svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กฎหมายให้เรามีอาชีพได้เสรี แต่ทำไมคนไทยยังต้องเกณฑ์ทหารกันอยู่?

ในวันจับใบดำใบแดง เราต่างรู้กันว่าคนที่เดินทางไปตรวจเลือกทหารกันในวันนั้น น้อยคนนักที่จะอยากเข้าเป็นทหารเกณฑ์ ภาพที่เห็นในมุมหนึ่งจึงเป็นใบหน้าเศร้าสร้อยของทั้งผู้ไปรับคัดเลือกและญาติๆ หลังได้รู้ว่าต้องทิ้งอนาคตเพื่อเข้าประจำการ

พอเข้าสู่เดือนเมษายนของทุกปี ภาพจำของคนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับเทศกาลสงกรานต์และบรรยากาศครอบครัวที่แสนอบอุ่น รวมไปถึงการเล่นสาดน้ำท่ามกลางแสงแดด แต่ในอีกมุมหนึ่งแล้วเดือนที่สี่ของปี ยังเป็นช่วงเวลาของการตรวจเลือกทหาร หรือ เกณฑ์ทหาร ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าปัจจุบันเป็นเรื่องที่ชายไทยที่มีอายุเข้าเกณฑ์ส่วนใหญ่ต่างเมินหน้าหนีกันแทบทั้งนั้น

ภาพจาก Nation

ครั้งหนึ่งถ้าจำได้ช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 เกิดปรากฏการณ์ชายไทยแห่สมัครเข้ารับเป็นทหารอย่างล้นหลาม เรียกได้ว่าแทบไม่ต้องมีการจับใบดำใบแดงให้เปลืองทรัพยากรของรัฐ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจในห้วงเวลานั้นที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤติอย่างเต็มที่ ประกอบกับได้อานิสงส์จากดารานักแสดงชื่อดังที่อายุถึงเกณฑ์ตัดสินใจเข้ามาเป็นทหาร ทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

แต่มาถึงปัจจุบันการเกณฑ์ทหารกลับกลายเป็นเรื่องที่ชายไทยจำนวนไม่น้อยแทบจะเมินหน้าหนีกันหมด อาจไม่ได้เป็นเพราะพวกเขาไม่รักชาติ แต่จากปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนภายในกองทัพที่ไม่สามารถให้หลักประกันได้ จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ในทางตรงข้าม คือ กระแสเรียกร้องให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร โดยขอให้ใช้รูปแบบของความสมัครใจเข้ารับราชทหารแทน
 

เหตุผลที่ให้ขอเลิกการเกณฑ์ทหาร คือ เพื่อที่อย่างน้อยคนเข้าสมัครมาเป็นทหารก็เป็นการแสดงออกให้เห็นอย่างหนึ่งว่ามีความปรารถนาแรงกล้าที่ต้องการเป็นทหารอาชีพอย่างแท้จริง ประเทศจะได้ใช้งบประมาณที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ตรงจุด ไม่ต้องเหวี่ยงแหเหมือนที่ผ่านมา ส่วนคนอื่นที่ไม่ประสงค์อยากจะเป็นทหาร ก็สามารถรับใช้ชาติด้วยวิธีการอื่นได้ตามฐานานุรูปของตนเอง เช่น การประกอบอาชีพสุจริต ไม่เป็นภาระให้กับสังคม เพราะความรักชาติและการรับใช้ชาติไม่จำเป็นต้องผ่านการเข้ารับการเกณฑ์ทหารแต่เพียงอย่างเดียว

ภาพจาก Nation

ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องการเกณฑ์ทหารในแง่มุมของกฎหมายในปัจจุบัน ถือว่ามีความย้อนแย้งและความพิลึกพอสมควร กล่าวคือ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 40 ในหมวดสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย กำหนดหลักการที่ว่าด้วยเสรีภาพของบุคคลในการประกอบอาชีพใดๆ ก็ได้ โดยต้องไม่มีลักษณะเป็นความผิดตามกฎหมาย และไม่เป็นการเดือดร้อนแก่บุคคลอื่นๆ แต่อีกด้านหนึ่งก็กลับจำกัดเสรีภาพของประชาชนในเรื่องการประกอบอาชีพด้วยการกำหนดไว้ในหมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 (5) ที่ระบุว่า บุคคลมีหน้าที่รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ

