัยปากเสียงของคนที่เอาใจช่วยหรือคนที่สมประโยชน์ อย่างไรก็ดี ผมยังมีความหวังอยู่ว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป ประชาชนที่เห็นความฉ้อฉลของผู้กระหายอำนาจ จะปฏิเสธคณะรัฐประหารและเหล่าบริวารที่คอยค้ำจุนและขอแบ่งปันประโยชน์จากพวกเขาอยู่

 

การเมืองไทย :ความอัปลักษณ์และความหวังกรณีรัฐธรรมนูญ โดย "โคทม อารียา"

 

ตัวอย่างของความอัปลักษณ์ตัวอย่างหนึ่งคือ "นโยบายเร่งด่วน" ของรัฐบาลที่แจ้งต่อรัฐสภาก่อนที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินว่า จะดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมถึง มาตรา 256 ที่อยู่ในหมวดการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ข้อความที่ผมจะเขียนต่อไปในประเด็นนี้ ขอยอมรับว่ารีบเขียนด้วยความขุ่นเคืองใจ จึงละเลยที่จะตรวจสอบความแม่นตรงในรายละเอียดที่มักไม่เป็นที่สนใจอยู่แล้ว ผมเพียงแต่ต้องการเขียนเพื่อเล่าภาพรวมให้เห็นเล่ห์เหลี่ยมการถ่วงเวลาและการหักเหทิศทางที่เกิดขึ้นเมื่อผู้มีอำนาจเล็งเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น จะคุกคามฐานอำนาจของตน โดยผู้มีอำนาจสามารถทำไขสือหรืออธิบายเรื่องราวแบบเนียน ๆ ได้เสมอ


รัฐสภาประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งรัฐบาลกุมเสียงข้างมากของ ส.ส. และมีอิทธิพลต่อ ส.ว. ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร รัฐสภาจึงไม่ค่อยเห็นต่างจากรัฐบาล กล่าวโดยเฉพาะในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการมาศึกษาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเปิดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนหลากหลายกลุ่ม แล้วจัดทำรายงานว่าควรแก้ไขมาตรา 256 พร้อมทั้งเพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้ด้วย

 

การเมืองไทย :ความอัปลักษณ์และความหวังกรณีรัฐธรรมนูญ โดย "โคทม อารียา"

 

ต่อมา รัฐสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการมายกร่างญัตติแก้ไขเพิ่มเติมตามผลของการศึกษา ญัตติดังกล่าวเสนอว่า ผู้ที่จะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง


ญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาและผ่านวาระที่หนึ่งแล้ว ก็ดำเนินการตามปกติ คือ มีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาการแปรญัตติต่าง ๆ แล้วเสนอเข้ารัฐสภาในวาระที่สอง ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมาก หลังจากนั้น รัฐสภาจะมีการลงมติเห็นชอบร่างที่ผ่านวาระที่สองแล้วภายหลัง 15 วัน

 

ในช่วงเวลา 15 วันที่สำคัญนี้ ฝ่ายผู้มีอำนาจเกิดไหวตัวว่าถ้ามีการเลือกตั้ง สสร. จะเป็นการตั้งต้นใหม่ (reset) ระบบการเมืองไทยหรือไม่ แล้วฝ่ายตนจะไปต่ออย่างไร สถานการณ์ดูไม่น่าไว้วางใจ จึง "บังเอิญ" มี ส.ส. คนหนึ่งคิดว่าน่าจะรวบรวมพรรคพวกเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ต่อมาในเรื่องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจเช่นนั้น เพียงแต่ต้องสถาปนาอำนาจดังกล่าวโดยขอให้ถามประชาชนผ่านการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่

 

เมื่อทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีความเห็นจากสมาชิกรัฐสภาส่วนหนึ่ง ขอให้รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระสองแล้วได้เลย เพราะร่างดังกล่าวต้องไปผ่านการลงประชามติอยู่ดีตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ แต่เสียงส่วนใหญ่ตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าให้ทำประชามติก่อนเริ่มเสนอร่างเข้าสู่สภา

 

