svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

พลิกข้อกฎหมายชี้ชะตาวาระดำรงตำแหน่ง"นายกฯประยุทธ์"อยู่ครบ 8 ปีหรือไม่(2)

25 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง"นายกฯประยุทธ์ " อยู่ครบ 8 ปี เมื่อไหร่ จะเป็นมรสุมลูกใหญ่ที่ฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมาชำแหละถึงขั้นส่งเรื่องให้ศาลรธน.วินิจฉัย ทั้งนี้มีการพลิกข้อกฎหมายมาเทียบเคียงการนับวาระดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระอื่นอย่างน่าสนใจ

 

หมายเหตุ -  ดร.นิชานท์ สิงหพุทธางกูร อาจารย์จากสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  และ อาจารย์ธนันท์ เศรษฐพันธ์ นักวิชาการอิสระ ได้มีการทำข้อเสนอเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ของ"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ไว้อย่างน่าสนใจ "เนชั่นทีวี"ออนไลน์  จึงขอนำเสนอในตอนที่สอง 

 

ข้อเสนอเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่  ของ"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา"
 

อ่านเพิ่มเติม >>> 

ส่องมุมมองก่อนสู่สมรภูมิชี้ชะตา"นายกฯประยุทธ์" อยู่ครบวาระ 8 ปี หรือไม่ ( 1 )

 

พลิกข้อกฎหมายชี้ชะตาวาระดำรงตำแหน่ง"นายกฯประยุทธ์"อยู่ครบ 8 ปีหรือไม่(2)

ตอนที่ ๒ ประเพณีการนับระยะเวลาของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญในวาระเริ่มแรก


แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ จะบัญญัติให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระเริ่มแรก รวมเข้าไปใน ๘ ปีตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ แต่มิได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่าจะให้เริ่มนับเมื่อใด เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ หรือเมื่อได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งตาม
รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี ๒๕๕๗ 


เรามีวิธี ๒ วิธีที่ช่วยให้เข้าใจได้ วิธีหนึ่งเป็นการสำรวจดูการนับระยะเวลาหรือวาระการดำรงตำแหน่งองค์กรอื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญในวาระเริ่มแรกของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ วิธีแรกนี้จะช่วยให้เราเห็นระบบการนับระยะเวลาของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญในวาระเริ่มแรกของรัฐธรรมนูญฉบับปี๒๕๖๐ อีกวิธีหนึ่งเป็นการสำรวจดูการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญในวาระเริ่มแรกของรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว ๆ มา วิธีหลังนี้จะเห็น ประเพณีการนับระยะเวลาของผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญในวาระเริ่มแรก

 

การนับระยะเวลาหรือวาระของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญในวาระเริ่มแรกของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐

 

ในเมื่อ "บทเฉพาะกาล" เป็นที่รวมบทบัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้ามาดำรงตำแหน่งในวาระเริ่มแรก ก็น่าจะสำรวจดูสักเล็กน้อย ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ ได้บัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญมาดำรงตำแหน่งในวาระเริ่มแรกนั้น นับระยะเวลาหรือวาระการดำรงตำแหน่งไว้อย่างไร ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพรวมเรื่องนี้ของหมวด "บทเฉพาะกาล"

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกฯ มอบนโยบายหัวหน้าส่วนราชการ - ผู้บริหารท้องถิ่นพัทลุง

 

"บทเฉพาะกาล" ของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ บัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้ามาดำรงตำแหน่งในวาระเริ่มแรก แบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญเฉพาะในวาระเริ่มแรก เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้ว ตำแหน่งนั้น ๆ ก็สิ้นสุดลง ไม่มีในบัญญัติหลัก กลุ่มนี้ ได้แก่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในที่นี้จะยกไว้ไม่กล่าวถึง

 

ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าที่มาดำรงตำแหน่งในวาระเริ่มแรกอีกกลุ่มหนี่ง เป็นตำแหน่งที่มีอยู่ในบทบัญญัติหลักด้วย แต ่บัญญัติให้ "...คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง และคณะกรรมการอัยการ ที่มีอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ทำหน้าที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง และคณะกรรมการอัยการ...แล้วแต่กรณี ไปพลางก่อน" ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งแบบทำหน้าที่ ไม่มีวาระ จึงจะยกไว้ไม่กล่าวถึงในที่นี้ เหลือผู้ดำรงตำแหน่งในวาระเริ่มแรกอีก ๗ ตำแหน่ง ไม่รวมคณะรัฐมนตรี กับผู้ดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติ ๑ ตำแหน่ง 

