svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

ร้อนแสนสาหัส เมื่อเมืองร้อนทำเศรษฐกิจชะงัก และต้องหาวิธีแก้ในระดับเมือง

เมืองที่มีอากาศร้อนไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะเมื่ออากาศร้อน คนก็จะร้อนตามไปด้วย และเมื่อคนร้อน ผลกระทบก็จะไปตกอยู่กับเศรษฐกิจของเมืองนั้นๆ

ด้วยความที่บ้านเราเป็นเมืองร้อน ด้านหนึ่งทำให้ปัญหาอากาศร้อนเป็นเรื่องธรรมดา—เป็นสิ่งที่เราน่าจะทนและผ่านพ้นไปได้ แต่ทว่าความร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นในทุกปีสัมพันธ์กับปัญหาสิ่งแวดล้อมรวมถึงสาธารณูปโภคและการออกแบบเมืองที่ทำให้เมืองยิ่งร้อนขึ้น ความร้อนนี่แหละกำลังกลายเป็นปัญหาทั้งต่อสุขภาพ กระทบกับผู้คนอย่างเหลื่อมล้ำ และกระทบกับเศรษฐกิจในภาพรวม

ร้อนแสนสาหัส เมื่อเมืองร้อนทำเศรษฐกิจชะงัก และต้องหาวิธีแก้ในระดับเมือง

ประเด็นเมืองร้อนประกอบไปด้วยภาวะคลื่นความร้อน (heatwave) ซึ่งค่อนข้างสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศและปัญหาเกาะความร้อนของเมือง (urban heat island) ปัญหาคลื่นความร้อนเป็นสิ่งที่เมืองในยุโรปและอเมริกาเผชิญ คือความร้อนที่พุ่งสูงขึ้นฉับพลันเป็นความร้อนที่ผู้คนไม่เคยชินและทำให้ประชาชนเสียชีวิต เช่น ในปี 2023 ขนาดเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องความร้อนอย่างเท็กซัสยังมีรายงานการเสียชีวิตสูงถึง 300 คน หรือในระดับประเทศ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และโปรตุเกสรายงานตัวเลขการเสียชีวิตในปี 2022 ที่สูงขึ้นถึงหลักพันรายในช่วงเดือนกรกฎาคม โดยเฉพาะเยอรมนีที่เสียชีวิตสูงถึง 3,000 ราย
 

ปัญหาเมืองที่ร้อนขึ้น—ตัวเลขรายงานเรื่องอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้นแตะ 40 องศาเซลเซียส—ในที่สุดก็ไม่ใช่แค่ข้อเรียกร้องเรื่องการทนร้อน แต่กำลังเป็นปัญหาระดับสาธารณสุขและการออกแบบเมือง คลื่นความร้อนและเกาะความร้อน ซึ่งเกาะความร้อนของเมืองเป็นปัญหามาอย่างยาวนาน นึกภาพเมืองที่เรามักเห็นพื้นถนนและมวลความร้อน เมืองที่อากาศไม่ถ่ายเท ไม่มีต้นไม้ วัสดุต่างๆ อมความร้อนและสะท้อนแสงแดด ไปถึงความร้อนจากเครื่องปรับอากาศ

ร้อนแสนสาหัส เมื่อเมืองร้อนทำเศรษฐกิจชะงัก และต้องหาวิธีแก้ในระดับเมือง

ดังนั้น เรื่องร้อนจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ นอกจากปัญหาสุขภาพแล้ว ปัญหาความร้อนยังสัมพันธ์กับมิติทางเศรษฐกิจ มีรายงานว่ายิ่งเมืองร้อนขึ้นเท่าไหร่ เศรษฐกิจก็จะยิ่งชลอตัวมากเท่านั้น ด้วยสารพัดเหตุผลปัญหาจากความร้อน พื้นที่เมืองจึงมีส่วนรับผิดชอบหลักในการลดอุณหภูมิและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้คน เราจะเริ่มเห็นนโยบายที่น่าสนใจ เช่น แนวคิดเรื่องร่มเงา การเปิดพื้นที่น้ำของเมืองให้เข้าถึงได้ ไปจนถึงการปรับเวลาให้บริการของสวน กลายเป็นกิจกรรมสวนเที่ยงคืน
 