ดังนั้น ในวาระที่สามรัฐสภาจึงลงมติไม่รับร่างที่ผ่านวาระที่สอง แปลว่าความพยายามหลายปีที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และการเพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องพักยกลงเช่นนี้
แต่ยังมีโอกาสอยู่ คราวนี้พรรคการเมืองหลายพรรครวมทั้งพรรครัฐบาล ได้เสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจำนวน 13 ฉบับ

 

แต่รัฐสภา โดยเสียงของวุฒิสภาเป็นหลัก ได้ปฏิเสธญัตติ 12 ญัตติ เห็นชอบญัตติที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์เพียงญัตติเดียวที่ขอให้แก้ระบบการเลือกตั้งจากระบบที่มี ส.ส. สองประเภท (ที่เรียกกันว่าระบบผสม) และเป็นระบบสัดส่วน ซึ่งในระบบนี้ จำนวน ส.ส. เขต + ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคพรรคหนึ่ง เป็นสัดส่วนกับคะแนนที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ (จากคะแนนรวมทั้งประเทศของผู้สมัคร ส.ส. เขตของพรรคนั้น) จำนวน ส.ส. เขต + ส.ส. บัญชีรายชื่อดังกล่าวเรียกว่า ส.ส. พึงมี ที่คำนวณได้จากการนำคะแนนทั้งประเทศมารวมกันแล้วหารด้วย 500 (ซึ่งเป็นจำนวนรวมของ ส.ส. ทั้งสภา) ได้เป็นคะแนนที่เทียบเป็น ส.ส. พึงมี 1 คน (เรียกว่า โควตา) เมื่อเอาคะแนนทั้งประเทศของพรรคหนึ่งมาหารด้วยโควตาก็จะได้จำนวน ส.ส. พึงมีของพรรคนั้น

การเมืองไทย :ความอัปลักษณ์และความหวังกรณีรัฐธรรมนูญ โดย "โคทม อารียา"

ญัตติของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านรัฐสภาในวาระหนึ่ง ขอแก้ไขระบบเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ 2560 จากระบบผสมแบบสัดส่วน (Mixed-Members Proportional - MMP System) หรือที่เรียกกันว่าระบบแบ่งสันปันส่วนผสม โดยเปลี่ยนกลับมาใช้ระบบผสมแบบคู่ขนาน (Mixed-Members Parallel System) ที่เคยใช้ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ในระบบผสมแบบคู่ขนาน จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อแยกกันหรือเป็นคู่ขนานกันกับจำนวน ส.ส. เขต โดยมีบัตรเลือกตั้งสองใบ ใบหนึ่งลงคะแนนให้ผู้สมัคร ส.ส. เขต อีกใบหนึ่งลงคะแนนให้พรรคการเมืองที่ตนชอบ การคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อให้ทำตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2564 ดังนี้


"มาตรา 91 การคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้ง ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศแล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรคการเมือง เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวมข้างต้น ..."
    

อ่านแล้วได้ความว่า ให้ใช้บัญญัติไตรยางค์ธรรมดา คือ  เอาคะแนนของพรรคการเมืองมาหารด้วยจำนวนรวมของ ส.ส. บัญชีรายชื่อ (100 คน) ผลหารเรียกว่าโควตา ซึ่งเทียบเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อพึงมี 1 คน เมื่อเอาโควตาไปหารคะแนนรวมของพรรคการเมืองหนึ่ง ก็จะได้จำนวน ส.ส. พึงมีของพรรคนั้น กล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ เนื่องจากมี ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคเท่ากับจำนวนร้อยละ (%) ของคะแนนของพรรค ก็ง่ายดี เคยใช้มาแล้ว และไม่มีปัญหาใด ๆ ในการคำนวณ (ไม่เหมือนการคำนวณในระบบ MMP เมื่อปี 2562 ซึ่งมีข้อโต้แย้งว่า ทำไมพรรคที่ได้คะแนนต่ำ บางพรรคได้ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของโควตาจึงได้รับการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อ เป็นต้น) 

 

ในคราวที่รัฐสภาจะลงคะแนนร่างกฎหมายเลือกตั้งในวาระสอง ก็เกิดการหักเหหรือพลิกล็อกขึ้นจนได้ ก่อนหน้านั้น มีข่าวที่ไม่ได้รับการยืนยันว่า หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งหนึ่ง นายกรัฐมนตรีเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลไปปรึกษาหารือ พร้อมทั้งขอให้ลงคะแนนสนับสนุน"สูตรการหารด้วย 500" ที่เป็นญัตติที่เสนอโดยกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ข่าวบอกว่าหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐอิดออดแต่ในที่สุดก็ยอม