 

มาตรา ๒๗๓ ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องที่จัดทำขึ้นตามมาตรา ๒๖๗ ใช้บังคับแล้ว การดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว…"

 

พลิกข้อกฎหมายชี้ชะตาวาระดำรงตำแหน่ง"นายกฯประยุทธ์"อยู่ครบ 8 ปีหรือไม่(2)

 

ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้แก่ คณะกรรมการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมกับ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ก็เป็น ๗ ตำแหน่ง จากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับแต่ละตำแหน่งนั้น มีบทบัญญัติไว้ดังนี้

 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช๒๕๖๑ มาตรา ๗๙ บัญญัติไว้ว่า "ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งดำรงตำแหน่งยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และดำรงตำแหน่ง
อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ หรือ..." 

 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๗๐ บัญญัติไว้ว่า "ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้งซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้งที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

 

พลิกข้อกฎหมายชี้ชะตาวาระดำรงตำแหน่ง"นายกฯประยุทธ์"อยู่ครบ 8 ปีหรือไม่(2)

 

และวรรคสอง "ให้ผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่ได้รับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนตามมาตรา ๔๐ โดยให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งเพราะลาออก โดยให้คำนวณระยะเวลาตั้งแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจนถึงวันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่"

 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา๕๖ บัญญัติไว้ว่า "ให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ. ศ . ๒๕๕๒ หรือ…"

 

มาตรา ๑๐๙ บัญญัติไว้ว่า "ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ โดยให้นับวาระการดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ตั้งแต่วันที่ได้รับปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป"

 

และวรรคสอง "ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินผู้รักษาการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔๓/๒๕๖๐ เรื่อง การแต่งตั้งผู้รักษาการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ ๒๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้"

 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช ๒๕๖๑ มาตรา ๑๘๕ บัญญัติไว้ว่า "ให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ. ศ . ๒๕๔๒ และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือ..."

 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๕๖๑ มาตรา๑๐๘ บัญญัติไว้ว่า "ให้ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและกรรมการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ เป็นประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ โดยให้นับวาระการดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ตั้งแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป"

 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๖๐ บัญญัติไว้ว่า "ให้ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่"

 

และวรรคสอง "ให้ผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามวรรคหนึ่งมีสิทธิได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่ได้รับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จตอบแทนตามมาตรา ๓๒ โดยให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งเพราะลาออก โดยให้คำนวณระยะเวลาตั้งแต่วันที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจนถึงวันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่”

 

มาตรา ๒๗๔ ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นองค์กรตามมาตรา ๖๐ วรรคสามและให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าวให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้” 

 

ต่อมาได้แก้ไขเพิ่มเติมเป็นพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ (ฉบับที่ ๒) มาตรา ๔๒บัญญัติไว้ว่า  "ให้กรรมการ กสทช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ หรือ…"

 

สรุปได้ว่า ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้ามาดำรงตำแหน่งในวาระเริ่มแรกนั้น มี ๒ องค์กรที่บัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งนับแต่ประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้น ๆ แต่บัญญัติให้มีสิทธิ์รับบำเหน็จตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ โดยคำนวณระยะเวลาตั้งแต่ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ส่วนที่เหลืออีก ๕ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ กับอีก ๑ องค์กรตามพระราชบัญญัติ ได้บัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญและตามพระราชบัญญัติดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ โดยนับจากเมื่อได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้ง

 

การพิจารณาบทบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่อยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ว่าจะนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอย่างไร ก็อาศัยการเทียบเคียงกับบทบัญญัติอื่นในหมวด "บทเฉพาะกาล" ด้วยกันได้ และเมื่อเทียบเคียงมาตรา ๒๖๔ ของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๖๐ กับมาตรา ๒๗๓ ดังกล่าวมาข้างต้น ก็จะเห็นว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระเริ่มแรกของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรจะเริ่มนับตั้งแต่ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗

 


ประเพณีการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญในวาระเริ่มแรก จะเริ่มนับเมื่อได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ได้รับแต่งตั้ง หรือได้รับเลือกตั้ง

 

