svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

‘School Street’ เมืองที่ดีคือเมืองที่คืนถนนรอบโรงเรียนให้เด็กๆ

คอลัมน์ CuriousCity มาพูดถึงการให้ความสำคัญกับพื้นที่รอบโรงเรียน โดยเฉพาะถนน ที่ตอนนี้หลายประเทศต่างพยายามปรับปรุงปลอดภัย และเด็กๆ ได้เดินเท้าและเดินทางโดยที่ยังได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและสิ่งรอบข้าง

เวลาเรานึกภาพเด็กๆ บนท้องถนน เราอาจเห็นภาพแค่เด็กๆ ที่ใช้เวลานั่งรถไปโรงเรียน หลายครั้งเป็นการนั่งรถอย่างยาว เป็นกิจวัตรที่น่าเหนื่อยหน่ายใจทั้งผู้ปกครองและนักเรียนที่ไปโรงเรียน

และถ้าเรานึกภาพเด็กๆ ที่อยู่บนท้องถนนในรูปแบบอื่น ในระยะหลังท้องถนนส่วนใหญ่ไม่ใช่พื้นที่ของเด็กๆ เรามักรู้สึกว่าถนนเป็นพื้นที่อันตราย เป็นพื้นที่ที่เด็กๆ ต้องอยู่ให้ห่างไม่ว่าจะถนนไปจนถึงตรอกซอกซอย ถนนเป็นพื้นที่ของรถยนต์ เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยและความเร็ว ถนนไม่ควรเป็นที่ของเด็กๆ แม้แต่การมองถนนพื้นที่สำคัญเช่นรอบๆ โรงเรียนหรือเส้นทางเดินไปโรงเรียนก็ตาม

‘School Street’ เมืองที่ดีคือเมืองที่คืนถนนรอบโรงเรียนให้เด็กๆ

ทว่า หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกมองว่าถนนไม่ใช่แค่พื้นที่ของรถยนต์เพียงอย่างเดียว ถนนคือพื้นที่สำคัญและมีจำนวนมากของเมืองใหญ่ และด้วยแนวคิดเช่นสิทธิที่เราพึงมีต่อเมือง (right to the city) หลายเมืองใหญ่เริ่มพยายามคืนความปลอดภัยให้กับถนนและคืนถนนให้กับเด็กๆ เกิดแนวคิดที่เรียกว่า ‘ถนนเพื่อการเล่น’ หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือการเปิดถนนที่เรียกว่า ‘ถนนของโรงเรียน’ (school street) คือการปิดถนนรอบๆ โรงเรียนไม่ให้รถยนต์เข้า
 

ในโอกาสที่เด็กๆ กลับเข้าสู่โรงเรียนอีกครั้ง คอลัมน์ 'CuriousCity' ชวนไปสำรวจกระแสการปิดถนนและเปิดถนนในฐานะพื้นที่ของเด็กๆ รอบโรงเรียนอันเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในเมืองสำคัญการจัดการที่เริ่มจากการปิดถนนรอบๆ โรงเรียน ไปจนถึงการทำให้เส้นทางการเดินทางไปโรงเรียนของเด็กๆ ทั้งรื่นรมย์และปลอดภัยมากขึ้น

 

กระแสจากทศวรรษ 90 ที่กลับมาเฟื่องฟูในยุคโควิด-19

คำว่าถนนของโรงเรียนหรือ school street เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จริงๆ เรียบง่ายนั่นคือ การที่เมืองกำหนดให้พื้นที่รอบๆ หรือถนนด้านหน้าของโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดรถยนต์ การปิดถนนอาจเป็นการปิดแบบถาวรหรือปิดตามช่วงเวลาก็ได้ แต่โปรเจกต์ถนนของโรงเรียนก็จัดการได้หลายรูปแบบและหลายความเข้มข้น เช่น การปิดถนนเฉพาะช่วงเวลาเริ่มและเลิกเรียน ใช้วิธีเรียบง่าย เช่น การตั้งป้าย, ควบคุมการจราจร, ลดจำนวนเลนลง, ควบคุมความเร็ว, เปิดเลนเฉพาะรถรับส่งสาธารณะหรือรถโรงเรียน