 

ขณะเดียวกันก็มีข่าวการส่งสัญญาณ (ส่งซิก) ให้ ส.ว. สนับสนุนสูตรหาร 500 และแล้วปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น รัฐสภาลงคะแนนรับ"สูตรหาร 500" ซึ่งเท่ากับการกลับไปใช้ระบบผสมแบบสัดส่วน (MMP) ดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น ทั้ง ๆ ที่ กกต. ก็ดี ญัตติเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ก็ดี ต่างเสนอให้ใช้ระบบคู่ขนาน (คือหารด้วย 100) ไม่มีการอธิบายให้ชัดเจนว่าทำไมจึงเปลี่ยนใจกลับมาใช้ระบบ MMP มีเพียงการให้สัมภาษณ์ถากถางว่าพรรคเพื่อไทยคุยโวเร็วไปหน่อยว่าจะชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลายถ้าใช้ระบบคู่ขนาน แปลว่าฝันเร็วไปเลยโดนแก้เผ็ดใช่ไหม

 

การสกัดพรรคเพื่อไทยนั่นก็อาจเป็นเหตุผลหนึ่ง อีกเหตุผลหนึ่งคือการเอาใจพรรคเล็ก ๆ ที่กลัวว่าจะสูญพันธุ์ถ้าจะใช้ระบบผสมแบบคู่ขนาน เลยมาต่อรองกับรัฐบาลก่อนสภาผู้แทนราษฎรจะลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 11 คน

 

แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายเลือกตั้งก็ต้องรับมติรัฐสภาไปแก้ไขร่างโดยใช้"สูตรหาร 500" ซึ่งตามข่าวคณะกรรมาธิการได้แก้ไขร่างเรียบร้อยแล้ว จะเสนอเข้าสู่รัฐสภาในวันที่ 2 สิงหาคม 2565

 

"สูตรหาร 500" ที่คาดว่าจะผ่านวาระสองนั้น จะต้องรออย่างน้อย 15 วัน ก่อนที่รัฐสภาจะลงมติในวาระสามต่อไป หลังจากนั้น สภาจะส่งเรื่องไปถาม กกต. ว่า สามารถปฏิบัติตามร่างกฎหมายเลือกตั้งที่ผ่านวาระสามได้โดยจะมีอุปสรรคประการใดหรือไม่

 

น่าสังเกตว่าการมี ส.ส. บัญชีรายชื่อเพียงหนึ่งในสี่ของ ส.ส. เขต อาจทำให้เกิดกรณีความยุ่งยากในการคำนวณ ส.ส. เขต + ส.ส. บัญชีรายชื่อให้ได้ตามสัดส่วน เพราะในกรณีมี ส.ส. บัญชีรายชื่อจำนวนน้อย หากมี overhang หรือจำนวน ส.ส. เขตที่สูงกว่าจำนวน ส.ส. ที่พึงมีตามสัดส่วนหลายคน อาจเกิดความขลุกขลักในการคำนวณที่ยากแก่การอธิบายหรือไม่

 

หลังจากรับทราบความเห็นของ กกต. แล้ว รัฐสภาสามารถเดินหน้าต่อได้ไม่ว่า กกต. จะมีความเห็นอย่างไร ถ้าคล้อยตามกรณีมีคำทักท้วงจาก กกต. ก็อาจเป็นเหตุให้กลับมติไปใช้สูตรหาร 100 ก็ได้ การเดินหน้าด้วยสูตรหาร 500 ยังอาจเผชิญอุปสรรคอีกก็ได้ หากมีการเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า สูตรนี้ขัดกับมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมปี 2564 ที่ยกมาอ้างข้างต้นหรือไม่ ถ้าขัดก็ต้องว่ากันใหม่

 

