svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"กระแสเศรษฐกิจใหม่" ฐานวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย พลเดช  ปิ่นประทีป

05 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"กระแสเศรษฐกิจใหม่" ผ่าน โมเดล BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังโควิด-19  มุ่งกระตุ้น GDP 4.4 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี เป็นอย่างไร ติดตามได้ที่เจาะประเด็นร้อน โดย พลเดช ปิ่นประทีป

 

ในแง่ของยุทธศาสตร์ชาติด้านความสามารถในการแข่งขัน "เศรษฐกิจใหม่" มีความสำคัญมาก ในฐานะเป็นหัวหอกการขับเคลื่อนเพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง นอกจากกระทรวงและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจการค้าการลงทุนแล้ว ยังมีกระทรวง อว.และหน่วยงานวิชาการแสดงบทบาทสำคัญ


กระทรวง อว.


ในช่วงต้นของรัฐบาลประยุทธ์(2) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อว. นำทีม 8 ผู้นำเศรษฐกิจหลายภาคส่วนพบนายกรัฐมนตรี เสนอโมเดล BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังโควิด-19  มุ่งกระตุ้น GDP 4.4 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี หนุนเอกชนลงทุนหลักรัฐบาลคอยสนับสนุน และปลดล็อกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรม

 

โมเดล BCG (BCG : Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy) เป็นแนวทางที่ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยในมิติต่างๆ  มุ่งเน้นผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็นผู้นำของโลกบนฐานความพร้อมของประเทศ จากจุดแข็งการเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก แบ่ง 7 กลุ่มย่อย

 

ประกอบด้วย 1) กลุ่มเกษตร  

2) กลุ่มอาหาร

3) กลุ่มยาและวัคซีน

 4) กลุ่มเครื่องมือแพทย์

 5) กลุ่มพลังงานวัสดุและเคมีชีวภาพ

 6) กลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

 7) กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สนช. ชูธงด้าน ‘นวัตกรรม’ ไว้ในนโยบายการพัฒนาและการปฏิรูปประเทศที่สำคัญ ในแผน 5 ปีแรกมุ่งผลักดันประเทศไทยให้ไปสู่ “ประเทศแห่งนวัตกรรม (Innovation Nation)”  

 

ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์


ยุทธศาสตร์ที่ 1 : สร้างความเข้มแข็งระบบนวัตกรรม  อาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ ช่วยเพิ่มศักยภาพภาคการผลิตและบริการ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคธุรกิจ 


ยุทธศาสตร์ที่ 2 : สร้างเสริมและพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมให้เกิดความพร้อมทุกด้าน ทั้งในเชิงระบบ กลไกสนับสนุนทางการเงิน องค์ความรู้ ภูมิปัญญา ความเชี่ยวชาญ และกฎระเบียบ

 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : สร้างคุณค่าใหม่ทางนวัตกรรม  พัฒนาทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับอนาคต ทั้งในระดับบุคคล องค์กรและประเทศ ปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและอนาคต 

 

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : พัฒนาสู่องค์กรแห่งนวัตกรรม  เร่งรัดให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในภาคการผลิต ภาครัฐ และภาคสังคมโดยรวมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน สร้างและพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ มุ่งยกระดับการบริการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในกระบวนการดำเนินงานและเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตร


สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ


สถาบันมุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อการผลิตใช้ในราชการและการส่งออกเชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งนำประเทศไทยไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ก้าวข้ามไปสู่“Thailand4.0” 

 

กลยุทธ์ที่สำคัญคือการตัดสินใจทางนโยบาย “สร้างหรือซื้อ” (Make or Buy) เทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อต่อยอดความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพปัจจุบันและยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในอนาคต
รัฐบาลได้ผลักดันให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็น S-Curve ตัวที่๑๑  ตราพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ.๒๕๖๒ เพื่อให้อำนาจแก่สถาบันฯในการวิจัยพัฒนายุทโธปกรณ์เพื่อผลิตใช้ในราชการและเชิงพาณิชย์ ตลอดจนการให้การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

 

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)


จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ส่งผลให้การศึกษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก สสวท. กระทรวงศึกษาธิการ  ได้บริหารจัดการต่อสภาวะการณ์ดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที  
สสวท. พัฒนาหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกระดับชั้นในรูปแบบใหม่ให้มีความทันสมัย ผสานสื่อเสมือนจริงสามมิติ น่าสนใจ

 

และสอดคล้องกับศักยภาพของผู้เรียน เน้นสื่อรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ทั้งสื่อออนไลน์ และออฟไลน์ เพื่อรองรับการใช้งานในวงกว้างสำหรับนักเรียนทุกกลุ่ม และครูทุกระดับชั้น รวมไปถึงสื่อเพื่อการเรียนรู้แบบออนไลน์ใช้รองรับสถานการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ตามปกติ ช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีมาตรฐานเท่าเทียมกัน


พัฒนาเครื่องมือการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้ ส่งเสริมการใช้เครื่องมือในการสอบเข้า

มหาวิทยาลัย(entrance)ที่เน้นการวัดผลเชิงสมรรถนะ กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการวัดและประเมินผลที่เน้นวัดสมรรถนะมากกว่าความรู้ ความจำ 
พัฒนาโรงเรียนคุณภาพวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีตามมาตรฐานของ สสวท. และยกระดับคุณภาพการศึกษา ให้นักเรียนมีทางเลือกในการเข้าศึกษาในโรงเรียนดีใกล้บ้าน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพิ่มทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพสูงในทุกอำเภอ กว่า 1,500 โรงเรียน.


 

logoline