กลายเป็นว่ารัฐธรรมนูญได้ให้ทั้งเสรีภาพและยึดคืนเสรีภาพในเวลาเดียวกันโดยอาศัยเรื่องหน้าที่ที่ต้องกระทำของคนไทย ด้วยเหตุนี้ ทำให้ชายไทยจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้ความสามารถและเพิ่งจบการศึกษาจากสถาบันการศึกษาต้องทิ้งโอกาสในการใช้เสรีภาพของตนเพื่อการประกอบอาชีพ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับตัวเอง หรือแม้แต่การเพิ่มผลผลิตให้กับประเทศ เพื่อมารับราชการทหาร ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการรับใช้อุดมคติชาตินิยมและความมั่นคงของชาติที่ตกทอดกันหลายทศวรรษ 
 

ยิ่งนานวัน เมื่อความคิดและทัศนะของสังคมที่ต่อเรื่องการรับใช้ชาติเปลี่ยนไป ประกอบกับปัญหาสิทธิมนุษยชนของทหารเกณฑ์ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงเป็นที่มาของการจุดประกายให้เกิดกระแสยกเลิกการเกณฑ์ทหารอย่างที่เห็นในปัจจุบัน 

ความพยายามของฝ่ายการเมืองก็มีการดำเนินการมาตลอดแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก พรรคเพื่อไทยในฐานะรัฐบาลก็ยังตอบสังคมไม่ได้เต็มปากเต็มคำว่าจะเริ่มต้นเรื่องนี้อย่างไร มีแต่เพียงพรรคก้าวไกลที่จะเป็นพรรคการเมืองจริงจังกับเรื่องนี้พอสมควร แต่เมื่อเป็นฝ่ายค้านจึงไม่มีอำนาจรัฐที่จะเข้าไปจัดการเชิงโครงสร้าง ทำได้แค่การเสนอร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร ซึ่งดูแล้วเป็นไปได้ยากที่กฎหมายฉบับนี้จะผ่านสภาด้วยเหตุผลทางการเมืองและอุดมคติที่มีต่อเรื่องความมั่นคงแตกต่างกัน

ภาพจาก Nation

อย่างไรก็ตาม การที่พรรคก้าวไกลเสนอกฎหมายฉบับนี้ก็ได้ทำให้เห็นท่าทีของกองทัพอย่างเป็นทางการต่อข้อเสนอในเรื่องการยกเลิกการเกณฑ์ทหารพอสมควร 

ทั้งนี้ รายงานผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายของร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 นั้น โดยหน่วยงานทางทหารที่สำคัญได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นคำถามที่ว่า "เห็นด้วยหรือไม่ กับการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติและกำหนดให้ใช้วิธีการคัดเลือกทหารกองประจำการจากบุคคลที่สนใจสมัครรับราชการทหารด้วยตนเองเท่านั้น" ไว้อย่างน่าสนใจ 

สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ตอบว่า  กรณีผู้สมัครเข้าเป็นทหารกองประจำการจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของกองทัพ อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจตามมาตรา 52 แห่งรัฐธรรมนูญ (รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้มีการทหาร การทูตและการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ) และกรณีบุคคลผู้สมัครใจเข้ารับราชการทหารเป็นผู้ที่ไม่มีคุณวุฒิหรือคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสมจำนวนมากจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพทหารกองประจำการและการพัฒนากำลังพลของกองทัพ อีกทั้ง หากยกเลิกระบบการตรวจเลือก อาจส่งผลกระทบต่อระบบกำลังสำรองของกองทัพ

