svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

10 ปี รัฐประหาร 2557 บทเรียนที่บอกว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” นั้นไม่เคยมีจริง

ในปี 2557 กลุ่มกปปส. ใช้คำว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เพื่อเป็นแรงสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศ จนนำมาสู่การรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. เป็นเวลา 10 ปีผ่านมาแล้วนับจากเหตุการณ์ในวันนั้น ประเทศไทยก็ดูจะไม่ได้ปฏิรูปดั่งที่เขาว่า

เวลาของประเทศไทยเดินผ่านไปอย่างรวดเร็วจริงๆ เพราะในวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 นี้ จะครบ 10 ปีของการรัฐประหารโดยฝีมือของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พอดิบพอดี ซึ่งปัจจุบันก็อย่างที่ทราบกันดีว่าเวลานี้พลเอกประยุทธ์ หรือที่มิตรรักแฟนเพลงชอบเรียกว่า ‘ลุงตู่’ ได้อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ภายหลังดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี

ย้อนกลับไปเมื่อก่อนเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ณ ช่วงเวลานั้น เหตุการณ์บ้านเมืองเกิดความสับสนเป็นอย่างมาก แม้จะไม่ถึงเป็นรัฐที่ล้มเหลวแต่การใช้กฎหมายเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆด้วยความสันติไม่กระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกตั้งใหม่ แต่สิ่งที่ได้กลับมา คือ ขบวนการขัดขวางไม่ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้การเลือกตั้งในปี 2557 กลายเป็นโมฆะ ทุกอย่างดูจะติดล็อกไปหมด เนื่องจากเงื่อนไขหลักและเงื่อนไขเดียวที่กลุ่มกปปส. ต้องการ คือ ‘การปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง’

สุเทพ เทือกสุบรรณ
 

การผุดวาทกรรมนี้ออกมา แม้แกนนำที่เป่านกหวีดไล่ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ จะบอกว่าไม่ได้เป็นการส่งบัตรเชิญให้กองทัพเข็นรถถังออกมารัฐประหาร แต่ก็เหมือนไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่ เพราะจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้งได้อย่างไรในเมื่อสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบไปแล้ว เหลือแต่วุฒิสภาเพียงสภาเดียว อีกทั้งรัฐบาลที่ทำหน้าที่อยู่ก็เป็นแค่รัฐบาลรักษาการเท่านั้น 

การปฏิรูปประเทศจะเกิดขึ้นก็ต้องอาศัยการขับเคลื่อนไปพร้อมกันระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ แต่เหมือนรัฐบาลและสภาต่างง่อยเปลี้ยเสียขากันทั้งคู่ แบบนี้การปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งจะเป็นไปได้อย่างไร จึงไม่แปลกที่การผลิตซ้ำวาทกรรม ‘ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง’ ก็เท่ากับการเปิดประตูสู่รัฐประหาร ภายใต้ข้ออ้างที่สวยหรูอย่างการปฏิรูปประเทศแล้วค่อยคืนอำนาจให้กับประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ในที่สุดการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งก็เกิดขึ้นจริงๆ โดยเริ่มคิกออฟในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อันเป็นวันที่พลเอกประยุทธ์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล และจากเสียงนกหวีดจากที่เคยเป็นการเป่าไล่นักการเมืองฝ่ายพรรคเพื่อไทย กลายมาเป็นเสียงนกหวีดต้อนรับการขึ้นสู่อำนาจของกลุ่มบุคคลที่เรียกตัวเองว่า ‘คณะรักษาความสงบแห่งชาติ’ หรือ คสช.
 

การปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งโดย คสช. นั้นได้ดำเนินการออกแบบผ่านกระบวนการที่มีชื่อเรียกอย่างกิ๊บเก๋ว่า ‘แม่น้ำ 5 สาย’ ประกอบด้วย 1) คสช.ในฐานะผู้กุมอำนาจสูงสุดและเป็นต้นน้ำของแม่น้ำของสายอื่นๆ 2) คณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร 3) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ตรากฎหมาย 4) สภาปฏิรูปประเทศแห่งชาติ เป็นฝ่ายระดมสมองเพื่อทำข้อเสนอการปฏิรูปประเทศ และ 5) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รับผิดชอบการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่เพียงเท่านี้ การปฏิรูปประเทศที่ คสช. คิดค้นขึ้นมานั้นก็มีความพยายามอุดช่องโหว่เพื่อป้องกันไม่ให้การรัฐประหารเสียของเหมือนกับการรัฐประหารเมื่อปี 2549 อีกด้วย จึงเป็นที่มาของการบัญญัติหลัก 10 ประการที่ควรไว้ในรัฐธรรมนูญ และ การให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้มีมรรคผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด โดยที่อย่างน้อยการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งก็น่าจะได้เสียงชื่นชมในจุดเดียวกับเมื่อครั้งประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 2540 

สำหรับบัญญัติ 10 ประการที่ว่านั้น ประกอบด้วย 1) การรับรองความเป็นราชอาณาจักร 2) การให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 3) การป้องกันการทุจริต 4) การป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคําพิพากษาว่ากระทําการทุจริต หรือกระทําให้การเลือกตั้งไม่สุจริต เข้าดํารงตําแหน่งทางการเมือง 5) การทําให้ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง ปราศจากการครอบงํา 6) สร้างเสริมความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม ในทุกภาคส่วนและทุกระดับ 7) ปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง 8) กลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและตอบสนองต่อประโยชน์ส่วนรวม 9) การป้องกันมิให้มีการทําลายหลักการสําคัญที่รัฐธรรมนูญจะได้วางไว้ และ 10) การผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสําคัญต่าง ๆ ให้สมบูรณ์ต่อไป 

