svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ครบ 1 ปีท่าเรือเลบานอนระเบิด กับวิกฤตการณ์ที่ไม่จบสิ้น

05 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นับเป็นเหตุสะเทือนขวัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ในวันที่ 4 สิงหาคม 2563 เมื่อเกิดเหตุระเบิดครั้งใหญ่ในท่าเรือกรุงเบรุต ทำให้มีผู้เสียชีวิตร่วม 200 คน ผู้บาดเจ็บอีกหลายพัน และอีก 300,000 ชีวิตได้รับผลกระทบ ด้วยแรงระเบิดเทียบเท่า 1 ใน 5 ของระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่า กลายเป็นความสูญเสียในระดับประเมินค่าไม่ได้ทั้งต่อผู้คนและประเทศ

วันนี้แม้ความเสียหายที่เกิดกับเมืองจะทยอยได้รับการฟื้นฟู แต่รอยแผลต่อผู้คนกลับยังฝังลึกและยิ่งกลัดหนอง

 

จากการสอบสวนของทางการเลบานอน สาเหตุของการระเบิดคือแอมโมเนียมไนเตรทกว่า 2,750 ตัน ที่เก็บไว้อยู่ภายในโกดังท่าเรือตั้งแต่ปี 2557 คำถามคือแล้วแอมโมเนียมไนเตรทพวกนี้มาจากไหน? เหตุใดมันจึงไปอยู่ในท่าเรือใจกลางเมืองหลวงของประเทศ?

 

สารเคมีไร้ที่มา

คำถามที่ว่าสารเคมีนี้มาจากไหน ไม่เคยมีคำตอบแน่ชัดจากทางการเลบานอน บอกเพียงว่าสารเคมีร้ายแรงนี้จะถูกส่งไปซีเรีย แต่ไม่มีคำชี้แจงส่วนอื่นเพิ่มเติม

 

ข้อมูลจากปากคำของนาย ยูซุฟ เชฮาดี อดีตพนักงานท่าเรือที่ลี้ภัยไปอยู่แคนาดาตั้งแต่ มี.ค. 2563 กล่าวว่า การเก็บแอมโมเนียมไนเตรทไว้ในโกดัง 12 ดำเนินมายาวนานหลายปี เขาเคยแจ้งเตือนเกี่ยวกับเรื่องนี้กลับไม่มีการแก้ไข อีกทั้งการจัดเก็บเป็นไปอย่างหละหลวมและไม่ถูกวิธี ถุงบรรจุสารเคมีบางใบเปียก และกัดกร่อนรถที่ใช้ขนไปด้วย

 

การนำแอมโมเนียมไนเตรทมาเก็บไว้ในโกดัง 12 นี้เกิดขึ้นหลายครั้ง แต่กลับไม่มีการดำเนินการจัดเก็บหรือขนย้ายไปในสถานที่เหมาะสมแม้แต่ครั้งเดียวตลอดอายุการงานของเขา ตรงกับปากคำจากอีกหนึ่งเจ้าหน้าที่อาวุโสที่ให้การว่า ตลอดช่วงปี 2558-59 มีการขนสารเคมีเหล่านี้เข้ามาตลอดจากคำสั่งของกองกำลังรักษาความปลอดภัยของเลบานอน แต่กลับไม่เคยชี้แจงต้นตอหรือที่มาได้เลย

 

องค์กรสิทธิมนุษยชนออกมาประณามผู้นำของเลบานอนว่า “ด้วยหลักฐานบ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่ทางการของเลบานอนประมาทเลินเล่ออย่างที่สุดและละเมิดกฎหมายจัดการสารเคมีอันตราย การกระทำและตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้น สร้างความเสี่ยงในชีวิตร้ายแรงจากความขาดความรับผิดชอบ ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทางการเลบานอนล้มเหลวในการป้องกันความเสี่ยงร้ายแรงแก่ประชาชน ถือเป็นการละเมิดสิทธิแห่งการมีชีวิต”

 

“มากไปกว่านั้น มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าคนในรัฐบาลรู้ถึงความเสี่ยงเหล่านี้ล่วงหน้า ว่าการเก็บแอมโมเนียมไนเตรทจะทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิตของผู้คนมากมายแต่เลือกจะละเลย นี่จึงอาจนับได้ว่าเป็นการฆาตกรรมโดยไม่ได้ตั้งใจ”

ครบ 1 ปีท่าเรือเลบานอนระเบิด กับวิกฤตการณ์ที่ไม่จบสิ้น

ผลกระทบที่ตามมากับความวุ่นวายไร้ที่สิ้นสุด

ก่อนเกิดเหตุระเบิด เสถียรภาพของประเทศและรัฐบาลของเลบานอนไม่ได้ดีนัก นับแต่สงครามกลางเมืองที่กินเวลายาวนานถึง 15 ปี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตร่วม 120,000 คน และอีกนับล้านต้องพลัดถิ่น ความขัดแย้งทางการเมืองภายในมีสูง และมีข้อสงสัยเรื่องการคอร์รัปชั่น

 

จนกระทั่งเกิดเหตุระเบิด ประชาชนยิ่งทวีความไม่พอใจ เดินขบวนประท้วงอย่างดุเดือด จนทำให้รัฐบาลต้องลาออกทั้งคณะ เพื่อบรรเทาความไม่พอใจและเปิดทางให้มีการแก้ไขสถานการณ์ อย่างไรก็ตามความขัดแย้งที่มีสูงอยู่ก่อนทำให้การตั้งรัฐบาลชุดใหม่เป็นไปอย่างยากลำบาก และไม่สามารถดำเนินการหรือออกนโยบายสำคัญเพื่อขับเคลื่อนประเทศได้

