svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

บ้านและร้านไก่ทอด เมืองแบบไหนทำให้เกิดปัญหาเด็กอ้วน

20 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในปี 2019 สัดส่วนเด็กที่มีภาวะอ้วนทั่วโลกเกือบครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในฝั่งเอเชีย และเมืองที่อาศัยอยู่ก็มีส่วนต่อพฤติกรรมของเด็กๆ

เวลาเราพูดเรื่องความอ้วน ก่อนหน้านี้เราอาจมองปัญหาไปที่ระดับตัวบุคคล เราอ้วนด้วยพฤติกรรม แต่ระยะหลังโลกเริ่มมองเห็นว่าพฤติกรรมของเราก็สัมพันธ์กับพื้นที่กายภาพ—นั่นคือเมืองที่เราใช้ชีวิตอยู่ การมีสุขภาพดีสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่ดี ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่ได้ผอมหรือหุ่นดีกันได้ง่ายๆ แค่เพราะว่าเรามีเมือง มีย่านที่เดินได้ แต่ย่านและเมืองนั้นจะช่วยเปิดโอกาสและพื้นที่ให้เรามีสุขภาพที่ดีขึ้นได้

ประเด็นเรื่องภาวะอ้วนเป็นประเด็นทางสุขภาพและนโยบายสาธารณสุข อย่างแรกคือภาวะอ้วนสัมพันธ์กับวิถีชีวิตสมัยใหม่ เป็นภาวะที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเมือง ในช่วงปี 1975-2016 รายงานจาก WHO ชี้ให้เห็นว่าภาวะอ้วนในภาพรวมระดับโลกเพิ่มขึ้นสามเท่า และในกลุ่มปัญหาเรื่องความอ้วน ภาวะอ้วนในเด็ก (childhood obesity) เป็นปัญหาทางสุขภาพที่สำคัญและกำลังแพร่ขยายขึ้น ในปี 2019 มีรายงานเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีว่ามีภาวะน้ำหนักเกินไปจนถึงมีภาวะอ้วน (obese) มากถึง 38 ล้านคน

fast food

แต่เดิมปัญหาภาวะอ้วนในเด็กถูกมองว่าเป็นปัญหาของประเทศกลุ่มที่มีรายได้สูง แต่ปัจจุบันปัญหาภาวะเด็กอ้วนกำลังกระจายไปยังกลุ่มประเทศอื่นๆ และอาจเป็นปัญหาที่รุนแรงและสัมพันธ์กับมิติทางสังคมเช่นความเหลื่อมล้ำ ตัวอย่างเช่นแอฟริกามีสัดส่วนเด็กที่น้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วนเพิ่มสูงถึง 24% และในปี 2019 สัดส่วนเด็กที่มีภาวะอ้วนทั่วโลกเกือบครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในฝั่งเอเชียของเรา
 

แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนิยามภาวะอ้วนเป็นโรคระบาด แต่ภาวะอ้วนเป็นโรคระบาดที่มีความซับซ้อน เป็นภาวะที่สัมพันธ์พฤติกรรมซึ่งมองกันว่าเป็นโรคติดต่อที่ติดต่อเชิงสังคม ผ่านพฤติกรรมต่างๆ ที่ทำต่อเนื่องกัน พฤติกรรมพื้นฐานเช่นการใช้ชีวิตที่อยู่นิ่งๆ (inactive) และพฤติกรรมทั่วไปเช่น การกินและการนอนมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกับเหล่าเด็กอ้วน

ในความเข้าใจเรื่องเด็กอ้วน ภาวะอ้วนในเด็ก การศึกษามีความน่าสนใจถึงขนาดดูว่า การมีอยู่ของร้านอาหารโดยเฉพาะร้านไก่ทอดและร้านฟาสต์ฟู้ดสัมพันธ์กับพฤติกรรมของเด็กๆ ซึ่งนำไปสู่ภาวะอ้วนได้ไหม อันที่จริงร้านฟาสต์ฟู้ดอาจไม่ใช่เงื่อนไขเดียว ตรงนี้สถาปนิกและนักผังเมืองระดับตำนาน แยน เกห์ล (Jan Gehl) ก็มาร่วมตอบคำถามและมองว่าการเอาร้านไก่ทอดที่เด็กๆ รักออกไปอาจไม่ใช่ทางออก แต่คือการที่เมืองจะเปิดโอกาสหรือชวนเด็กๆ มีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ ต่อเติมความสนใจและกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ได้ขยับตัวมากขึ้นอย่างไรมากกว่า
 