ภาพจาก Nation

ขณะที่ กองทัพบก แสดงความคิดเห็นว่า  ประเทศไทยไม่มีการบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติด้วยระบบไพร่และระบบทาสมาตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ท่านได้มีการประกาศยกเลิกระบบดังกล่าว โดยมีการปรับปรุงกิจการทหารให้เป็นแบบอย่างยุโรป

“โดยปัจจุบันประเทศไทยมีวิธีการได้มาซึ่งทหารกองประจำการ 2 แนวทาง คือ การให้ผู้ที่มีความสนใจได้ทำการสมัครใจเข้ารับราชการทหารด้วยตนเองก่อน หากยอดจำนวนคนที่สมัครใจเข้ารับราชการทหารกองประจำการมีไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจในการป้องกันประเทศหรือภารกิจอื่นๆ ของรัฐตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามที่รัฐบาลมอบหมาย จึงจะทำการตรวจเลือกเข้ารับราชการทหารกองประจำการให้มียอดจำนวนเท่าที่ทางราชการต้องการเท่านั้น 

"การกำหนดให้รับบุคคลที่สนใจสมัครเข้ารับราชการทหารด้วยตนเองเท่านั้น หากไม่มีผู้สมัครเข้ามาเป็นทหาร หรือมีสมัครเข้ามา แต่ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ จะมีวิธีการบริหารจัดการอย่างไร" ข้อพิจารณาที่เสนอมาจากกองทัพบก”

ภาพจาก Nation

นอกจากนี้ ในรายงานฉบับนี้ยังมีประเด็นที่ถามว่า "เห็นด้วยหรือไม่ กับการกำหนดห้ามนำทหารกองประจำการไปทำงานรับใช้ส่วนตัวหรือกระทำการใดที่ละเมิดต่อร่างกายและจิตใจ" 

กองทัพบก ให้ข้อมูลว่า กองทัพมีการกำหนดมาตรการในการปกครองบังคับบัญชาทหารกองประจำการตามแบบธรรมเนียมทางทหารอย่างจริงจัง โดยทหารกองประจำการจะได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งมีข้อห้ามที่มิให้มีการนำทหารกองประจำการไปรับใช้ส่วนตัวอยู่แล้ว 

"ส่วนการกระทำความผิดเกี่ยวกับการละเมิดต่อร่างกายหรือจิตใจ กองทัพมีแนวทางและมาตรการกำกับดูแลอย่างเคร่งครัด โดยให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นคอยตรวจตราการปฏิบัติของกำลังพลที่เกี่ยวข้องที่อาจจะมีการกระทำความผิดโดยตั้งใจหรือกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในลักษณะดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อมิให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นภายในหน่วย หากตรวจพบมีการละเมิดหรือฝ่าฝืนคำสั่งในการปฏิบัติดังกล่าว ผู้กระทำความผิดและผู้บังคับบัญชาเหนือผู้กระทำความผิดหนึ่งระดับชั้นจะถูกลงโทษทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และตามประมวลวินัยทหารอย่างเคร่งครัด"

"การนำทหารกองประจำการไปทำงานรับใช้ส่วนตัว หรือมีการกระทำที่เป็นการละเมิดต่อร่างกายหรือจิตใจนั้น ส่วนใหญ่เป็นพฤติกรรมส่วนบุคคลเท่านั้น เมื่อมีการตรวจพบการกระทำความผิดดังกล่าว กองทัพมีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติต่อกำลังพลส่วนนี้ไว้แล้ว และมีกฎหมายที่มีการบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมอยู่แล้ว"

เมื่อมองท่าทีของกองทัพต่อเรื่องการเปลี่ยนรูปแบบของการเกณฑ์ทหารแล้ว ต้องยอมรับว่ายังคงไว้ซึ่งอุดมคติเรื่องชาติบนพื้นฐานของความมั่นคงอย่างแรงกล้า ดังนั้น การจะทำให้เรื่องนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยเจตจำนงและพลังทางสังคมร่วมกันครั้งใหญ่ ยิ่งกว่าการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในสภาอีกหลายเท่า เพื่อให้สามารถฝ่าเข้าไปในเขตทางความคิดของทหาร