หลักการที่ดีพร้อมกับกรอบกติกาที่ชัดเจน มิหนำซ้ำพลเอกประยุทธ์ ยังมีมาตรา 44 ที่สามารถเสกไม้เป็นนก และเสกนกให้เป็นไม้ได้อีก ยิ่งทำให้กองเชียร์ลุงตู่ต่างเชื่อมั่นว่าการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งจะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะระบอบทักษิณจะหมดไปจากประเทศ แต่ปรากฏว่าเอาเข้าจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะนับตั้งแต่นั้นมาจากที่เคยขึ้นต้นเป็นไม้ไผ่ ยิ่งเหลาลงไปกลับกลายเป็นบ้องกัญชาเข้าไปทุกที สะท้อนให้เห็นจากกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

การร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกเกิดขึ้นภายใต้การดูแลของ ‘บวรศักดิ์ อุวรรณโณ’ แต่ก็กลายเป็นปราสาทที่ถูกน้ำทะเลซัดพังทลายลงมา ภายหลังสภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติไม่เห็นชอบท่ามกลางคำถามที่เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งสุดท้ายก็มีเฉลยออกมาจากปากอาจารย์บวรศักดิ์เองว่า “เขาอยากอยู่ยาว” โดยคำว่า ‘เขา’ ที่อาจารย์บวรศักดิ์นั้นไม่ได้เจาะจงไปที่ใครบางคนเป็นการเฉพาะ แต่คนไทยก็ได้เห็นแล้วว่านับตั้งแต่นั้นมาเขาก็อยู่ยาวจริงๆ

ความพยายามอยู่ยาวก็เริ่มปรากฏให้เห็นผ่านการกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่สองภายใต้การกำกับของ ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ และยุบสภาปฏิรูปแห่งชาติพร้อมกับตั้ง ‘สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ’ หรือ สปท. ขึ้นมาทำงานซ้ำซ้อนโรดแมปที่ สปช. เคยทำเอาไว้ก่อนหน้านี้ กระบวนการเหล่านี้ใช้เวลาอีกร่วม 4 ปีก่อนที่จะมีการประกาศเลือกตั้งในปี 2562 อันเป็นการสิ้นการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง 

ประเทศไทยหลังจากผ่านการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งได้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ด้วยเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมือง 19 พรรคและ ส.ว. เกือบทั้งวุฒิสภาที่มีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ แม้จะเป็นอีกรัฐบาลหนึ่งที่อยู่ในอำนาจครบ 4 ปี แต่ตลอดระยะทางก็เต็มไปด้วยระบบการเมืองที่ถอยหลังลงคลองไม่ต่างกับการเมืองยุคก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ 2540 เสียอีก มีใครพอเห็นผลงานเชิงโครงสร้างที่เป็นผลผลิตจากการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งที่ดีมีอะไรบ้าง กลับกันมีแต่เพียงมรดกที่เป็นสิ่งเหลือทิ้งทางประวัติศาสตร์เท่านั้นอย่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และวุฒิสภา 250 คนจากการลากตั้งของคสช.

ความล้มเหลวและความเสียของยิ่งมาตอกย้ำด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่เป็นเหมือนสามเส้าระหว่างฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ฝ่ายอนุรักษ์นิยม และฝ่ายอำนาจนิยม ความขัดแย้งที่มี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เข้ามาเป็นหนึ่งในสมการนั้นกำลังจะนำถูกมาฉายซ้ำ หรือแม้แต่ความหวาดกลัวของบางฝ่ายที่มีต่อ ‘พรรคก้าวไกล’ ก็ถูกนำมามาเป็นวาทกรรมประหัตประหารใส่กันประหนึ่ง ‘ขวาพิฆาตซ้าย’

ทักษิณ ชินวัตร

ด้วยเหตุนี้เองจึงเริ่มได้บรรดาผู้สันทัดกรณีจะเริ่มออกมาวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรัฐประหารขึ้นมาอีกครั้ง แม้เงื่อนไขอาจไม่สุกงอม แต่ก็มีปัจจัยแวดล้อมที่สนับสนุนพอสมควร เช่น การเริ่มล้ำเส้นของฝ่ายผู้มีอำนาจอนุรักษ์นิยมใหม่ การเติบโตไม่หยุดของขบวนการฝ่ายส้มที่เขย่าความเชื่อแบบเดิมๆ ของคนในสังคมไทย ที่ทำให้บางฝ่ายมองว่าต้องหาวิธีการคุมกำเนิดไว้บ้าง การยุบพรรคที่เคยคิดว่าอาจได้ผล เวลานี้แสดงให้เห็นว่ามันไม่ได้ผลอีกต่อไป เหลือแต่เพียงการล้มกระดานเท่านั้นที่อาจเป็นคำตอบ

10 ปี รัฐประหาร 2557 บทเรียนที่บอกว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” นั้นไม่เคยมีจริง

ผ่านมา 10 ปี ประเทศไทยได้ปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้งจริง ข้อนี้ไม่มีใครปฏิเสธได้ แต่ก็เหมือนเป็นการกลับไปสู่ปัญหาและวงจรเดิมที่ประเทศไทยเคยเผชิญมาแล้วตลอดสองทศวรรษเท่านั้น