เมืองร้อน คนไม่ใช้จ่าย

ประเด็นผลกระทบของเมืองร้อน และความร้อนที่กำลังร้อนขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นรายงานและการศึกษาที่มุ่งเน้นไปที่ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศ ตรงนี้เองที่มีมิติทางเศรษฐกิจมาเกี่ยวข้อง ราคาแฝงของความร้อนในเมืองกลายเป็นข้อสนใจและข้อควรระวังอย่างสำคัญที่กำลังบอกรัฐและเมืองทั้งหลายว่า เรื่องร้อนไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

โดยทั่วไปโดยที่ยังไม่ต้องพูดถึงงานศึกษา ในช่วงหน้าร้อน เราเองก็อาจพบว่าตัวเรานั้นมีความเซื่องซึมขึ้น ไม่ค่อยกระตือรือร้น ไม่อยากออกไปข้างนอก ไม่ค่อยอยากรับประทานอะไรเป็นพิเศษ ในแง่ของการทำงาน เราก็อาจจะสัมผัสได้ถึงความเอื่อยเฉื่อย ความอ่อนเพลีย ความคิดที่อาจจะไม่ฉับไว แหลมคมเหมือนเคย

ทั้งหมดนั้นดูจะเป็นผลกระทบของอุณหภูมิที่สูงขึ้น ในรายงานชื่อ ‘Hot Cities, Chilled Economies Impacts of extreme heat on global cities’  ซึ่งงานศึกษาตรงไปตรงมาตามชื่อ คือว่าด้วยความร้อนผิดปกติกำลังทำร้ายเศรษฐกิจของเมือง ตัวรายงานค่อนช้างชี้ให้เห็นความชะงักงันในภาคการผลิตเป็นสำคัญ ช่วงที่อุณหภูมิของเมืองสูงขึ้น ศักยภาพในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มีแนวโน้มลดลง อากาศร้อนจัดส่งผลกับแรงงานในพื้นที่การทำงาน การหยุดพักที่บ่อยขึ้น หรือพฤติกรรมของร่างกายที่มักจะลดการเคลื่อนไหวเมื่อเจอกับความร้อน การทำงานที่ลดลงทำให้รายได้ลดลงด้วย

ร้อนแสนสาหัส เมื่อเมืองร้อนทำเศรษฐกิจชะงัก และต้องหาวิธีแก้ในระดับเมือง

ผลกระทบจากการชะลอตัวในภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตต่างๆ มีตัวเลขรายงานการสูญเสียสูงมาก รายงานเฉพาะสหรัฐอเมริกาสูญเสียไปถึงหนึ่งแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ และในรายงานที่สำรวจเมืองในระดับโลก ไม่น่าแปลกใจที่กรุงเทพจะอยู่ในรายงานหนึ่งในฐานะเมืองที่ได้รับผลกระทบด้วย รายงานระบุว่ากรุงเทพจะสูญเสียผลิตภาพจากแรงงาน (worker productivity) ประมาณ 5% ต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าราวสองแสนล้านบาท

ตัวเลขการประเมินนี้มีแนวโน้มจะประเมินว่าจะสูญเสียมากขึ้นทั้งจากความร้อนที่อาจสูงขึ้นและขนาดเศรษฐกิจที่ขยายตัว การคาดการณ์ประเมินไปถึงปี 2050 ถ้าเมืองต่างๆ ไม่ลดอุณหภูมิลง ตัวเลขการสูญเสียอาจสูงขึ้นเกือบสองเท่าจากภาวะปัจจุบัน

 

กรุงเทพจะร้อนจัดทั้งวันทั้งคืนอย่างน้อย 30 วันต่อปี

ตัวรายงานเรื่องเมืองร้อนเศรษฐกิจแช่แข็งค่อนข้างรายงานบริบทกรุงเทพไว้อย่างละเอียด กรุงเทพกำลังเผชิญกับช่วงเวลาร้อน—วันที่มีอุณหภูมิเกิน 30 องศาเซลเซียส ตลอด 24 ชั่วโมง—มากขึ้นเกือบ 30 วันต่อปี ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจเพิ่มเป็น 42 วันต่อปีภายในปี 2050 ด้วยสัดส่วนพื้นที่สีเขียวที่มีน้อยนิด และรายงานตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่ากรุงเทพเผชิญปัญหาเกาะความร้อน พื้นที่เมืองของเรามีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าพื้นที่ชนบทรอบนอกราว 10 องศาเซลเซียส

