svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

โลกของอีสปอร์ตจากจีนสู่ไทย ในวันที่เกมไม่จบแค่ในจอ

04 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“วันๆ เล่นแต่เกมโตขึ้นไปจะทำอะไรกิน?” น่าจะเป็นหนึ่งในวลีเด็ดที่เกมเมอร์รุ่นเยาว์โดนพูดใส่มาไม่มากก็น้อย(แม้จะเพิ่งทำการบ้านเสร็จและพึ่งเปิดเกมได้สามวินาทีก็ตาม) กับสื่อบันเทิงที่ผู้ใหญ่พากันหาว่ามอมเมาไม่มีสาระ ถึงพยายามทุ่มเทเล่นไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา เป็นเหตุผลให้เราถูกบังคับไปทำงาน อ่านหนังสือ หรือเล่นนอกบ้านแทน โดยที่เด็กก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปเถียง

ช่วยไม่ได้ในเมื่อวงการเกมยุคแรก(หรือต้องบอกว่าสื่อบันเทิงเกือบทุกแขนง) ในช่วงแรกมักถูกมองว่าไร้สาระ ด้วยขาดความเข้าใจต่อสิ่งใหม่ ประกอบกับการมองอะไรก็ตามที่ไม่เข้าใจในทางลบ พอมีเรื่องร้ายก็ดิ่งไปโทษมันไว้ก่อน พร้อมกีดกันออกไปจากสังคม

 

ว่าไปในบางมุมมันก็ดูคล้ายเกมยอดนิยมในยุคนี้อย่าง Among Us อยู่เหมือนกัน

 

อย่างไรก็ตาม คำถามที่เกมเมอร์รุ่นเดอะไม่มีคำตอบ วันนี้เราสามารถบอกกับคนเหล่านั้นได้แล้ว

 

ด้วยคำว่า “ไปเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต”

โลกของอีสปอร์ตจากจีนสู่ไทย ในวันที่เกมไม่จบแค่ในจอ

จากงานอดิเรกสู่อาชีพ ฟังดูสวยหรูความจริงไม่ง่าย

 

แค่ชื่อยังเท่กับการไปเป็นนักเล่นเกมอาชีพที่ได้นั่งเล่นเกมดั่งใจทั้งวัน ขลุกอยู่กับมันได้ตลอดไม่ต้องคิดหรือสนใจเรื่องอื่น แถมรายได้ดีเป็นกอบเป็นกำเต็มไปด้วยช่องทางทำเงินมากมาย อ้างอิงจากนักกีฬาอาชีพของไทยในช่วงเวลาที่ธุรกิจเพิ่งตื่นตัว นักกีฬาชั้นนำของเกม Arena of Valor ตัวเก่งอย่าง FIRSTONE , ISLINDILS หรือ SUMMER ต่างมีรายได้กันไม่ต่ำกว่า 50,000 เหรียญสหรัฐต่อปี หรือตีเป็นเงินไทยก็จะมากถึง 1,500,000 บาท

โลกของอีสปอร์ตจากจีนสู่ไทย ในวันที่เกมไม่จบแค่ในจอ

ฟังดูดีแต่กว่าจะมีวันนี้กับชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่นับหน้าถือตา นักกีฬาทุกคนต้องผ่านความลำบากทั้งสิ้น  เพราะถึงเป็นการเล่นเกม แต่กับคนที่มีฝันและไฟอยากไปถึง ทุกคนในวงการต่างจริงจังและทุ่มเทชีวิตให้มัน ต้องใช้เวลาซ้อมนับสิบชั่วโมงในทุกๆวัน เรียกได้ว่าฝึกซ้อมในระดับขายวิญญาณเลยทีเดียว

 

แน่นอนการซ้อมระดับนี้ย่อมทำให้ผลงานออกมาดี แต่ต้องแลกมากับสุขภาพกายและใจที่พังตามกันไปในไม่ช้า อีกทั้งคนที่ล้มลงกลางทางไปไม่ถึงฝั่งฝันก็มีอีกมากมายหลายสาเหตุ

 

ดังนั้นก่อนจะตั้งเป้าว่าอยากเป็น ต้องสำรวจตัวเองด้วยว่าแถวนี้ค่อนข้างเถื่อน เราสามารถรับแรงกดดันได้แค่ไหน?

 

สำคัญที่สุดอย่าได้คิดเอาคำนี้เป็นข้ออ้างเล่นเกมไปวันๆ เพราะนั่นคือการทำร้ายกันทั้งวงการ!!

โลกของอีสปอร์ตจากจีนสู่ไทย ในวันที่เกมไม่จบแค่ในจอ

อีสปอร์ตในจีน การสนับสนุนอันยิ่งใหญ่พร้อมการควบคุมอันใหญ่ยิ่ง

 

มาถึงประเด็นที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้กับการเข้ามาควบคุมของรัฐบาลต่อวงการและอุตสาหกรรมทั้งระบบ กับล่าสุดที่ Economic Information daily สื่อข่าวของรัฐบาลจีนในสังกัด Xinhua วิพากษ์วิจารณ์เกมออนไลน์อย่างรุนแรง ถึงขนาดใช้คำว่า “ยาเสพติดอิเล็กทรอนิกส์” พาดพิงถึงเกมชื่อดัง Honor of King(ต้นแบบของ ROV) ว่าทุกวันนี้เยาวชนต่างทุ่มเทเวลาให้กับเกมนี้มากเกินไป พร้อมทั้งกล่าวหาว่าอุตสาหกรรมเกมกำลังทำลายคนรุ่นใหม่ทั้งประเทศ