ย่านเด็กอ้วน ว่าด้วยการเข้าถึงร้านไก่ทอด

แม้ว่าหัวข้อและประเด็นฟังดูจะเป็นการโทษกิจการร้านฟาสต์ฟู้ด แต่นัยหนึ่งของงานศึกษานั้นสัมพันธ์กับมิติความเหลื่อมล้ำซึ่งเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและภาวะอ้วนในเด็ก ตัวงานศึกษาที่ฟังแล้วทั้งน่าจะตลกและน่าสนใจคืองานวิจัยชื่อ การอยู่ใกล้ร้านฟาสต์ฟู้ดทำให้เกิดภาวะอ้วนในเด็กไหม (‘Does proximity to fast food cause childhood obesity?’)

ประเด็นสำคัญของงานศึกษาคือมองว่าร้านฟาสต์ฟู้ดสัมพันธ์กับความเป็นย่าน โดยบ้านรัฐ (public housing) ในย่านที่มีรายได้น้อยมักมีทางเลือกทางอาหารน้อยและมักมีร้านฟาสต์ฟู้ดซึ่งมีราคาถูกและเข้าถึงง่ายเป็นแหล่งรับประทานอาหารสำคัญ งานศึกษานี้จึงดูว่าระยะการอยู่ใกล้ไกลซึ่งคือการเข้าถึงได้ นำไปสู่ภาวะอ้วนของประชากรเด็กอย่างมีนัยสำคัญไหม โดยมีบ้านรัฐของนิวยอร์กเป็นกลุ่มข้อมูลหลัก

คำตอบของงานศึกษาสรุปได้ว่า การอยู่ใกล้ร้านฟาสต์ฟู้ดมีส่วนสัมพันธ์กับภาวะอ้วน แต่อาจไม่มีนัยสำคัญขนาดนั้น ข้อสรุปจากการคำนวณพบว่าการที่ร้านฟาสต์ฟู้ดอยู่ไกลออกไปประมาณสองช่วงตึง (ประมาณ 160 เมตร) จะลดโอกาสการมีภาวะอ้วนลงประมาณ 0.6%

ผลของงานศึกษาค่อนข้างสรุปว่าการอยู่ใกล้และเข้าถึงง่ายของร้านฟาสต์ฟู้ตมีผล แต่จะมีบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความใกล้เป็นพิเศษ นั่นคือเด็กที่อยู่ในเกรด 3-8 เทียบกับบ้านเราคือเด็กประมาณประถมถึงมัธยมต้น และกลุ่มเด็กๆ ที่ไปโรงเรียนใกล้บ้าน

fast food

งานศึกษานี้เป็นงานศึกษาเชิงข้อมูลที่ให้ภาพกว้างๆ ว่า ถ้าเด็กๆ ใช้ชีวิตอยู่ใกล้ร้านฟาสต์ฟู้ด หรือไปโรงเรียนใกล้ๆ แล้วแถวๆ นั้นมีร้านฟาสต์ฟู้ด ก็เป็นไปได้ที่เด็กๆ จะรับประทานและใช้ร้านฟาสต์ฟู้ดเป็นพื้นที่กิจกรรมหลัก

ในแง่พฤติกรรมของเด็กๆ ที่สัมพันธ์กับบ้านและโรงเรียน ที่ญี่ปุ่นเองก็มีกรณีศึกษาและความพยายามหาแนวทางเพื่อรับมือ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนภาวะอ้วนในเด็กค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะญี่ปุ่นมองไปที่วัฒนธรรมการเดินไปโรงเรียน ไปจนถึงการที่เด็กๆ วิ่งเล่นในเมืองได้อย่างอิสระ ทำให้เด็กๆ มีปัญหาภาวะอ้วนต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนที่นโยบายไปเกี่ยวข้องได้ นอกจากนี้อาจสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอาหารที่เด็กๆ จะรับประทานอาหารกล่องหรืออาหารโรงเรียนที่ควบคุมคุณภาพและสารอาหาร

 

เด็กๆ กับการเดินไปโรงเรียน ภาพอีกมุมจากญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นมีข้อมูลที่น่าสนใจคือ เด็กๆ ส่วนใหญ่เดินไปโรงเรียน ส่วนหนึ่งมาจากกฎหมายของญี่ปุ่นที่ทุกพื้นที่จะต้องมีโรงเรียนอยู่ในทุกย่านและในทุกเขตพักอาศัย และมีการกำหนดโดยคร่าวว่า โรงเรียนจะอยู่ห่างไม่เกิน 4 กิโลเมตรสำหรับโรงเรียนประถม และ 6 กิโลเมตรสำหรับโรงเรียนมัธยม

