svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

หน้าร้อนและน้ำดื่มฟรี ทำไมเมืองที่ดีต้องมีจุดดื่มน้ำสาธารณะ

17 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ก่อนหน้านี้กรุงเทพฯ เคยมีจุดน้ำดื่มให้คนที่เดินผ่านไปมาได้กดดื่ม แต่แล้วแท่นน้ำดื่มเหล่านี้ก็หายไป อาจจะเพราะหลายคนกังวลเรื่องความสะอาด แต่ตอนนี้จุดดื่มน้ำสาธารณะกลับมาอีกครั้ง เพราะมีความจำเป็นต้องกลับมา

สมัยเด็กๆ การไปออกกำลังที่สวนจตุจักรตอนเช้าๆ สิ่งหนึ่งที่เราอาจได้ใช้บริการคือน้ำพุดื่มน้ำสาธารณะ เจ้าน้ำพุน้ำดื่มฟรีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบของสวนสาธารณะ มักมีหน้าเป็นก๊อกที่เปิดน้ำพุ่งเป็นแนวตรงขึ้นมา บางที่ก็ใช้เท้าเหยียบหรือมือกด เป็นอีกหนึ่งสาธารณูปโภคของเมืองที่สมัยหนึ่งเราอาจเคยได้ใช้กันบ้าง

น้ำพุหรือจุดดื่มน้ำสาธารณะเหล่านี้จะอยู่ในสวน ซึ่งช่วงนึงคนไปออกกำลังอาจได้ใช้เพื่อคลายร้อนหรือล้างหน้าล้างตากันบ้าง นอกจากนั้นริมถนนหรือบนทางเท้าของกรุงเทพฯ จะมีการติดตั้งจุดดื่มน้ำสาธารณะที่มีหน้าตาเป็นแท่นเอาไว้ ในฐานะคนวัย 30 กว่า ซึ่งเคยสะดวกใจดื่มน้ำที่จุดดื่มน้ำในสวน ส่วนตัวไม่ค่อยมั่นใจและกล้าดื่มน้ำจากจุดดื่มน้ำบนถนนของกรุงเทพฯ สักเท่าไหร่ แต่ในยุคนั้น จุดดื่มน้ำสะอาดของกรุงเทพฯ ก็น่าจะเป็นแหล่งน้ำสะอาดหรือเป็นบริการยามฉุกเฉินสำหรับผู้ที่ต้องการ

หน้าร้อนและน้ำดื่มฟรี ทำไมเมืองที่ดีต้องมีจุดดื่มน้ำสาธารณะ
 

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เคยมีจุดดื่มน้ำสาธารณะ ทว่าถูกรื้อถอนออกไปในช่วงปี 2564 ล่าสุดนโยบายใหม่ของกรุงเทพคือการติดตั้งจุดน้ำดื่มสาธารณะใหม่ในรูปลักษณ์ที่ทันสมัยและปลอดภัยขึ้น ความเคลื่อนไหวของเมืองที่มีต่อน้ำดื่มสาธารณะในฐานะสาธารณูปโภคก็นับเป็นอีกองค์ประกอบของเมืองซึ่งวิวัฒนาการไปตามความคิดและยุคสมัย 

จากยุคที่น้ำสะอาดยังไม่ทั่วถึงและการเข้าถึงน้ำสะอาดเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมอย่างหนึ่ง มาจนถึงยุคที่เจ้าน้ำพุเหล่านี้เริ่มกลายเป็นสาธารณูปโภคที่ผู้คนไม่กล้าใช้ และการกลับมาเพื่อทั้งแก้ไขปัญหาเมืองร้อนและเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมลดขยะพลาสติก
 