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หุ้นของบริษัท Tencent เจ้าของเกมที่ถูกพาดพิง รวมถึง Netease บริษัทเกมคู่แข่ง ดิ่งลงทันที 10% จนทาง Tencent ก็ต้องออกมาเคลื่อนไหวตอบรับว่าจะหาทางแก้ไขปัญหาให้จงได้ แม้ก่อนหน้านี้จะมีระบบจำกัดอายุผู้เล่นที่ยังไม่ถึง 18 ปีห้ามเล่นเกิน 22.00 น. รวมถึงบังคับให้ใช้ชื่อจริงและมีเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าก็ตาม

โลกของอีสปอร์ตจากจีนสู่ไทย ในวันที่เกมไม่จบแค่ในจอ

แน่นอนสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อวงการอีสปอร์ตจีนอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะนักกีฬาจำนวนมากที่โลดแล่นอยู่ในวงการ หลายคนยังเป็นเยาวชน ด้วยอายุในเส้นทางสายอาชีพค่อนข้างสั้น ทำให้หลายคนทุ่มเทเวลาให้มันตั้งแต่เด็ก การมีกฎหมายเข้าควบคุมฟังดูดีแต่ย่อมจำกัดโอกาสคนเหล่านั้นไปด้วย

 

กระนั้นคงช่วยไม่ได้เมื่ออีสปอร์ตในจีนมีกระแสร้อนแรง ทั้งจากรายได้และความมีหน้ามีหน้าตามีเชื่อเสียง ทุกสังกัดที่ส่งทีมแข่งขันผ่านการคัดตัวและฝึกซ้อมหฤโหด มีค่ายฝึกเยาวชนเพื่อพัฒนาผู้เล่นที่มีแวว เท่านั้นไม่พอยังมีโรงเรียนสอนเกี่ยวกับอีสปอร์ตโดยเฉพาะ ทั้งเพื่อฝึกปรือบุคลากรและคัดกรองคนที่ไม่พร้อมหรือขาดความตั้งใจออกจากระบบไปพร้อมกัน

โลกของอีสปอร์ตจากจีนสู่ไทย ในวันที่เกมไม่จบแค่ในจอ

ประเทศไทยกับอีสปอร์ตเริ่มเบ่งบาน แต่...

 

ในส่วนประเทศไทยวงการนี้ถูกขับเคลื่อนกันมานับสิบปีตั้งแต่การมาถึงของร้านอินเตอร์เน็ต ที่เงินรางวัลมีกันแค่หลักร้อยหลักพันหรือบางครั้งก็ไม่มีเลย จากยุคเริ่มต้นที่ไม่มีใครรู้จักหรือเห็นค่ามาจนวันนี้ ช่วงเวลาที่ระบบอินเตอร์เน็ตกับการถ่ายทอดสดก้าวกระโดดจากยุคก่อน และการมาถึงของเกมยอดนิยมอย่าง Overwatch และ Arena of Valor ที่ผลักดันการแข่งขันให้เป็นที่รู้จัก มีการจัดงานใหญ่โตที่ห้างดัง ทั้ง Siam Paragon หรือ Central World พร้อมเงินรางวัลนับล้านบาท

 

ล่าสุดอีสปอร์ตเติบโตและพัฒนาก้าวไกลด้วยการเข้ามาของตลาดมือถือ ทำให้มูลค่าของวงการในประเทศไทยช่วงปีที่ผ่านมาพุ่งสูงถึง 22,000 ล้านบาท นี่คือตลาดที่เติบโตต่อเนื่องมายาวนาน อีกทั้งผลกระทบจากโควิดก็ส่งผลต่อกีฬาชนิดนี้น้อยกว่า ด้วยสามารถจัดงานแข่งแบบออนไลน์โดยไม่ต้องพบหน้า และถ้ายิ่งมีการจัดงานออฟไลน์จะยิ่งกระตุ้นมูลค่าของมันให้สูงมากกว่านี้อีก

โลกของอีสปอร์ตจากจีนสู่ไทย ในวันที่เกมไม่จบแค่ในจอ

แต่อย่าเพิ่งชะล่าใจ แน่นอนเม็ดเงินที่หลั่งไหลทำให้วงการเริ่มอยู่ตัว เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเป็นที่จับตามองจากรอบข้าง โดยเฉพาะรัฐบาลที่มองเห็นทั้งโอกาสส่งเสริมและควบคุม จากปีก่อนที่มีข่าวว่าจะมีกฎหมายเข้าควบคุมธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้ง อีสปอร์ต และการสตรีมมิ่ง แต่ร่างกฎหมายที่ออกมาไม่สมเหตุสมผลหรือตรงกับความเป็นจริงนัก เช่น ห้ามแข่งขันเกม FPS หรือเกมที่มีเนื้อหารุนแรง จำกัดอายุต่ำกว่า 18 ห้ามแข่งขัน และห้ามสตรีมเกมเกิน 2 ชม. ต่อวัน จนกลายเป็นประเด็นร้อนทำทั่วทั้งวงการลุกเป็นไฟ และออกมาเรียกร้องกันพักใหญ่

 

ร่างกฎหมายที่ว่าถูกพักการพิจารณาไปชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด แต่เราต้องยอมรับว่าตอนนี้อีสปอร์ตเป็นที่ยอมรับและแพร่หลาย แต่ก็ทำให้กฎเริ่มเข้ามาร้อยรัด รวมถึงคนที่คิดแสวงหาผลประโยชน์และกอบโกยจากวงการก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว

 

แน่นอนทั้งหมดอยู่ในขั้นเริ่มต้น จะจบลงแบบใดยากจะบอกได้

 

โลกของอีสปอร์ตจากจีนสู่ไทย ในวันที่เกมไม่จบแค่ในจอ

logoline