svasdssvasds
เนชั่นทีวี

วันนี้ในอดีต

ย้อนรอยโศกนาฏกรรม น้ำป่า ดิน โคลนถล่ม "บ้านน้ำก้อ" กวาด 136 ชีวิตจมซากปรักหักพัง

10 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้ในอดีต 11 สิงหาคม 2544 ย้อนรอยเหตุการณ์น้ำป่า และโคลนถล่ม "บ้านน้ำก้อ" อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เสียชีวิต 136 ราย ท่ามกลางซากปรักหักพังของบ้านเรือน

“วันนี้ในอดีต”  11 สิงหาคม 2544 จะพาย้อนความทรงจำโศกนาฏกรรมจากฝนตกหนัก "น้ำป่าไหลหลาก" และ "ดินโคลนถล่ม" ครั้งใหญ่ มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดของประเทศไทย นั่นคือเหตุการณ์ "บ้านน้ำก้อ" จังหวัดเพชรบูรณ์

 

เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นจากปริมาณน้ำฝนสะสมในอำเภอเขาค้อ อำเภอหล่มสัก และอำเภอวิเชียรบุรี ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2544 กระทั่ง 3 นาฬิกา วันที่ 11 สิงหาคม 2544 ช่วงที่ชาวบ้านน้ำก้อ ตำบลน้ำก้อ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ กำลังนอนหลับใหลและหลับลึก ท่ามกลางสายฝนที่ถล่มลงมาอย่างกับฟ้ารั่ว โดยที่ชาวบ้านไม่รู้ตัวมาก่อนกำลังจะเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ขึ้นในหมู่บ้าน  เกิดกระแสน้ำป่าเชี่ยวกราก  พัดเอาบ้านเรือนที่อยู่ในรัศมีทางน้ำหายไปทั้งหลัง ทั้งหมู่บ้านราบเป็นหน้ากลอง ด้วยฤทธิ์น้ำป่าที่หอบเอามาทั้งดินโคลน และซากต้นไม้ กิ่งไม้ อย่างถอนรากถอนโคน 

 

 

ย้อนรอยโศกนาฏกรรม น้ำป่า ดิน โคลนถล่ม "บ้านน้ำก้อ" กวาด 136 ชีวิตจมซากปรักหักพัง

เช้าวันรุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่กู้ภัย พร้อมทางการ เข้าเคลียร์พื้นที่ สิ่งที่พบเห็นล้วนเป็นภาพแห่งความสลดหดหู่ เพราะมีแต่ซากปรักหักพัง ถูกทับด้วยต้นไม้ กิ่งไม้ และดินโคลน และเต็มไปด้วยศพผู้คนที่กระจัดกระจาย นับรวมเป็นจำนวนมากมายถึง 136 ศพ และมีผู้บาดเจ็บ 109 คน สูญหาย 4 คน  บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 188 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 441 หลัง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 645 ล้านบาท 

 

ย้อนรอยโศกนาฏกรรม น้ำป่า ดิน โคลนถล่ม "บ้านน้ำก้อ" กวาด 136 ชีวิตจมซากปรักหักพัง

ในยุคนั้น มีการถอดบทเรียนสรุปสาเหตุของความรุนแรง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการสร้างชุมชนซึ่งอยู่ห่างจากไหลเขาเพียงไม่กี่กิโลเมตรและห่างจากช่องเขาน้ำก้อใหญ่ตัดกับเขาวังบาน เพียง 2.5 กิโลเมตร ดังนั้นเมื่อเกิดการพังทะลายของลาดเขาโดยเฉพาะเขาน้ำก้อใหญ่ ปริมาณน้ำหลากผสมโคลน ต้นไม้ ตอไม้  จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 6-10 นาที ก็จะถึงบริเวณหมู่บ้าน ซึ่งความเร็วของโคลนดังกล่าวมีประมาณ 4 - 6 ม./วินาที ดังนั้นชาวบ้านจึงไม่มีเวลาเตรียมตัวได้ทัน ประกอบกับเหตุการณ์เกิดขึ้นเวลาประมาณตี 3 ซึ่งเป็นเวลาหลับนอนอย่างสนิทของคนทั่วไป ความสูญเสียจึงทวีคูณ และแรงกระแทกที่กระทบต่อเสาอาคารบ้านเรือน พบว่าด้วยความเร็วของสายน้ำและโคลนดังกล่าวและด้วยความหนาหรือความลึกของชั้นโคลนประมาณ1เมตร แรงกระแทกมีไม่ต่ำกว่า1ตัน โครงสร้างอาคารจึงไม่สามารถต้านแรงกระแทกน้ำได้

  

ย้อนรอยโศกนาฏกรรม น้ำป่า ดิน โคลนถล่ม "บ้านน้ำก้อ" กวาด 136 ชีวิตจมซากปรักหักพัง

 

 

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวบ้านน้ำก้อ ได้คืนผืนป่าให้กับธรรมชาติ โดยการทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน จะเป็นการทำนา ทำใบยาสูบ ปลูกข้าวโพด พืชผัก ไม่มีการตัดไม้ ทำลายป่า ไม่มีการทำไร่เลื่อนลอย และปัจจุบันหมู่บ้านน้ำก้อ  ยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เพื่อรองรับน้ำจากเขาด้านบน และมีหอเตือนภัยในชุมชน แจ้งเหตุ เพราะหมู่บ้านน้ำก้อ เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำป่าและโคลนถล่ม และชาวบ้านจะตื่นตัวและเตรียมพร้อมระวังเหตุทุกครั้งเมื่อฤดูฝนมาเยือน 

 

 

 

 

logoline