svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รู้จัก ‘เทียนทอง’ ตระกูลนักปั้นนายก ที่จะมาปั้น ‘อุ๊งอิ๊งค์’

02 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

‘สรวงศ์ เทียนทอง’ ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ตำแหน่งสำคัญที่จะมีบทบาทในการปั้นนายกฯ คนต่อไป ซึ่งนั่นก็คือ 'แพทองธาร ชินวัตร'

พรรคเพื่อไทยถือเป็นพรรคการเมืองที่มีชื่ออยู่ในสนามการเมืองไทยมาเป็นเวลานาน ถ้านับจำนวนปีตั้งแต่เมื่อครั้งก่อตั้งพรรคไทยรักไทยปี 2541 เท่ากับว่ามีอายุรวมกัน 25 ปีแล้ว เปรียบได้กับคนที่อายุเข้าวัยเบญจเพสพอดี 

พลวัตการเปลี่ยนแปลงของพรรคเพื่อไทยนับย้อนไปตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน เกิดขึ้นอยู่ตลอด ตั้งแต่ยุคสมัยที่ 'ทักษิณ ชินวัตร' เข้ามาบริหารเอง ต่อด้วยยุค 'นอมินี' ผ่านหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยที่ไม่ใช่คนในบ้านจันทร์ส่องหล้าโดยตรง มาจนถึงยุคที่ 3 'คลื่นลูกใหม่' ซึ่งเป็นยุคปัจจุบันของพรรคเพื่อไทย ดังนั้น การที่พรรคเพื่อไทยมีมติให้ 'แพทองธาร ชินวัตร' ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค เป็นการแสดงให้เห็นว่าครอบครัวชินวัตรขอเปิดหน้าลงมาทำงานการเมืองด้วยตัวเองและเลิกระบบตัวแทนอย่างที่เคยดำเนินการมา

รู้จัก ‘เทียนทอง’ ตระกูลนักปั้นนายก ที่จะมาปั้น ‘อุ๊งอิ๊งค์’

เก้าอี้นายหญิงพรรคเพื่อไทยของแพทองธารหากจะบอกว่าเป็นการปฏิวัติพรรคเพื่อไทยครั้งใหญ่ก็คงไม่ผิดนัก สอดคล้องกับสิ่งที่อดีตนายกฯ ทักษิณ เคยบอกหลังจากเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยต้องเปลี่ยนตัวเองใหม่ คนเก่าๆ ที่อยู่ในพรรคต้องหลบออกไป ด้วยเหตุนี้เองโฉมหน้าของกรรมการบริหารพรรคทั้ง 23 คนจะนำโดยรุ่นใหม่เป็นส่วนใหญ่ และหนึ่งในคนที่น่าสนใจ คือ ‘สรวงศ์ เทียนทอง’ เลขาธิการพรรค

สรวงศ์ เทียนทอง

สำหรับในทางการเมืองนั้นตำแหน่งเลขาธิการพรรคถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะเป็นผู้ทำหน้าที่ประสานสิบทิศกับทุกพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคที่รักหรือพรรคที่ชัง คนเป็นเลขาธิการพรรคไม่มีสิทธิเกลียดใครตลอดไปหรือรักใครเป็นพิเศษ แต่ต้องการบริหารความสัมพันธ์กับทุกคนทุกฝ่ายให้เกิดความสมดุลและสร้างประโยชน์ให้แก่พรรคของตัวเองมากที่สุด โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่ากับพรรคการเมืองอื่นๆ ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานว่าจะเป็นได้แกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือเป็นพรรคฝ่ายค้าน

