svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"เทพา" ประตู่สู่จังหวัดชายแดนใต้ โดย สว. พลเดช ปิ่นประทีป

11 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มารู้จัก "ญาลันนันบารู ชุมชนสันติสุข ธรรมชาติบริสุทธิ์ ที่อำเภอเทพา" ความพยายามของผู้นำท้องถิ่น ชุมชน และภาคประชาสังคมที่นี่ต้องการคือกิจกรรม-โครงการพัฒนาบ้านเมืองของพวกเขาให้เป็น "ประตูสู่ชายแดนใต้" ติดตามได้จาก ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป

 

ในการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕ ของคณะกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา มีสมมติฐานตั้งต้นว่า "ระบบการศึกษาเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการเอาชนะความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพ"


คณะของเราได้พบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้นำทางศาสนา ในหลายแห่งที่ไปศึกษาดูงาน ซึ่งมีความรู้สึกที่ตรงกันว่า เป็นครั้งการตรวจเยี่ยมและศึกษาดูงานที่ได้รับความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานมาก

 

ขอบคุณภาพจาก  เพจ เกาะแลหนัง ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี

ที่บ้านเกาะแลหนัง หมู่ที่ ๓ ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา คณะของเราได้สัมผัสชุมชนที่สุขสงบ มีกลุ่มทางสังคมที่เข้มแข็ง ทั้งยังมีภูมิประเทศของ“เกาะแลหนัง”ที่มีธรรมชาติบริสุทธิ์สวยงาม ชาวบ้านและผู้นำมีความใฝ่ฝันที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับคุณภาพชีวิตของลูกหลาน
เมื่อปี ๒๕๔๗-๒๕๕๖

 

ที่นี่เป็นเขตพื้นที่สีแดงของสงขลา รอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ อำเภอจะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี  มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นตลอด จึงถูกประกาศเป็นพื้นที่กฎอัยการศึก ปัจจุบัน เหตุการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติ มีความสงบสุข รัฐบาลได้ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่นี้ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ คงเหลือกฎหมายพิเศษ คือ พ.ร.บ.ความมั่นคงที่ยังบังคับใช้ต่อเนื่องมาเพียงฉบับเดียว

 
ควรบันทึกไว้ว่าในช่วงหนึ่ง ที่นี่คือพื้นที่สีแดง มีเหตุการณ์ความไม่สงบรายวันเกิดขึ้นมากมาย ถึงขั้นผู้ก่อการเคยยกกำลังเข้าโจมตีค่ายทหารที่ตั้งมั่นอยู่ปากทางเข้ามาแล้ว ทั้งยังมีปัญหายาเสพติด ความยากจน และปัจจัยสาเหตุอื่นที่ซับซ้อน 

 

โดยเฉพาะ เหตุสลดที่สังคมจดจำ กรณีวัยรุ่นและเยาวชนพยายามเข้าโจมตีป้อมจุดตรวจกว่า ๑๐ แห่งทั่วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเหตุการณ์กรือเซะ ( ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗)  เมื่อทีมฟุตบอลเยาวชนในพื้นที่อำเภอเทพาพยายามก่อเหตุรุนแรง และถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมเสียชีวิตพร้อมกันถึง ๑๙ คน

 

จากการปรับยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีการทำงานแก้ปัญหาของ กอ.รมน.ภาค ๔ ภายใต้การนำของ พลโทอุดมชัย ธรรมสาโรรัตน์ (ยศแม่ทัพในขณะนั้น) ด้วยความร่วมมือสนับสนุนจาก ปปส.  ผู้นำชุมชนท้องถิ่น(นายมะนาวี มะ) และองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ (โต๊ะครูอับบาส  บินอิบรอฮีม)  ท่านได้ริเริ่มโครงการปอเนาะญาลันนันบารู เมื่อปี ๒๕๕๖ โดยใช้บ้านเกาะแลหนัง ตำบลปากบาง แห่งนี้เป็นที่ตั้งสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติดโดยใช้หลักชุมชนศาสนบำบัด ช่วยเหลือประชาชนและเยาวชน มาแล้วมากกว่า ๓,๐๐๐ คน สามารถคลี่คลายสถานการณ์ปัญหาต่างๆได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

ขอบคุณภาพจาก  เพจปอเนาะญาลันนันบารู

 

ชุมชนมีความเข้มแข็ง จัดการปัญหาและพัฒนาแบบพึ่งตนเองได้มากขึ้นมาตามลำดับ 


เป็นที่น่าสังเกตว่า แนวทางชุมชนศาสนบำบัดยาเสพติดของปอเนาะญาลันนันบารู (ดาหลาบารู) มีโครงสร้างและองค์ประกอบหลักสูตรหรือโปรแกรมในลักษณะ Active Learning หรือ จัดการศึกษาแบบฐานสมรรถนะ ประกอบด้วย สร้าง-ซ่อม-เสริม-รักษา ได้แก่ ๑) คัดกรอง และบำบัดฟื้นฟูอาการติดยาเสพติด ๔๐ วัน ๒) ประเมินและเข้าโปรแกรมพัฒนาความรู้ด้านศาสนา ๔ เดือน  ๓) ประเมินและเข้าโปรแกรมทักษะชีวิต ๔๐ วัน  ๔) ประเมินและเข้าโปรแกรมทักษะอาชีพ ๔๐ วัน


อย่างไรก็ตามในระยะหลัง  อาจยังคงมีเหตุร้ายเกิดขึ้นในพื้นที่บ้างแบบประปราย  จนบางครั้งทำให้การสนับสนุนจากทางราชการมีอาการสะดุด หรือเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ก็สามารถคลี่คลายได้ในที่สุด  

 

สิ่งที่ผู้นำท้องถิ่น ชุมชน และภาคประชาสังคมที่นี่ต้องการคือกิจกรรม-โครงการพัฒนาบ้านเมืองของพวกเขาให้เป็น "ประตูสู่ชายแดนใต้" ที่มีศักยภาพ  สร้างสรรค์พัฒนาเกาะแลหนังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นชุมชนปลอดภัย ชุมชนสะอาด ผู้คนน่ารัก ชุมชนสวยงามน่าอยู่น่ามาเยือน 


พวกเขามีไอเดียโครงการพัฒนารูปธรรมมากมาย ทั้งในเรื่องเกษตรอินทรีย์วิถีไทย  การขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา  Halal Healthy Land การจัดทำข้อมูลความต้องการและการบริโภคอาหารของชุมชน  การพัฒนาท่องเที่ยวธรรมชาติและวิถีชีวิตโดยชุมชน และการแปรรูปปาล์มน้ำมันด้วยนวัตกรรมโรงงานสะกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กของชุมชน


คณะกรรมาธิการฯและเครือข่ายประชาคม-ชุมชนท้องถิ่น มีความสนใจที่จะทำงานร่วมกันใน ๒ ลักษณะ 


๑.  โครงการเครือข่ายปฏิรูปการจัดการศึกษาเพื่อเอาชนะความยากจนในอำเภอเทพาและจังหวัดชายแดนภาคใต้


๒.  โครงการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนตำบลปากบาง ส่งเสริมเศรษฐกิจอำเภอเทพา ตามยุทธศาสตร์ประตูสู่ชายแดนใต้.       
 
 

logoline