น้ำพุน้ำดื่ม: องค์ประกอบเก่าแก่ของเมือง

การเกิดขึ้นของเมืองใหญ่นำไปสู่การเข้าถึงน้ำสะอาดเช่นการมีระบบประปาที่มีคุณภาพ, การเดินระบบท่อไปจนถึงทุกครัวเรือนไปจนถึงพัฒนาความสะอาดของน้ำในระดับดื่มได้, และการเกิดขึ้นของเครื่องกรองน้ำเป็นโครงข่ายสาธารณูปโภคที่เกิดขึ้นภายหลัง ดังนั้น เมื่อเมืองเริ่มก่อตัว ผู้คนที่เริ่มอยู่อาศัยรวมกัน สิ่งหนึ่งที่เมืองเริ่มมีให้คือการมีจุดดื่มน้ำสะอาดไว้สำหรับพื้นที่ใจกลางเมือง 

อันที่จริง จุดดื่มน้ำสะอาดเป็นสิ่งที่พบเห็นได้และนับเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ประจำเมืองนั้นๆ เมือง เช่น โรม ลอนดอน หรือเมืองของสเปนเป็นที่ๆ เรามักเจอน้ำพุน้ำดื่มที่มีสถาปัตยกรรม กึ่งประติมากรรมประดับเมือง อาจเป็นรูปปั้น เป็นท่อโลหะ บางครั้งก็เป็นเสา บางจุดออกแบบเป็นหน้าตาตามศิลปะคลาสสิก 

จุดดื่มน้ำสาธารณะที่เก่าแก่ที่สุดอยู่อยู่ที่เนปาล น้ำพุดื่มน้ำของเนปาลนับเป็นอีกหนึ่งตัวแทนของความเป็นเมือง สถาปัตยกรรมของพื้นที่เมืองยุคโบราณและการมีสาธารณูปโภคที่ล้ำสมัย ตัวน้ำพุเรียกว่า dhunge dharas มีหน้าตาเป็นแท่นน้ำไหลขนาดใหญ่ที่มีการแกะสลักสวยงาม ตัวน้ำดื่มจะไหลต่อเนื่องไม่ขาดสาย น้ำพุน้ำดื่มของเมืองที่เก่าแก่ที่สุดพบว่ามีอายุเกือบ 3,000 ปี หรือปรากฏอยู่อย่างน้อย 500 ปีก่อนคริสตกาล ชาวเนปาลบางส่วนก็ยังใช้น้ำพุของเมืองเหล่านี้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค นอกจากน้ำพุขนาดใหญ่แล้วเนปาลยังมีจุดดื่มสะอาดเล็กๆ เป็นประติมากรรมหินซึ่งกระจายตัวอยู่เรียกว่า tutedhara เป็นจุดจ่ายน้ำที่มีท่อและวาล์วเปิดปิดซึ่งพบว่าเกิดหลังน้ำพุน้ำสะอาดเล็กน้อย

จากพื้นที่เมืองในยุคโบราณที่ยังหลงเหลือของเนปาล กระแสน้ำพุน้ำดื่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองและสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์เมืองสมัยใหม่ ลอนดอนนับเป็นเมืองสมัยใหม่เมืองแรกที่เกิดกระแสเรื่องน้ำสะอาด และเมืองเริ่มติดตั้งจุดดื่มน้ำสะอาดเป็นบริการพื้นฐานของเมืองในช่วงกลางศตวรรษที่ 19

dhunge dharas. ภาพจาก Wikimedia Commons


น้ำพุน้ำดื่มสมัยใหม่แห่งแรกที่ลอนดอน

ลอนดอนในทศวรรษ 1850 เริ่มมีโครงข่ายระบบน้ำประปาแล้ว แต่ลอนดอนในยุคนั้นระบบท่อและน้ำสะอาดเป็นการลงทุนของบริษัทเอกชน เมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและบริษัทน้ำประปาที่เน้นผลกำไรทำให้คุณภาพน้ำประปาและการลงทุนขยายโครงข่ายน้ำสะอาดมีไม่เพียงพอ

จุดเปลี่ยนสำคัญหนึ่งคือการที่แพทย์ตรวจพบเชื้ออหิวาต์ในปั้มและเครือข่ายน้ำจากเขตโซโฮทำให้เมืองตระหนักและออกกฎหมายว่า น้ำในระบบของเมืองต้องถูกกรอง และน้ำสะอาดเป็นสิ่งที่เมืองต้องมีให้ทั่วถึงและเพียงพอ น้ำพุน้ำดื่มสาธารณะแห่งแรกของลอนดอนจึงเกิดขึ้นในปี 1859 ติดตั้งอยู่ที่ Holborn Hill ตัวน้ำพุมีสถาปัตยกรรมสวยงามและยังคงอยู่ถึงทุกวันนี้

