svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

เก็งข้อสอบ ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 รัฐมนตรี ปฏิบัติการเด็ดหัวสอยนั่งร้าน

15 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 รมต.ให้กับชวน หลีกภัย ประธานสภา เมื่อเปิดแฟ้มออกมาเต็มไปด้วยวาทกรรมสร้างข้อกล่าวหาชนิดเชือดเฉือน รุนแรง แม้เนื้อหาญัตติเขียนไว้อย่างกว้างๆ หากเจียระไนลงไปจะพบประเด็นกล่าวหา รมต.แต่ละรายอย่างมีนัยสำคัญ

 

รัฐธรรมนูญมาตรา 151 กำหนดให้ฝ่ายค้านสามารถยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี  ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติต่อประธานสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้สภาจะมีการตรวจร่างญัตติ ก่อนที่จะกำหนดวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ   

 

แน่นอนว่า เมื่อฝ่ายค้านมีการยื่นญัตติ นั่นหมายความว่า  พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ไม่สามารถยุบสภาได้  เรียกได้ว่า ต้องเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานรัฐบาลผ่านกลไกในสภาก่อน  

 

เก็งข้อสอบ ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 รัฐมนตรี ปฏิบัติการเด็ดหัวสอยนั่งร้าน

 

จากนี้เป็นห้วงเวลาที่ฝ่ายค้านจะได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานความไม่ชอบมาพากลในการบริหารงานของรัฐมนตรีนำมาอภิปรายเพื่อให้สาธารณชนได้ติดตาม ตรวจสอบไปด้วยกัน  เช่นเดียวกับฝ่ายบริหาร ก็ต้องเตรียมข้อมูลชี้แจงหักล้างข้อกล่าวหาของฝ่ายค้าน ก่อนที่จะนำไปสู่การลงมติให้ความไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายนั้นๆ หรือไม่ 

 

 

 

นับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ถูกฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรวมถึงครั้งนี้ด้วยเป็นจำนวนสี่ครั้ง  ที่ผ่านมา นายกฯ และรมต.ที่ถูกยื่นอภิปรายก็สามารถผ่านการลงมติให้ความไว้วางใจ อาจมีจำนวนเสียงสนับสนุนที่แตกต่างกันบ้างเล็กน้อย ตามกลเกมทางการเมืองที่มักมีการเจรจาต่อรองให้การสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนก่อนลงมติทุกครั้ง เพราะนั่นคือ "การเมืองแบบไทยๆ"

 

แต่สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 4 มีความน่าสนใจกว่าทุกครั้ง เนื่องจากเป็นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในช่วงวาระการทำงานของนายกฯใกล้สิ้นสุดลง เพื่อให้มีจัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่  จึงเป็นโอกาสของฝ่ายค้านในการทำหน้าที่ตรวจสอบ เพื่อหวังผลสร้างความนิยมในการลงสนามเลือกตั้ง ทำนองเดียวกันก็เป็นโอกาสของฝ่ายบริหารจะได้ชี้แจงหักล้างข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านออกสู่สาธารณชน ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์โปร่งใส  ฉะนั้นจึงอยู่ที่แต่ละฝ่ายจะมีข้อมูลให้ประชาชนเชื่อถือขนาดไหน 

 

ความน่าสนใจการซักฟอกครั้งนี้อีกประการ คือ การลงคะแนนญัตติ ของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าจำนวนเสียงของรัฐบาลอยู่ในลักษณะไม่มั่นคงสักเท่าไหร่นัก เนื่องจากเกิดปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะกรณีที่นายกฯ สั่งให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า  พ้นจากตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากตำแหน่ง รมช.แรงงาน โดย ร.อ.ธรรมนัส ได้มีการเคลื่อนไหวยกคณะออกไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย  รวมถึงกลุ่มพรรคเล็ก ที่พยายามสร้างอำนาจต่อรองในการโหวตเรื่องสำคัญ ซึ่งในทางการเมืองหากแกนนำรัฐบาลไม่สามารถเจรจาต่อรองได้เป็นผลสำเร็จ ก็ย่อมทำให้การลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรมต.รอบนี้ ชวนระทึกอีกครั้ง 

 

 