‘School Street’ เมืองที่ดีคือเมืองที่คืนถนนรอบโรงเรียนให้เด็กๆ

ในบางเมืองอาจเลือกเปิดถนนของโรงเรียนที่ถาวร คือปิดถนนรอบๆ โรงเรียน จัดการจราจรใหม่ ทางเมืองอาจใช้วิธีการปรับปรุงรูปแบบถนนเป็นนโยบายที่เข้มข้นมากขึ้น ทำให้ถนนรอบๆ โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่เพื่อการเดินและขับจักรยานเท่านั้นพร้อมกับทำให้ถนนกลายเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นสวน เป็นสนามเด็กเล่น เป็นพื้นที่ปลอดภัยและพบปะกันของเด็กๆ และชุมชน
 

อนึ่ง การการเปิด school street ส่วนใหญ่เมืองจะพิจารณาและเปิดถนนของโรงเรียนเป็นกรณีและเป็นพื้นที่พื้นที่ไป ถ้าเรามองย้อนไป แนวคิดเรื่องถนนปลอดภัยของโรงเรียนเริ่มต้นตั้งแต่ทศวรรษ 1990s เริ่มจากเมืองในอิตาลีคือโบลซาโนและมิลาน ตามมาด้วยเบลเยียม และในช่วงปี 2012 ที่สหราชอาณาจักรทั้งในสกอตแลนด์และลอนดอนก็เริ่มมีนโยบายเกี่ยวกับการปิดถนนและสร้างถนนปลอดภัยในเขตโรงเรียน เมืองสำคัญเช่นลอนดอนเริ่มมีถนนปลอดภัยของโรงเรียนในย่านแคมเดน ในช่วงปี 2016 และขยายตัวไปยังอีกหลายย่านในหลายเมืองในช่วงปี 2018

ทั้งนี้กระแสการกีดกันรถยนต์ออกจากพื้นที่รอบโรงเรียนในฐานะพื้นที่ของเด็กๆ นอกจากเมืองที่รับเอาแนวคิดถนนปลอดภัยของโรงเรียนไปใช้ บางประเทศเช่นเนเธอร์แลนด์ก็มีแนวคิดของการให้พื้นที่เมืองทั้งหมดเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็กๆ มีการหลีกเลี่ยงการสร้างโรงเรียนไว้ใกล้กับถนนใหญ่ ไปจนถึงเมืองเช่นอัมสเตอร์ดัมส่งเสริมการขับขี่จักรยานโดยชูเรื่องความปลอดภัยของลูกหลานและต่อต้านรถยนต์ในเมืองในช่วงทศวรรษใกล้เคียงกัน

กระแสการปิดถนนรอบโรงเรียนและการจัดการทั้งการออกแบบถนนและการจัดการจราจรรอบโรงเรียนกำลังเป็นอีกกระแสสำคัญที่เกิดขึ้นในเมืองทั่วโลก รายงานในปี 2022 จากภาคีความร่วมมือว่าด้วยสุขภาพเด็ก (The Child Health Initiative) รายงานว่าการสร้างถนนปลอดภัยเพื่อเด็กๆ กำลังขยายตัว ส่วนหนึ่งขยายอย่างก้าวกระโดดในช่วงโควิด-19 การปิดถนนกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและพาให้เรานึกภาพการใช้พื้นที่เมืองแบบใหม่ที่ไม่ใช่แค่พื้นที่ของรถยนต์ แต่เป็นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อผู้คนและชุมชน