เท่านั้นยังไม่พอ มีผู้สื่อข่าวรายงาน (โดยไม่มีการยืนยัน) ว่า ในการประชุม ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อเช้าวันที่ 23 กรกฎาคม หัวหน้าพรรคแจ้งว่าอาจจะกลับไปใช้บัตรใบเดียว เพราะได้คำนวณสูตรต่าง ๆ หมดแล้ว ถ้าใช้บัตรสองใบ ไม่ว่าจะใช้สูตรหาร 500 หรือ หาร 100 เห็นว่าบัตรใบเดียวเหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุด โดยยืนยันว่าการใช้บัตรใบเดียวจะทำได้ทันก่อนอายุรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ได้ชะลอการยื่นขอแก้ไขเป็นบัตรใบเดียวไปก่อน

 

พอมีข่าวว่าจะเสนอให้กลับไปใช้บัตรใบเดียว ก็มีปฏิกิริยาจาก ส.ส. พรรค พปชร. บางคนที่อยู่ในภาคอีสานและภาคเหนือว่าไม่เห็นด้วย เพราะกระแสของพรรค พปชร. ในทั้งสองภาคนี้สู้กระแสพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลไม่ได้ ทำให้เสี่ยงต่อการสอบตก เพราะกรณีบัตรใบเดียว ประชาชนมีตัวเลือกเดียว บัตรสองใบเพิ่มทางเลือกแก่ประชาชน คือเลือกผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งเป็นคนที่รัก แม้ไม่ชอบพรรคที่เขาสังกัด ก็ยังสามารถใช้บัตรอีกใบหนึ่งเลือกพรรคที่ชอบได้ ถ้าผู้สมัครคนหนึ่งมีฐานเสียงดีในเขตเลือกตั้งของตน แม้กระแสของพรรคที่สังกัดไม่แรงนัก ยังพอขอร้องให้แบ่งเสียงมาเลือกผู้สมัครคนนั้นได้ การใช้บัตรใบเดียวจะเอื้อแต่ ส.ส. พปชร. ในภาคใต้ เพราะเป็นภาคที่นายกรัฐมนตรีพอมีกระแสหรือความนิยมอยู่ 

 

อย่างไรก็ดี นพ. ระวี มาศฉมาดล ส.ส. พรรคพลังธรรมใหม่สนับสนุนบัตรใบเดียวโดยให้เหตุผลว่า พรรคเล็กสนับสนุนสูตรหาร 500 เพื่อสกัดเผด็จการรัฐสภา ถ้าใช้สูตรหาร 500 และใช้บัตรสองใบ จะสกัด ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยได้ 25-30 คน ถ้ากลับไปใช้บัตรใบเดียว จะสกัด ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยได้เพิ่ม พร้อมทั้งสกัด ส.ส. เขตของพรรคนี้ได้อีก 15 คน รวมแล้วสูตรหาร 500 และบัตรใบเดียว จะสกัด ส.ส. พรรคเพื่อไทยได้ 40 – 50 คน
    

ขณะเดียวกัน ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลหลายคนอาจไม่เห็นด้วยกับการหวนกลับไปใช้บัตรใบเดียว เหตุผลง่าย ๆ คือ เพิ่งแก้รัฐธรรมนูญมาใช้บัตรสองใบหยก ๆ และยังไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย การเปลี่ยนใจกลับไปใช้บัตรใบเดียว เหมือนกับการเดินทางไกลที่วนกลับมาอยู่ที่เดิม เป็นการเสียเวลาประเทศชาติ ส่วนนายสมศักดิ์ เทพสุทินที่เคยกล่าวสนับสนุนสูตรหาร 100 ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า การใช้สูตรหาร 100 หรือหาร 500 ขึ้นอยู่กับส.ส. พรรค พปชร. และพรรคร่วมรัฐบาล ในความเห็นของตน ขอให้ใช้ระบบที่เป็นธรรมแก่ทุกพรรค และสอดคล้องกับกติกาสากล ส่วนการกลับไปใช้บัตรใบเดียวนั้น เท่าที่ฟังล่าสุด ส.ส. หลายพรรคไม่ต้องการกลับไปใช้บัตรใบเดียว
    