 

จนในที่สุดวันที่ 15 กรกฎาคม 2564  รัฐบาลเลบานอนก็มีการเปลี่ยนมืออีกครั้ง มาเป็น “นาจิบ มิคาติ” มหาเศรษฐีพันล้านผู้เคยเป็นนายกฯมาแล้ว 2 สมัย อย่างไรก็ตามเขาก็ไม่ใช่คนที่ประชาชนให้การสนับสนุน

ครบ 1 ปีท่าเรือเลบานอนระเบิด กับวิกฤตการณ์ที่ไม่จบสิ้น

เศรษฐกิจ-จุดตายที่ตอกลิ่มใจกลางรัฐบาล

ด้านเศรษฐกิจคือบาดแผลที่เรื้อรังมานาน สงครามกลางเมืองของเพื่อนบ้านอย่างซีเรีย การแพร่ระบาดของโควิด รวมกับเหตุระเบิดใจกลางเมืองหลวงเบรุต ส่งผลประเทศแทบไม่มีช่องทางฟื้นตัว เศรษฐกิจซบเซาเต็มไปด้วยผู้คนว่างงาน นำไปสู่การประท้วงตั้งแต่ก่อนเกิดการระเบิด สกุลเงินปอนด์เลบานอนลดมูลค่าลงกว่า 90% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ประชาชนขาดสินค้าสำหรับอุปโภค-บริโภคเป็นวงกว้าง ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเสียหายร้ายแรง ธนาคารโลกรายงานว่านี่คือหนึ่งในสามวิกฤตเลวร้ายที่สุดในรอบ 200 ปี เช่นเดียวกับนิวยอร์กไทม์ส ที่ชี้ถึงตัวเลขจีดีพีประเทศหดตัวถึง 40% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา

 

แม้มีความพยายามในการขอเงินสนับสนุนช่วยฟื้นฟู แต่ปัญหาทุจริตเรื้อรังและการเล่นพรรคเล่นพวกในกลุ่มชนชั้นนำก็ฝังลึกทำให้ประชาคมโลกไม่วางใจ สหรัฐฯถึงกับประกาศกร้าวว่าจะไม่มีการช่วยเหลือจากนานาชาติ ตราบใดที่เลบานอนไม่มีการปฏิรูประบอบการเมืองของประเทศ หรือแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปฏิรูป เพื่อให้เงินช่วยเหลือที่ให้ไปไม่สูญเปล่า

 

นั่นทำให้ปัญหาวนพันกันไปมาจนแทบไม่มีทางออก

ครบ 1 ปีท่าเรือเลบานอนระเบิด กับวิกฤตการณ์ที่ไม่จบสิ้น

สังคม-ผู้คนที่ไม่อาจกลับไปเหมือนเดิม

นอกจากในด้านประเทศตัวบุคคลที่เผชิญหรืออยู่ในโศกนาฎกรรมครั้งนั้นก็เลวร้ายไม่แพ้กัน

 

“ยาร่า มาเล็ม” เจ้าหน้าที่กู้ภัยที่เข้าไปช่วยเหลือในเหตุการณ์ยังคงตกอยู่ใต้ภาวะ PTSD (ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง) โดยเธอยังเห็นภาพหลอนคนตายอยู่แม้เหตุการณ์จะสิ้นสุดลงไปแล้ว เช่นเดียวกับประชาชนบางคน ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงดังหรือจุดพลุก็ยังอยู่ในอาการหวาดผวา เพราะมันซ้ำรอยเหตุการณ์สงครามกลางเมืองที่เคยพบในวัยเยาว์ คอยตอกย้ำให้ภาพเลวร้ายเหล่านั้นกลับมา หรือผู้เคราะห์ร้ายบางคนที่บาดเจ็บศีรษะจากแรงระเบิดที่ลอดผ่านกระจก ทำให้เธอหวาดกลัวที่จะเข้าใกล้กระจกหลังจากนั้นไปอีกนานนับเดือน

 

แน่นอนมีความพยายามในการยื่นมือเข้าช่วยผู้เคราะห์ร้าย ในการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพจิตเพื่อให้พวกเขาอาการดีขึ้น มีการจัดตั้งสายด่วนหรือศูนย์รับปรึกษาโดยเฉพาะที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงในเลบานอน แต่ด้วยจำนวนผู้เสียหายจำนวนมหาศาลความช่วยเหลือจึงไม่เพียงพอ อีกทั้งการรักษาบาดแผลทางใจเหล่านี้ต้องใช้เวลา หรืออาจชั่วชีวิต

 

นี่คือเหตุผลว่าทำไมวิกฤตเลบานอนจึงยังไม่สงบ กลับกันจากนี้มีแต่จะยิ่งทวีความรุนแรงเมื่อผู้คนอดอยากและขาดคุณภาพชีวิต รากฐานปัญหาประเทศฝังลึก เหตุความขัดแย้งทางเชื้อชาติในส่วนอิสราเอลและปาเลสไตน์กลับมาคุกรุ่น รวมถึงสถานการณ์โควิดไม่มีทีท่าจะทุเลา จนไม่อาจรู้ได้ว่าปลายทางหรือจุดสิ้นสุดของปัญหานี้จะไปจบลงตรงไหน

ครบ 1 ปีท่าเรือเลบานอนระเบิด กับวิกฤตการณ์ที่ไม่จบสิ้น

logoline