เลขาธิการพรรคในตำนานการเมืองไทยที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์มีหลายคนที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ‘พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์’ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เมื่อครั้งสร้างตำนานดึง ส.ส. งูเห่าจากพรรคประชากรไทยมาสนับสนุนให้ 'ชวน หลีกภัย' เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 หรือ 'สุเทพ เทือกสุบรรณ' เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์อีกคนที่ปูทางทำทุกอย่างยอมพรรคร่วมรัฐบาลทุกเงื่อนไขเพื่อพลิกขั้วให้ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' ขึ้นมาเป็นนายกฯ ครั้งแรกในชีวิต 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการทำงานการเมืองผ่านเลขาธิการพรรคถูกลดความสำคัญลง เพราะถูกแทนด้วยระบบนายใหญ่ที่เป็นผู้มีอำนาจและกดปุ่มสั่งซ้ายหันขวาหันแต่เพียงผู้เดียว ทำให้คนเป็นเลขาธิการพรรคกลายเป็นแค่หนึ่งในตัวละครเท่านั้น ไม่ได้เป็นคีย์แมนคนสำคัญในสนามการเมืองเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากการจับขั้วตั้งรัฐบาลครั้งล่าสุด คนที่ทำหน้าที่เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเวลานั้นไม่ได้เฉิดฉายในฐานะผู้จัดการรัฐบาลเหมือนเลขาธิการพรรครุ่นเก่าๆอย่าง 'เสธ.หนั่น-สุเทพ'  

ดังนั้น การขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคของสรวงศ์จึงน่าสนใจอย่างยิ่งว่าเขาจะก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการพรรคในรูปแบบใด จะเดินรอยตาม ‘เสนาะ เทียนทอง’ ผู้เป็นพ่อที่เคยสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้สร้างนายกฯ มาแล้วสามคน คือ ‘บรรหาร ศิลปอาชา’ ‘พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ’ และ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ หรือไม่

เสนาะ เทียนทอง

บารมีในทางการเมืองของสรวงศ์อาจยังเทียบไม่ได้กับ ‘ป๋าเหนาะ’ แต่ถ้ามองในแง่คอนเนกชันทางการเมืองแล้วต้องถือว่าครอบครัวเทียนทองมีรากฐานที่แข็งแรงและต่อได้กับทุกภาคส่วนไม่เว้นแม้แต่กองทัพ
 

อย่างที่ทราบกันดีว่าบ้านใหญ่เทียนทองเป็นเจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในพื้นที่และเป็นผู้ทรงอิทธิพลในทางการเมืองของจังหวัดสระแก้วที่มีฐานการเมืองที่แข็งแรงมานานกว่าครึ่งศตวรรษ กว่าจะมีวันนี้ได้ก็ต้องอาศัยการวางอิฐก้อนแรกด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานราชการในพื้นที่มาหลายชั่วคนผ่านการติดต่อประมูลงานกับทางราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างบ้านใหญ่เทียนทองกับผู้นำเหล่าทัพในกองกำลังบูรพา และ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์

ครั้งหนึ่งสมัยเกิดสงครามเขมรแดง การต่อสู้กับการแผ่อิทธิพลของคอมมิวนิสต์ และมีการปะทะกันตามแนวชายแดน ครอบครัวเทียนทองก็เคยให้การสนับสนุนกองทัพด้วยการนำอุปกรณ์ก่อสร้างไปช่วยสร้างบังเกอร์อย่างรวดเร็ว โดยที่กองทัพไม่ต้องรองบประมาณจากส่วนกลาง จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมนักการเมืองในตระกูลนี้ถึงไม่มีทหารในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คอยมาสอดส่องเป็นพิเศษ เมื่อเทียบกับนักการเมืองบ้านใหญ่คนอื่นๆ

เสนาะ เทียนทอง และ ชวลิต ยงใจยุทธ

ปัจจัยสู่ความสำเร็จของตระกูลเทียนทองที่สามารถเป็นบ้านใหญ่การเมืองที่แข็งแกร่งในจังหวัดสระแก้ว ต้องยกเครดิตให้กับการทำงานของป๋าเหนาะที่ได้ผลักดันธุรกิจกงสีของครอบครัวให้เติบโต ด้วยการขยายกิจการที่มีอยู่แต่เดิมให้เป็นระบบมากขึ้นพร้อมกับขยายกิจการแตกแขนงออกไปอีกหลายธุรกิจ ภายใต้ชื่อ ‘ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.เทียนทอง’ ที่ประกอบธุรกิจ ทั้งรับเหมาก่อสร้าง โรงโม่หิน ปูนซีเมนต์ โรงไม้ โรงสีข้าว ลานมัน และธุรกิจพัฒนาที่ดิน โดยเฉพาะบริเวณตลาดโรงเกลือ จนกลายเป็นกลุ่มประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัด 