ถ้ากลับไปใช้บัตรใบเดียวและยืนยันการใช้สูตรหาร 500 ก็เท่ากับว่าแทบไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เว้นแต่มีการเพิ่ม ส.ส. เขตจาก 350 คน เป็น 400 คน และลด ส.ส. บัญชีรายชื่อจาก 150 คน เหลือ 100 คนเท่านั้น คนที่พยายามอย่างเอาจริงเอาจังที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งรวมทั้งผมด้วยย่อมรู้สึกขัดเคืองใจ เพราะเห็นว่าเขาเล่นเกมมาตลอด หลอกล่อว่าจะแก้ขนานใหญ่ โดยทำทีว่ายอมให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง สุดท้ายแล้วผู้ที่สืบทอดอำนาจมาก็อยากสืบทอดต่อไป ด้วยกลลวง และการ "เล่นเกมล้ม ต้มคนดู"ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายให้แน่ใจว่าอำนาจไม่เปลี่ยนมือ
    

เมื่อพูดถึงความอัปลักษณ์แล้ว ก็อยากพูดถึงความหวังของผมบ้าง ดังนี้

 

1)   ผมหวังว่า กกต. จะออกระเบียบตามกฎหมายประชามติในเร็ว ๆ นี้ เพื่อเปิดทางให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน สามารถเข้าชื่อกันเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายประชามติและตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยถามประชาชนว่า “เห็นด้วยกับการสถาปนาอำนาจของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดย สสร. ที่มาจาการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่”

 

2)   ในขณะที่ กกต. ยังไม่มีการออกระเบียบดังกล่าว หวังว่า กกต. จะอนุโลมให้ใช้ระเบียบว่าด้วยการเข้าชื่อกันเสนอกฎหมายกับกรณีตามข้อ 1) ไปพลางก่อน

 

3)   เมื่อมีการรวบรวมรายชื่อผู้เห็นด้วยกับการทำประชามติให้มี สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เกินกว่าห้าหมื่นคนแล้ว หวังว่าคณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบที่จะจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามคำถามที่เขียนในข้อ 1)

 

4)   ภายในช่วงเวลาระหว่าง 90 ถึง 120 วันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามข้อ 3) หวังว่า กกต. จะสามารถจัดให้มีการลงประชามติโดยเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นและแสดงเหตุผลว่าเพราะอะไรจึงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำถามของการลงประชามติตามข้อ 1) หากสามารถถกแถลงในเรื่องรายละเอียดของการเลือกตั้ง สสร. และวิธีการทำงานของ สสร. ด้วยก็จะดี เพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐสภาที่จะออกกฎหมายในเรื่องนี้ต่อไป

 

5)   ขอเสนอให้ กกต. จัดการออกเสียงประชามติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันเดียวกับวันลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป ทั้งนี้เพื่อประหยัดงบประมาณ โดยกฎหมายประชามติได้เปิดช่องทางให้คณะรัฐมนตรี ขยับวันลงประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ หากมีเหตุผล เช่นเหตุผลทางการเงิน

 

6)   หวังว่าในการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป พรรคการเมืองจะแสดงนโยบายเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างชัดเจน เพื่อประกอบการพิจารณาของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้น ๆ

 

7)   หวังว่าในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึง เราจะได้เตรียมตัวกันอย่างดี ทั้งพรรคการเมือง กกต. และผู้มีจิตอาสาทางการเมือง หวังว่าจะมีอาสาสมัครจำนวนมากที่จะมาทำหน้าที่สอดส่องดูแลการเลือกตั้ง และหลายคนจะสามารถใช้ application ในการรายงานผลการสอดส่องดูแล ตั้งแต่ช่วงหาเสียง ในวันเลือกตั้ง และในการนับคะแนนและประมวลผลคะแนน ถ้าทุกคนช่วยกัน การเลือกตั้งจะสะท้อนเสียงของประชาชนได้อย่างสุจริตและเที่ยงธรรม  

 

8)  หวังว่าผู้อ่านบทความนี้จะมีความหวังเช่นเดียวกับผม เพื่อจะได้ช่วยกันขับเคลื่อนการเมืองไทย ให้ไปไกลจากความอัปลักษณ์ สู่ความซื่อตรงและเที่ยงธรรม อันเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างและหลากหลาย อย่างสงบสุขและมีศักดิ์ศรี
 

logoline