น้ำพูที่ Holborn Hill. ภาพจาก Wikimedia Commons

นอกจากมุมด้านสาธารณสุขแล้ว ด้วยความที่น้ำสะอาดเข้าถึงได้ยาก สิ่งที่ผู้คนนิยมดื่มกันแทนน้ำคือเบียร์ กระแสสนับสนุนน้ำสะอาดและขยายโครงข่ายน้ำสะอาดสาธารณะเองก็เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผลักดันการงดเหล้า (temperance movement) คือให้มีน้ำสะอาดดื่มฟรีแทนการกินเหล้าเบียร์ หลายจุดของน้ำพุน้ำสะอาดจึงถูกตั้งไว้ที่ลานหรือกำแพงของโบสถ์ทำให้ผู้ที่ดื่มน้ำดับกระหายเมื่อเงยหน้ากลับขึ้นมาก็จะมองเห็นโบสถ์ที่สนับสนุนน้ำสะอาดที่เพิ่งดื่มไป น้ำพุหลายจุดของเมืองจึงมีการจารึกข้อความที่เกี่ยวข้องจากพระคัมภีร์ 

น้ำพุเพื่อการดื่มของลอนดอนได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างรวดเร็ว จุดดื่มน้ำแรกมีผู้ใช้งานมากถึง 7,000 คนต่อวัน จากจุดดื่มน้ำแรก ลอนดอนเพิ่มจุดดื่มน้ำสะอาดเป็น 85 จุด และใน 40 ปีหลังจากนั้น ลอนดอนมีน้ำพุเพื่อการดื่มมากถึง 500 จุดทั่วเมือง

นอกจากลอนดอนแล้ว โรมเป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีจุดดื่มน้ำที่น่าประทับใจ โรมเริ่มติดตั้งจุดดื่มน้ำเรียกว่า Nasone แปลว่าจมูกยักษ์ กรุงโรมเริมติดตั้งจุดดื่มน้ำนี้ในราวทศวรรษ 1870 เจ้าจมูกยักษ์เป็นแท่งหินแกะสลักเดินท่อ ตัวท่อจะโค้งลงและมีน้ำไหลอยู่ตลอด ความพิเศษของการออกแบบคือท่อที่โค้งลงสามารถเอามืออุดและน้ำจะพุ่งขึ้นในส่วนโค้งของท่อ ทำให้สามารถดื่มได้โดยไม่ต้องใช้ภาชนะ โรมมีจุดดื่มน้ำมากถึง 2,500-2,800 จุดทั่วเมือง น้ำที่จ่ายเป็นน้ำจากระบบเดียวกันกับน้ำประปาของเมือง

 

ความเสื่อมถอยและการกลับมา

ในสายตาของเรา น้ำดื่มฟรีรวมถึงจุดดื่มน้ำที่เคยคุ้นเคยค่อยๆ หายไป นอกจากเงื่อนไขต่างๆ เช่นจุดดื่มน้ำสาธารณะทั่วไปของเมืองเริ่มเก่าและเกิดความไม่มั่นใจ ตัวน้ำพุเพื่อการดื่มอาจปนเปื้อนเชื้อโรค พูดง่ายๆ คือเรารู้สึกไม่มั่นใจกับน้ำสะอาดไปจนถึงน้ำประปาว่าสะอาดพอที่จะดื่มได้

นอกจากความเก่าและความไม่มั่นใจ ในช่วงทศวรรษ 1970-1980 เกิดกลุ่มธุรกิจน้ำดื่มบรรจุขวดขึ้น การขยายตัวและการโฆษณาเริ่มให้ความสำคัญกับความสะอาดของน้ำที่ถูกบรรจุอยู่ในขวดปิดและให้ภาพที่ตรงข้ามกับน้ำประปา ในยุคเดียวกันนี้เองที่เริ่มเกิดกระแสเรื่องเชื้อโรค ความกังวลต่อเชื้อแบคทีเรียหรือจุลชีพอื่นๆ ที่อาจปนเปื้อนอยู่ในพื้นที่ทั่วไป