แน่นอนว่าความร้อนเป็นผลกระทบที่ไม่เป็นธรรมและยิ่งขยายความเหลื่อมล้ำขึ้น ในมิติทางเศรษฐกิจ ความร้อนของกรุงเทพจะกระทบกับภาคการผลิตคือแรงงานรายได้น้อย กลุ่มแรงงานที่ทำงานนอกอาคารโดยเฉพาะภาคขนส่งและการค้า กลุ่มคนที่เสี่ยงเป็นพิเศษเช่นคนขับจักรยานยนต์ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะต้องทนความร้อนเกือบตลอดช่วงเวลาทำงาน ในภาคอื่นๆ เช่น สันทนาการ ภาคบริการและท่องเที่ยว กรุงเทพก็จะมีแรงงานที่ทำงานโดยไม่มีเครื่องปรับอากาศ ทำให้สูญเสียทั้งชั่วโมงการทำงานและภาวะเสี่ยงสุขภาพในแรงงาน

ปัญหาความยากจนและผู้มีรายได้น้อยจึงเป็นกลุ่มสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากความร้อนที่พุ่งสูงขึ้น การงานที่แย่ลง เงื่อนไขการทำงานที่เลวร้าย สุขภาพที่อาจเกิดเป็นภาวะฮีตสโตรก ไปจนถึงการติดเชื้อจากภาวะอาหารเป็นพิษ การเข้าถึงเครื่องปรับอากาศหรือเงื่อนไขการทำงานที่เลวร้ายต่อสุขภาพ ความร้อนจึงอาจเป็นหนึ่งในตัวเร่งของความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นการลดอุณหภูมิและปรับพื้นที่กายภาพหรือแนวนโยบายต่างๆ เพื่อลดความร้อนจึงอาจกำลังเป็นอีกเงื่อนไขที่รัฐและเมืองต้องมุ่งปรับปรุงแก้ไขต่อไป ไม่ใช่แค่เรื่องการอดทนในระดับปัจเจกบุคคล

ร้อนแสนสาหัส เมื่อเมืองร้อนทำเศรษฐกิจชะงัก และต้องหาวิธีแก้ในระดับเมือง

 

เมื่อเมืองช่วยแก้ร้อนให้เรา

การลดความร้อนให้เมืองถือเป็นพันธกิจที่เมืองส่วนใหญ่พยายามทำ การลดความร้อนถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำตั้งแต่ในระดับผังเมืองและนโยบาย เช่นสิงคโปร์และลอนดอนที่ใช้ผังเมืองโดยมองเรื่องทางลมและการที่อาคารและย่านจะช่วยระบายหรือกระจายความร้อน ลดการสะท้อนแสง หลายเมืองก็มีการสนับสนุนหลังคาสีเขียว การปรับวัสดุของเมืองที่ไม่อมความร้อน ถี่ถ้วนไปจนถึงการใช้สีของดาดฟ้าหลังคา การวางแผนเรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ให้เมือง

การแก้ปัญหาเรื่องเมืองร้อนจึงมีหลายระยะ บางส่วนเป็นเรื่องของการคิดใหม่ และคิดเผื่อ สิ่งหนึ่งเรามักเจอในวันร้อนๆ คือพอเราออกจากบ้านหรืออาคารต่างๆ เราไม่มีร่มเงาที่เดินต่อกันได้ การมีร่มหรือร่มเงานับเป็นอีกกลยุทธ์ของเมืองเช่นเมืองเซบิยาของสเปน มีนโยบายเรื่องร่มเงาหรือ Policy of Shade คือเมืองกางชายคาหรือผ้าใบในพื้นที่สำคัญๆ ให้กับเมือง เป็นวิธีเบื้องต้นที่ร่วมลดอุณหภูมิและช่วยผู้คนให้มีที่ร่มที่เพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่องถึงกันได้