ในแวดวงการเมือง ป๋าเหนาะถูกจัดให้เป็นนักเลงการเมืองคนหนึ่ง รักเพื่อน ไม่สร้างศัตรู แม้เจ็บปวดแค่ไหนก็ให้อภัยทุกคน ด้วยคุณสมบัตินี้ทำให้สามารถปั้นนายกฯ ได้ถึงสามคน ได้แก่ บรรหาร ศิลปอาชา, พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ, และ ทักษิณ ชินวัตร ทว่าแต่ละครั้งป๋าเหนาะมีเรื่องต้องให้ลาจากบุคคลทั้งสามต่างกรรมต่างวาระกันไป โดยเฉพาะกรณีความขัดแย้งกับนายกฯ ทักษิณที่กำลังทรงอิทธิพลในขณะนั้น 

กลุ่ม ‘วังน้ำเย็น’ ในพรรคไทยรักไทยของป๋าเหนาะเป็นกลุ่มการเมืองหนึ่งที่ทรงอิทธิพลไม่แพ้กลุ่มอื่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเวลานั้น ทักษิณซึ่งยังใหม่ต่อการขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคขนาดใหญ่ มีความต้องการอาศัยบารมีของป๋าเหนาะเพื่อบริหารจัดการทางการเมืองภายในพรรค จึงได้เห็นภาพทักษิณเดินทางมาพบป๋าเหนาะและร่วมออกรอบตีกอล์ฟด้วยกันหลายครั้ง รวมทั้งจะเดินทางมาร่วมงานและอวยพรวันเกิดป๋าเหนาะที่บ้านพักเมืองทองธานีเกือบทุกปี ยิ่งทำให้บารมีของเจ้าพ่อวังน้ำเย็นเพิ่มพูนมากขึ้นไปอีก

แต่ช่วงเวลาฮันนีมูนของทั้งสองคนอยู่ได้ไม่นาน เพราะพรรคไทยรักไทยนับวันยิ่งโตขึ้น ภายหลังได้ควบรวมพรรคการเมืองอี่นเข้ามาร่วมกับพรรคไทยรักไทยมากขึ้น ส่งผลให้กลุ่มวังน้ำเย็นถูกลดบทบาท สะท้อนให้เห็นจากจำนวนรัฐมนตรีในกลุ่มลดลง อีกทั้งป๋าเหนาะในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทยก็ไม่ได้มีอำนาจในการบริหารงานการเมืองในพรรคไทยรักไทยอีก ก่อนความสัมพันธ์ของสองผู้ยิ่งใหญ่จะสิ้นสุดลง

ทักษิณ ชินวัตร

ความขัดแย้งระหว่าง ‘เสนาะ-ทักษิณ’ รุนแรงถึงขนาดที่ป๋าเหนาะกล้าออกมาวิจารณ์การทำงานของทักษิณอย่างตรงไปตรงมา ตามมาด้วยสวมเสื้อเหลืองขึ้นเวทีปราศรัยร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2549 ยิ่งไปกว่านั้นยังร่วมเป็นผู้เขียนบทความลงในหนังสือ ‘รู้ทันทักษิณ 4 :ฅนวงใน THE INSIDERS’ ที่เป็นการเล่าถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างตัวเองกับทักษิณ และการบริหารงานของรัฐบาลในเชิงลึกขณะนั้น

ทั้งนี้ ภายหลังออกจากพรรคไทยรักไทยได้ไม่นานก็ได้ก่อตั้งพรรคประชาราช เพื่อเดินทางทำงานการเมืองอีกครั้ง โดยในการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2550 มี ส.ส. เข้าสภาผู้แทนราษฎรได้ 5 คน แต่ที่สุดแล้วป๋าเหนาะก็กลับเข้าพรรคเพื่อไทยก่อนการเลือกตั้งปี 2554 และเป็นเจ้าพ่อวังน้ำเย็นคนนี้ที่เป็นผู้เสนอชื่อ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ กลางที่ประชุมสภาฯ ก่อนได้รับการโหวตให้เป็นนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไทย

ในการเลือกตั้งปี 2550 คนในตระกูลเทียนทองส่วนหนึ่งลาออกจากพรรคเพื่อไทยเพื่อไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐเพื่อร่วมงานกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งพรรคพลังประชารัฐสามารถกวาด ส.ส. ในพื้นที่เข้าสภาได้ทั้งหมดสามคน โดยสองคนเป็นคนของครอบครัวเทียนทองได้แก่ ‘ฐานิสร์ เทียนทอง’ และ ‘ตรีนุช เทียนทอง’ ขณะที่การเลือกตั้งปี 2566 ครอบครัวเทียนทองแม้จะอยู่ต่างพรรคกันระหว่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทยก็สามารถครองพื้นที่จังหวัดสระแก้วได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าอำนาจและบารมีของตระกูลนี้ยังแข็งแกร่งอยู่ ไม่ได้ร่วงโรยไปตามอายุที่มากขึ้นของเจ้าพ่อวังน้ำเย็น

มาวันนี้ระบบ ‘ก๊วน-วัง’ แบบพรรคไทยรักไทยในอดีตนั้นไม่ได้มีอิทธิพลในพรรคเพื่อไทยแล้ว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายหญิงแพทองธารเป็นสำคัญ โดยมีสรวงศ์ลูกชายป๋าเหนาะเข้ามาเป็นกำลังหลัก เหมือนกับที่ในอดีตรุ่นพ่อของทั้งสองคนต่างเคยเกื้อหนุนกันมาจนสร้างพรรคไทยรักไทยให้ยิ่งใหญ่มาแล้ว

สรวงศ์ เทียนทอง

ที่สำคัญ เชื่อได้เลยว่าความสัมพันธ์ของครอบครัวชินวัตรและเทียนทองในรุ่นลูก จะไม่ขัดแย้งรุนแรงกันเหมือนคนรุ่นพ่อ และการต่อรองทางการเมืองภายในพรรคแบบนักการเมืองโบราณที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจะเบาลง เพราะเป็นเวลาของคนอีกรุ่นหนึ่งที่เข้ามาบริหารพรรค เพื่อปรับตัวสู้กับฝ่ายตรงข้ามที่เป็นคนรุ่นใหม่เช่นกัน ไม่ใช่นักการเมืองรุ่นเก่าเหมือนในอดีต ซึ่งนักเลือกตั้งยุคอะนาล็อกที่ยังเหลือค้างอยู่ในพรรคต่างรู้ถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่อย่างดี ปากเสียงที่เคยมีในพรรคอาจต้องหุบลง ปล่อยให้คลื่นลูกใหม่นำพาพรรคเพื่อไทยไปในทิศทางที่ควรจะเป็น

ด้วยเหตุนี้ การบริหารงานในพรรคของผู้นำรุ่นใหม่ ‘แพทองธาร-สรวงศ์’ น่าจะไม่ยากเหมือนคนรุ่นพ่อ เหลือเพียงแต่การทำงานนอกพรรคที่จะทำอย่างไรเพื่อซื้อใจคนรุ่นใหม่ให้มาสนับสนุนพรรคเพื่อไทยมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งถ้าทำได้ตำแหน่งนายกฯ คงอยู่ไม่ไกลจากแพทองธาร และคนที่จะเสนอชื่อลูกสาวคนเล็กของทักษิณให้สภาฯ ลงมติเป็นนายกฯ คงเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจาก ‘สรวงศ์’ ทายาทป๋าเหนาะนั่นเอง

รู้จัก ‘เทียนทอง’ ตระกูลนักปั้นนายก ที่จะมาปั้น ‘อุ๊งอิ๊งค์’

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • www.thairath.co.th
  • mgronline.com
  • หนังสือ รู้ทันทักษิณ4
  • หนังสือ เสนาะ เทียนทอง คนจริงหัวใจหลอมเพชร
  • หนังสือ นักการเมืองถิ่นจังหวัดสระแก้ว
  • หนังสือ ตระกูลการเมืองกับการเลือกตั้ง  "มนตร์ขลัง" หรือ (แค่) พลังที่ "ถดถอย" 
  • หนังสือ ฉะ แฉ ฉาว นักการเมืองไทย
     
logoline