ตัวเลขความก้าวกระโดดจากรายงานระบุว่าในปี 2019 มีเพียง 8 ประเทศที่มีโครงการถนนปลอดภัยรอบโรงเรียน จำนวนถนนในลักษณะดังกล่าวมีเพียง 80 พื้นที่เท่านั้น แต่ในช่วง 2 ปีหลังจากโควิด-19 โครงในลักษณะของ school street เพิ่มจำนวนขึ้นราว 5 เท่า เป็น 500 พื้นที่ และในปี  2022 ปีที่รายงานเผยแพร่ ทั่วโลกมี school street มากถึงกว่า 1,250 พื้นที่ทั่วโลก ขยายจากยุโรปมาสู่อเมริกาและแคนาดาด้วย

‘School Street’ เมืองที่ดีคือเมืองที่คืนถนนรอบโรงเรียนให้เด็กๆ

 

ทำไมทั่วโลกถึงเริ่มปิดถนนรอบโรงเรียน

การที่เมืองต่างๆ ทั่วโลกรับและใช้การปิดถนนเพื่อเด็กๆ รอบโรงเรียน นอกจากช่วงโควิด-19 ที่เมืองเกิดสภาพพิเศษที่ทำให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์และใช้ถนนของเมืองในรูปแบบใหม่นอกเหนือจากการใช้รถ โครงการเช่น school street ด้วยตัวของมันเองค่อยๆ ได้รับความสนใจและกลายเป็นนโยบายของรัฐมากขึ้นตามความคิดต่างๆ ที่มาบรรจบกัน เมืองมองเห็นประโยชน์จากการควบคุมปริมาณการจราจรโดยมีโรงเรียนเป็นพื้นที่เปราะบางและเป็นพื้นที่ริเริ่มสำคัญ

แรกสุดของการปิดถนนมาจากประเด็นเรื่องความปลอดภัยของเด็กๆ ในหลายมิติ ทั้งความปลอดภัยจากการจราจร ลดการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่รอบโรงเรียนอันเป็นพื้นที่ของเด็กๆ นอกจากเรื่องอุบัติเหตุแล้ว ในระยะแรกการปิดถนนสัมพันธ์กับความกังวลเรื่องมลพิษทางอากาศและเสียงรบกวน การปิดถนนเฉพาะช่วงเวลารับ-ส่งเริ่มถูกตั้งคำถามว่าในช่วงเวลาอื่นๆ ปริมาณมลพิษทั้งอากาศและเสียงก็ยังคงส่งผลกับเด็กๆ ในโรงเรียนนั้นอยู่ดี

‘School Street’ เมืองที่ดีคือเมืองที่คืนถนนรอบโรงเรียนให้เด็กๆ

นอกจากกระแสเรื่องสุขภาพและพื้นที่กายภาพแล้ว ประเด็นเรื่องสิทธิที่พึงมีต่อเมือง (right to the city) คือเมืองควรเป็นพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัย กระแสดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกระแสเรื่องเมืองอื่นๆ เช่น กระแสถนนเพื่อการอยู่อาศัย (street for living หรือที่ในภาษาดัตช์เรียก woonerf), กระแสถนนเพื่อการเล่นหรือ play street ในประเทศกลุ่มสหราชอาณาจักร, และภาคีเมืองที่เป็นมิตรต่อเด็กหรือ child-friendly cities ของ UNICEF

การคิดเรื่องพื้นที่เมืองขึ้นใหม่ในฐานะพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของผู้คนเป็นอีกหนึ่งการปรับจินตนาการที่เรามีต่อเมืองและสาธารณปูโภคในด้านหน้าตาและการใช้งานถนน ในหลายความคิด การออกแบบเมืองและพื้นที่กายภาพ มองเห็นเด็กๆ เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ถ้าพื้นที่เมืองปลอดภัยกับเด็กๆ ทำให้เด็กๆ เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงได้ เมืองนั้นก็น่าจะดีกับคนทุกกลุ่ม