ร้อนแสนสาหัส เมื่อเมืองร้อนทำเศรษฐกิจชะงัก และต้องหาวิธีแก้ในระดับเมือง

โดยที่สเปนเช่นเดียวกันคือกรุงบาร์เซโลนามีการสร้างแอปฯ ที่ชื่อว่า Cool Walk เป็นแอพที่จะประมวลข้อมูล ทิศทางแดดและร่มเงา โดยจะช่วยออกแบบเส้นทางเดินเท้าที่ร่มที่สุดตามแต่ที่เราจะกำหนดว่าจะอยากเจอแดดมากน้อยแค่ไหน เดินอ้อมแค่ไหน มีจุดพักหรือจุดแวะดื่มน้ำจากน้ำพุของเมืองไหมในเส้นทางที่เราผ่าน ซึ่งเมืองของสเปนยังมีโปรเจกต์เพิ่มต้นไม้และนโยบายอื่นๆ ประกอบด้วย

Cool Walk

ปารีสเองก็เป็นอีกเมืองที่พยายามลดอุณหภูมิ ปารีสมีนโยบายเพิ่มจุดความเย็น (cool islands) คือสวนน้อยใหญ่ น้ำพุของมือง รวมถึงอาคารสาธารณะเช่นสระว่ายน้ำหรือพิพิธภัณฑ์ทั้งหมด 800 จุด โดยปารีสพัฒนาแอปฯ เพื่อให้ผู้คนค้นหาจุดความเย็นใกล้ๆ การระบุพื้นที่นี้คล้ายกับหลายเมืองใหญ่คือการเปิดพื้นที่หลบร้อน มีระบบเตือนภัยเวลาเกิดภาวะอุณหภูมิสูงขึ้น

ปารีสเองเป็นหนึ่งในเมืองแห่งนโยบาย หนึ่งในนโยบายรับความร้อนคือการที่เมืองเปิดสวนสาธารณะและสวนซึ่งปารีสมีสวนรวม 140 แห่งที่เปิด 24 ชั่วโมง และสวนอีก 14 แห่งที่เปิดให้บริการถึงเที่ยงคืน การเปิดสวนกลางคืนเป็นส่วนหนึ่งของการเปิดพื้นที่ออกกำลังในช่วงที่กลางวันร้อนเกินไป เปิดพื้นที่กลางแจ้งให้ผู้คนเข้าถึงได้ การปรับเวลาชีวิตเพื่อรับมือความร้อนเช่นการเลื่อนเวลาแอ็กทีฟจากกลางวันเป็นกลางคืนเป็นอีกแนวคิดที่เมืองอาจกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

ร้อนแสนสาหัส เมื่อเมืองร้อนทำเศรษฐกิจชะงัก และต้องหาวิธีแก้ในระดับเมือง

นอกจากเวลาทำการและสวนแล้ว สิ่งที่เมืองเริ่มมองเห็นในการรับมือความร้อนคือน้ำและพื้นที่สีฟ้า เราจะเห็นข่าวการเปิดลานหรือน้ำพุให้ประชาชนเข้าใช้งาน เห็นผู้คนไปแช่น้ำในสระหรือบึงสาธารณะ ในระยะหลังเมืองจะเริ่มมีการลงทุนในพื้นที่สาธารณะที่ไม่ใช่แค่สีเขียว แต่รวมถึงพื้นที่สีฟ้า มีการออกแบบให้ผู้คนเข้าถึงพื้นที่น้ำได้ เป็นจัตุรัสเล่นน้ำเช่น Tainan Spring ที่ไต้หวัน สวนที่ออกแบบโดยคิดเรื่องการอุณหภูมิ เรื่องร่มเงา เรื่องการใช้ละอองน้ำเพื่อร่วมรับมือและลดอุณหภูมิให้ผู้คน

สุดท้าย ความร้อนที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ กำลังกลายเป็นเรื่องจริงจัง ไม่ใช่พลเมืองทุกคนจะเข้าถึงการใช้เวลาในห้างหรือทำงานในพื้นที่ปรับอากาศได้ หลายๆ เมืองใหญ่ก็เริ่มคิดและทบทวนถึงสาธารณูปโภคใหม่ๆ ของเมืองที่จะช่วยลดความร้อนโดยรวมให้เมือง รวมถึงให้ความเย็น ให้ร่มเงากับผู้คนเพื่อช่วยคลายร้อน ลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มคุณภาพชีวิตในภาพรวมได้

 


ข้อมูลอ้างอิง