ความเปลี่ยนแปลงของน้ำดื่มนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งซึ่งมีผลต่อเรื่องมาจนถึงทศวรรษ 2000 ตัวอย่างสำคัญคือการออกแบบและเปิดพื้นที่อาคารสาธารณะหรือพื้นที่อาคารใหม่ๆ ที่อาจไม่มีพื้นที่บริการน้ำสะอาด การจะดื่มน้ำได้ในพื้นที่ที่ควรจะเป็นพื้นที่สาธารณะมีเพียงการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดเท่านั้น ในช่วงปี 2000 เริ่มเกิดข้อสังเกตรวมถึงประเด็นเช่นในสหรัฐอเมริกามีข้อมูลว่า ระบบน้ำประปาได้รับการพัฒนาจนสะอาดเพียงพอและมีคุณภาพเพื่อการดื่ม แต่ผู้คนรวมถึงนักเรียนนักศึกษากลับมีวัฒนธรรมในการดื่มน้ำดื่มจากขวดพลาสติกมากกว่าการพกและเติมน้ำสะอาดจากตู้เติมฟรี

หน้าร้อนและน้ำดื่มฟรี ทำไมเมืองที่ดีต้องมีจุดดื่มน้ำสาธารณะ

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้เองที่กระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมและการลดขยะพลาสติกกลับมาเป็นประเด็นสำคัญ ขวดพลาสติกและน้ำสะอาดจึงกลายเงื่อนไขสำคัญทำให้การกลับมาของจุดดื่มน้ำสะอาดกลายเป็นสาธารณูปโภคที่สำคัญอีกครั้ง ในหลายมหาวิทยาลัยเริ่มส่งเสริมและติดตั้งตู้น้ำดื่มที่จ่ายน้ำเย็น มีระบบจ่ายน้ำที่สะอาด สัมผัสกับขวดหรือวัสดุต่างๆ น้อย ดูทันสมัย

ในระดับเมือง กรุงเทพฯ มีการร่วมมือและกระจายจุดดื่มน้ำสะอาดตั้งแต่ปี 2542 ติดตั้งไปทั้งหมดราว 400 จุดทั่วกรุงเทพ แต่ด้วยเงื่อนไขเช่นความสะอาด รวมถึงกลายเป็นจุดทิ้งขยะ จึงได้มีนโยบายรื้อทิ้งในปี 2564 หลังจากนั้น ราวปี 2565 กรุงเทพฯ ออกแนวทางว่าน้ำดื่มสะอาดเป็นสาธารณูปโภคสำคัญและต้องการรื้อฟื้นจุดดื่มน้ำสะอาดของเมือง

ล่าสุดกรุงเทพเองก็เริ่มติดตั้งจุดจ่ายน้ำสะอาดในพื้นที่ของสาธารณะเช่นสวนเบญจกิติ ในความร่วมมือมีแผนที่จะขยายจุดดื่มน้ำออกไปอีก 100 จุด มีการทำแอปพลิเคชั่นเพื่อตรวจหาจุดดื่มน้ำที่ใกล้ที่สุด ประเด็นเรื่องน้ำสะอาดจึงสัมพันธ์กับหลายมิติเมืองและสาธารณูปโภคของเมือง ตั้งแต่การเข้าถึงน้ำสะอาดที่สัมพันธ์กับคนทุกกลุ่มของสังคม กระแสเรื่องการลดขวดพลาสติก ไปจนถึงลักษณะเมืองที่ร้อนในหน้าร้อน การมีจุดดื่มน้ำจึงเป็นอีกหนึ่งบริการที่อาจสัมพันธ์กับสุขภาพเช่นปัญหาเรื่องฮีตสโตรกด้วย

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

logoline