‘School Street’ เมืองที่ดีคือเมืองที่คืนถนนรอบโรงเรียนให้เด็กๆ

ประเด็นเรื่องถนนหนทางปลอดภัยและการปิดถนนรอบโรงเรียนเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่จริงๆ ตัวแนวนโยบายมีความเรียบง่าย ยืดหยุ่นและพัฒนาการต่อเนื่องได้ เช่น อาจเริ่มจากการตั้งป้าย ทดลองควบคุมการจราจรเป็นช่วงวันและช่วงเวลา ไปจนถึงการจัดสร้างและออกแบบถนนรอบโรงเรียนขึ้นใหม่ 

ตัวถนนรอบโรงเรียนนี้จึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทดลองคิดถึงถนนของเมืองในมิติอื่นๆ ที่ตัวมันเองพัฒนาร่วมกับโครงการอื่นๆ เช่นในปารีสที่มีแผนจะขยายจำนวนถนนของโรงเรียนไปอีก 300 แห่ง ซึ่งปารีสได้ออกแนวนโยบายร่วมกับโครงการอื่นๆ เช่น การสนับสนุนโครงข่ายและวัฒนธรรมจักรยาน, การปรับปารีสให้เป็นเมืองของการเดิน, การส่งเสริมขนส่งสาธารณะ, การเปิดรถไฟใต้ดินฟรีให้เด็กและเยาวชน สำหรับถนนของโรงเรียนที่ปารีสวางแผนจะทำคือการทำให้ตัวถนนเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นสนามเด็กเล่นและพื้นที่พบปะในทุกๆ วันของเด็กๆ

นอกจากเมืองเช่นยุโรปและอเมริกาแล้ว เมืองสำคัญของญี่ปุ่นก็มีนโยบายโรงเรียนใกล้บ้านและการทำให้ย่านรวมถึงการเดินไปโรงเรียนเป็นเงื่อนไขพื้นฐาน การกระจายสนามเด็กเล่นและสวนขนาดเล็กในพื้นที่ใกล้โรงเรียน ด้วยนโยบายหลายด้านทำให้เมืองและถนนหนทางของญี่ปุ่นเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็กๆ เป็นสถานที่ที่เด็กๆ จะได้ไปใช้เวลานอกบ้าน มีกิจกรรมทางกายภาพ มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในระหว่างเดินทางไปโรงเรียน

‘School Street’ เมืองที่ดีคือเมืองที่คืนถนนรอบโรงเรียนให้เด็กๆ

กระแสและแนวนโยบายเรื่องการปิดถนนและออกแบบถนนใหม่เพื่อเด็กๆ อาจยังเป็นภาพเมืองที่เรานึกถึงไม่ค่อยออกนัก แต่การกลับมาคิดใหม่เรื่องถนนในฐานะพื้นที่ที่เด็กๆ อาจมีสิทธิในการวิ่งเล่นและใช้ถนนนอกจากการเป็นพื้นที่ของรถยนต์ ก็อาจเป็นการหวนนึกถึงอดีตที่ผ่านมาที่อาจไม่ไกลนัก สมัยที่รถยนต์ยังมีไม่มี ถนนยังพอจะปลอดภัยกับการวิ่งเล่น การขี่จักรยาน และการมีพื้นที่กลางแจ้งเพื่อการเล่นของเด็กๆ 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • The Child Health Initiative. (2022, April). School Streets: Putting Children and the Planet First. The Child Health Initiative. 
  • OpenPlans. (n.d.). Streetfilms: Paris goes all in on streets designed for safety, comfort & convenience. OpenPlans. https://www.openplans.org/blog/paris-streetfilms
  • Vivacity Labs. (2021, July 16). Implementing a School Street Scheme. Vivacity Labs. https://vivacitylabs.com/implementing-a-school-street-scheme/
  • Sanderson, N. (n.d.). What Are School Streets?. 8 80 Cities. https://www.880cities.org/what-are-school-streets/