เมื่อสำรวจบทเฉพาะกาลจากรัฐธรรมนูญฉบับถาวรทั้งหมด กับฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี ๒๕๓๘แล้ว มีข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับปี ๒๔๗๕ ถึงฉบับถาวรปี ๒๕๓๔ กับฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี๒๕๓๘ มีการให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้ามาดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ๒ ตำแหน่งเป็นหลัก คือ คณะองคมนตรี กับคณะรัฐมนตรี 

 

สำหรับคณะองคมนตรีจะให้คณะองคมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้ามาดำรงตำแหน่งต่อตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เลย ถ้อยคำที่ใช้บัญญัติไม่มีกำหนดพ้นจากตำแหน่ง "ให้คณะองคมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะองคมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้" ไม่มีถ้อยคำกำหนดพ้นจากตำแหน่ง

 

ส่วนคณะรัฐมนตรีจะให้ดำรงตำแหน่งชั่วระยะเวลาหนึ่ง จึงมีถ้อยคำกำหนดพ้นจากตำแหน่ง รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๘๙ บัญญัติให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อ "...จนกว่าจะได้ตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่" ฉบับปี ๒๔๙๒ บัญญัติให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อ "...สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร...เข้ารับหน้าที่" คำว่า "เข้ารับหน้าที่" ถือเอาเมื่อได้ปฏิญาณตนเข้ารับหน้าที่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก บทบัญญัตินี้ใช้อีกในฉบับปี ๒๔๙๕ ฉบับปี ๒๕๑๑ พอถึงฉบับปี ๒๕๑๗ ก็บัญญัติให้พ้นจากตำแหน่ง "...เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว..." ซึ่งหมายถึงเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปและประกาศผลการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว กรณีนี้ใช้อีกในรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๒๑ ฉบับถาวรปี ๒๕๓๔ และฉบับปี๒๕๔๐ รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ และฉบับปี ๒๕๖๐ บัญญัติให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อ "...คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญนี้เข้ารับหน้าที่" ซึ่งหมายถึงเมื่อคณะรัฐมนตรี ที่ตั้งขึ้นใหม่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่ง

 

ผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าที่มาดำรงตำแหน่งในวาระเริ่มแรกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บางฉบับยังมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับสมาชิกวุฒิสภา รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๘๙ ฉบับปี๒๕๔๐ กับฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี ๒๕๓๘ เกิดจากมติของรัฐสภาให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ไม่ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้ายังคงมีอยู่ และฉบับก่อนหน้าปี ๒๕๔๐ กับฉบับก่อนหน้าฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี ๒๕๓๘ ก็ยังมีสมาชิกวุฒิสภาอยู่ จึงมีบทบัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้ามาดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 

ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๙๒ มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๔๙๐ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๔๙๐ มีบทบัญญัติเหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เพียงแต่ให้ใช้บังคับชั่วคราว รอรัฐธรรมนูญฉบับถาวรซึ่งร่างขึ้นใหม่ จึงมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๘๙ รัฐธรรมนูญฉบับปีิ ๒๔๙๒ จึงมีบทบัญญัติในบทเฉพาะกาลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับสมาชิกวุฒิสภามาดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ

 

การให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับสมาชิกวุฒิสภามาดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น มีเพียงรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๘๙ ที่บัญญัติให้ถือเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก และ "มาตรา๙๓ ให้เริ่มนับอายุสภาผู้แทนตั้งแต่วันใช้รัฐธรรมนูญนี้ และให้ถือว่าสภาผู้แทนมีจำนวนสมาชิกเต็มตามที่ได้เลือกตั้งเพิ่มขึ้นในวันครบสิบห้าวันนับแต่วันเลือกตั้ง" มีข้อสังเกตว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้มาจากการเลือกตั้งทั่วไปก่อนหน้าประกาศใช้รัฐธรรมนูญเพียง ๔ เดือน จึงแทบจะยังไม่ได้ทำหน้าที่เลย

 

รัฐธรรมนูญอีก ๓ ฉบับนั้นจะบัญญัติให้ดำรงตำแหน่งโดยมีกำหนดพ้นจากตำแหน่ง ดังนี้

 

รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๙๒ มาตรา ๑๘๑ บัญญัติไว้ว่า "ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) [ปี ๒๔๙๐] เป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ และมีกำหนดเวลาแห่งสมาชิกภาพให้นับแต่วันที่พระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกชุดนั้น" 