คราวนี้เมื่อลงไปที่เนื้อหาของญัตติอภิปราย โดยรอบนี้ฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ รมต.  11 ราย มีการเขียนบรรยายข้อกล่าวหายาวเหยียดจำนวนหลายหน้า เรียงร้อยถ้อยคำเชือดเฉือนรุนแรง ซึ่งแน่นอนประเด็นสำคัญของการอภิปรายจะไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนแต่เป็นการเขียนแบบกว้างๆ วนเวียนซ้ำเดิมอยู่กับการกระทำทุจริต ใช้อำนาจโดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง ไม่มีความรู้ บริหารงานบกพร่องล้มเหลว เป็นต้น 

 

แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเนื้อหาที่เขียนแบบกว้างๆ นั้น ก็จะพบประเด็นอภิปรายที่ถูกซ่อนไว้อยู่บ้าง จึงขอสรุปให้เห็นจุดที่ฝ่ายค้านจะอภิปรายไว้ดังนี้ 

 

เก็งข้อสอบ ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 รัฐมนตรี ปฏิบัติการเด็ดหัวสอยนั่งร้าน

 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม    

-แปดปีบริหารผิดพลาดล้มเหลว 
-ประชาชนในชาติแตกแยก
-ปัญหาทุจริตมีสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
-ก่อหนี้มหาศาล  

-ปิดปากประชาชนและปิดกั้นเสรีภาพสื่อฯ 
-ใช้งบฯ จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์โดยไม่จำเป็นสวนทางภาวะเศรษฐกิจ 

 

 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 


-ละเลยให้มีการทุจริตในองค์กรหรือหน่วยงานในกำกับดูแล 
-แสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองและพวกพ้อง
-ปล่อยให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น
-ใช้อำนาจขัดต่อรธน. ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง

 

เก็งข้อสอบ ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 รัฐมนตรี ปฏิบัติการเด็ดหัวสอยนั่งร้าน

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข    


-ไม่ซื่อสัตย์ ไร้คุณธรรมจริยธรรม 
-ดึง ส.ส.พรรคอื่นเข้าสังกัดกลุ่มการเมืองของตน
-บริหารราชการของกระทรวงสาธารณสุขผิดพลาด  
 -ใช้งบประมาณแผ่นดินเกินความจำเป็นไม่เกิดประโยชน์
-จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ

 

เก็งข้อสอบ ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 รัฐมนตรี ปฏิบัติการเด็ดหัวสอยนั่งร้าน
 
 

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 


-จงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ           
-มุ่งสร้างความมั่งคั่งในตำแหน่งหน้าที่ 
-ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ 

 

พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 


- บริหารราชการแผ่นดินผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง           
-ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตของหน่วยงานในกำกับดูแล

 

เก็งข้อสอบ ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 รัฐมนตรี ปฏิบัติการเด็ดหัวสอยนั่งร้าน

 

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 

 

-ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและพวกพ้อง
 -ใช้งบประมาณจำนวนมากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและประโยชน์สาธารณะ 
-ไม่ดูแลให้เกิดการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม มีผลประโยชน์ทับซ้อน

-จงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติรธน.
-ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง


ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

 

-ขาดความรู้  เอาผิดแต่เฉพาะกับกลุ่มบุคคลนักเรียน นักศึกษาที่วิจารณ์รัฐบาล 
-มีพฤติการณ์จงใจใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัตรธน.
-มีความประพฤติเสื่อมเสียทางศีลธรรมอันดี 

 


เก็งข้อสอบ ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 รัฐมนตรี ปฏิบัติการเด็ดหัวสอยนั่งร้าน

 

จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 

-ไร้ความรู้ความสามารถดูแลงานด้านพัฒนาสังคม
-ปล่อยให้ประชาชนขาดไร้ซึ่งที่อยู่อาศัย 
-มุ่งแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองและพวกพ้อง 

 

สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 

 

-ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต
-แสวงหาประโยชน์ในหน่วยงานที่กำกับดูแล 
-ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
        
 

เก็งข้อสอบ ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 รัฐมนตรี ปฏิบัติการเด็ดหัวสอยนั่งร้าน

 

นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 

 

-รู้เห็น สนับสนุนให้มีการทุจริต
-แสวงหาผลประโยชน์ภายในหน่วยงานในกำกับดูแล

 

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 


-ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง 
-แสวงหาผลประโยชน์จากการนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ
- เอื้อประโยชน์ให้เอกชนรายใหญ่ในการใช้ประโยชน์จากแรงงานโดยผิดกฎหมาย 
-ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
         
 

หลังจากนี้จึงต้องติดตามการการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านในการตรวจสอบผ่านการอภิปราย และการชี้แจงของฝ่ายรัฐบาล

 

ผลลัพธ์ของการอภิปราย "ใครจะหมู่หรือจ่า"

logoline