 

มาตรา ๑๘๒ บัญญัติไว้ว่า "ให้สมาชิกสภาผู้แทนซึ่งได้รับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉะบับชั่วคราว) [ปี ๒๔๙๐] เป็นสมาชิกสภาผู้แทนตามรัฐธรรมนูญนี้ และอายุของสภาให้นับแต่วันเลือกตั้งทั่วไปซึ่งสมาชิกชุดนั้นได้รับเลือกตั้ง"

 

รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ มาตรา ๓๑๕ วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า  "ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ คงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้อยู่ต่อไปจนครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือเมื่อมีการยุบสภา หรือ…" 

 

และในวรรคสาม บัญญัติไว้ว่า "ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ คงเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้จนกว่าสมาชิกภาพวุฒิสภาจะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมครั้งสุดท้ายโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ( ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๕๓๙ หรือ…" มีถ้อยคำแสดงการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาอยู่ในวรรคห้า ว่า "...กรณีที่สมาชิกสภาของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลงเมื่อครบสี่ปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง..."

 

รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี ๒๕๓๘ มาตรา ๔ บัญญัติไว้ว่า "ให้สมาชิกวุฒิสภาซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ คงเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าจะครบวาระสี่ปีนับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช๒๕๓๔"

 

และมาตรา ๖ บัญญัติไว้ว่า "ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ คงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติขอรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้" รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติกำหนดพ้นจาตำแหน่ง แต่โดยเหตุที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับแก้ไขเพิ่มเติม วาระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงกำหนด ๔ ปีนับแต่วันเลือกตั้ง ส่วนการที่บทบัญญัติวาระสมาชิกวุฒิสภาให้นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับถาวรปี ๒๕๓๔บัญญัติไว้ว่า "มาตรา ๒๑๗ ในวาระเริ่มแรก พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งบุคคลผู้มีลักษณะตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๔ วรรคหนึ่ง จำนวนตามมาตรา ๙๔ วรรคสอง เป็นสมาชิกวุฒิสภาในวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา ๒๑๘"

 

จะเห็นว่า การให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภามาดำรงตำแหน่งในวาระเริ่มแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะกำหนดให้ครบวาระหรือกรณีอื่น แต่จะนับวาระตั้งแต่วันได้รับเลือกตั้งหรือวันเลือกตั้งทั่วไปสำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนับวาระตั้งแต่วันได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งสำหรับสมาชิกวุฒิสภา

 

รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ กับฉบับปี ๒๕๕๐ มีการให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นนอกจากที่กล่าวมาแล้ว มาดำรงตำแหน่งในวาระเริ่มแรก

 

รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ มีการแก้ไขเพิ่มเติมองค์กรตามรัฐธรรมนูญใหม่หลายองค์กร ได้ให้ผู้ดำรงตำแหน่งตามองค์กรเดิมที่อยู่ในวงงานตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาดำรงตำแหน่งในวาระเริ่มแรก เช่น ให้คณะกรรมการตุลาการเป็นคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รัฐธรรมนูญบัญญัติกำหนดการพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีผู้ดำรงตำแหน่งแต่ละตำแหน่งนั้น ไม่มีวาระเหมือนอย่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับสมาชิกวุฒิสภา จะพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีผู้ดำรงตำแหน่งตามองค์กรนั้น ๆ

 

มีข้อสังเกต ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีมติเลือกโดยวุฒิสภาซึ่งมาจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า และจะมีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๓ หรือราวครึ่งวาระ มาตรา ๓๒๒ ก็ได้บัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรดังกล่าว "ให้มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งเพียงกึ่งหนึ่งของวาระที่กำหนดไว้สำหรับตำแหน่งดังกล่าว" และ "มิให้นำบทบัญญัติที่ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้เพียงวาระเดียว มาใช้บังคับ"

 

รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ บัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอื่นเช่นเดียวกับฉบับปี ๒๕๔๐แต่เป็นองค์กรเดียวกัน จึงกำหนดการพ้นจากตำแหน่งต่างไป กล่าวคือจะยังคงนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในระหว่างยังคงอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ และฉบับชั่วคราวปี ๒๕๔๙

 

มาตรา ๒๙๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า "ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นผู้ตรวจการแผ่นดินตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และให้ดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระ โดยให้เริ่มนับวาระตั้งแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง..." 

 

วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า "ให้กรรมการเลือกตั้ง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งดำรงตำแหน่งในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระ โดยให้เริ่มนับวาระตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง"

 

วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า "ให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ แต่ถ้าบุคคลดังกล่าวได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งยังไม่เกินหนึ่งปีนับถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ มิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระมาใช้บังคับกับบุคคลนั้นในการแต่งตั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นใหม่เป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้"

 

พลิกข้อกฎหมายชี้ชะตาวาระดำรงตำแหน่ง"นายกฯประยุทธ์"อยู่ครบ 8 ปีหรือไม่(2)

สำหรับบทบัญญัติมาตรา ๒๙๙ วรรคสาม นี้ มีข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ และฉบับปี ๒๕๕๐ มีบทบัญญัติให้กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำรงตำแหน่งวาระละหกปี และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระมิได้ จากบทบัญญัตินี้ ถึงแม้จะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญเป็นฉบับใหม่ แต่ก็ยังนับวาระการดำรงตำแหน่งจากวันได้รับแต่งตั้งจากรัฐธรรมนูญฉบับซึ่งยกเลิกไปแล้ว การยกเว้นการนับวาระการดำรงตำแหน่งให้กับผู้ที่ดำรงตำแหน่งไม่เกิน ๑ ปี ซึ่งเป็นเวลาที่ดำรงตำแหน่งมาน้อยมาก

 

หรือมาตรา ๒๙๖ วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า "ในวาระเริ่มแรก ห้ามมิให้ผู้เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งจะมีการได้มาเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ และมิให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๑๕ (๙) และมาตรา ๑๑๖ วรรคสอง มาใช้บังคับกับผู้เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาซึ่งได้รับเลือกตั้งครั้งหลังสุดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐" 

 

มาตรา ๒๙๖ วรรคสามนี้ มีบทบัญญัติ ๒ ส่วน ส่วนแรกสำหรับผู้เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ ซึ่งเริ่มวาระวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๔๓ สิ้นสุดวาระวันที่ ๒๑มีนาคม ๒๕๔๙ รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ ห้ามไม่ให้มาดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกของรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ เนื่องจากบทบัญญัติมาตรา ๑๑๖ ห้ามมิให้ผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้ 

 

กับอีกส่วนหนึ่ง ผู้ได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาชุดหลังสุด คือเริ่มวาระวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๙ แล้วประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับที่ ๓ ให้ วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี และศาลรัฐธรรมนูญ สิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นเวลาที่สมาชิกวุฒิสภาดังกล่าวอยู่ในตำแหน่งรวม ๕ เดือน หนังสือ เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ อธิบายไว้ว่า "ได้ยกเว้นให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งครั้งหลังสุดตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ สามารถดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้ได้โดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลาสองปี เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภาชุดดังกล่าวยังไม่ได้เริ่มต้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา…"

 

สรุปแล้ว การนับระยะเวลาหรือวาระการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญในวาระเริ่มแรกของรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว ๆ มา จะเริ่มนับเมื่อได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ได้รับแต่งตั้ง หรือได้รับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามรัฐธรรมนูญ การพิจารณาบทบัญญัติไล่เลียงกันมาตามรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว ๆ มา ก็ทำให้เห็นเป็น "ประเพณี" ในที่นี้ จึงพอกล่าวได้ว่า ประเพณีการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญในวาระเริ่มแรก จะเริ่มนับเมื่อได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ได้รับแต่งตั้ง หรือได้รับเลือกตั้ง นอกจากนั้น อายุหรือวาระของคณะรัฐมนตรีก็ไม่มีโดยคณะรัฐมนตรีเอง หากขึ้นกับ "อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร" ในเมื่อการนับระยะเวลาหรือวาระการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวาระเริ่มแรก เริ่มนับเมื่อได้รับเลือกตั้ง การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระเริ่มแรก ก็ย่อมเป็นไปในทำนองเดียวกัน ทั้งหมดนี้จึงช่วยให้น้ำหนักมากขึ้นว่า ควรจะต้องนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระเริ่มแรกของ"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ตั้งแต่ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี ๒๕๕๗

 

โปรดติดตามตอนต่อไป >>>

logoline