นั่นคือในกรณีที่เป็นไปได้ แต่ญี่ปุ่นเองก็มีพื้นที่ชนบทที่โรงเรียนไม่อยู่ในระยะที่กำหนด การใช้ขนส่งสาธารณะอื่นๆ จึงเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการเดินทางไปโรงเรียน รายงานตัวเลขภาวะอ้วนของเด็กๆ จากกระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นค่อนข้างเกิดขึ้นในพื้นที่ชนบทมากกว่าเขตเมือง เช่นพื้นที่ที่เด็กมีภาวะอ้วนสูงคือที่ภูมิภาคโทโฮคุ เมืองที่มีอัตราอ้วนสูงสุดคือจังหวัดอาโอโมริ, อิวาเตะ, และมิยากิ โดยมีสัดส่วนที่ 20% 15% และ 16% ตามลำดับ ซึ่งถือว่าสูงกว่าในสัดส่วนของทั่วประเทศที่มีสัดส่วนเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินที่ 12.4%

รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของญี่ปุ่นเชื่อมโยงสถิตินี้เข้ากับความเป็นไปได้ของการเดินไปโรงเรียน ที่เป็นส่วนสำคัญของกิจกรรมทางกายภาพของเด็กๆ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งเพิ่มขึ้นด้วย ความน่าสนใจในอุบัติการเด็กอ้วนของญี่ปุ่นจึงอาจจะตรงข้ามกับภาพรวมและความเข้าใจโดยทั่วไป ที่ภาพเด็กอ้วนมักสัมพันธ์กับพื้นที่และบริบทไลฟ์สไตล์ของเมืองใหญ่ ตรงนี้จึงเกี่ยวข้องนโยบายโดยตรงของญี่ปุ่น นั่นคือการกระจายโรงเรียนและธรรมเนียมการเดินไปโรงเรียนของเด็กๆ ที่รัฐสนับสนุน

เด็กญี่ปุ่นเดินไปโรงเรียน

 

Southwark's Foodscape งานศึกษาระดับย่านของ แยน เกห์ล

จากภาพกว้างเช่นข้อมูลสถิติจากนิวยอร์ก มาสู่การศึกษาในระดับย่าน สถาปนิกและนักผังเมือง แยน เกห์ล เคยรับงานเพื่อศึกษาย่านที่อ้วนที่สุดของลอนดอนอย่างแคมเบอร์เวลล์และเพกแฮม งานศึกษาของเกห์ลเป็นงานลงชุมชนและเก็บข้อมูลที่ค่อนข้างซับซ้อน มีทั้งการใช้ข้อมูล การสัมภาษณ์เชิงลึก ไปจนถึงการสร้างแผนผังเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้คนโดยเฉพาะการบริโภคอาหารในพื้นที่ย่านเป็นพื้นที่กายภาพ

รายงานชุด Southwark's Foodscape มีความเจ๋งมากตรงที่สตูดิโอให้ภาพของความเป็นย่าน ถนน และจุดของพื้นที่การบริโภค ทำให้เราเห็นว่าการเข้าถึงอาหาร หน้าตาของร้านอาหาร รวมถึงการมีอยู่ของฟาสต์ฟู้ดที่กระจายตัวและเข้าถึงง่ายสัมพันธ์กับพฤติกรรมอย่างไร เช่น ราคาอาหารทั่วไปเข้าถึงไม่ได้ แต่อาหารฟาสต์ฟู้ดเข้าถึงได้ทั้งในแง่ราคา รูปแบบร้าน และการกระจายตัวของร้าน

แยน เกห์ล. ภาพจาก Wikimedia Commons

ข้อค้นพบที่น่าสนใจหนึ่งคือเกห์ลพบว่าเด็กๆ อายุ 6-16 ปี บอกว่าตัวเองเข้าฟาสต์ฟู้ด 1-5 ครั้ง/สัปดาห์ ร้านเช่นแมคโดนัลด์ เบอร์เกอร์คิง และ Nando’s จะเป็นพื้นที่หลักของการสังสรรค์ของเหล่าเด็กๆ ในวันธรรมดา

นอกจากนี้เกห์ลยังพบว่าร้านฟาสต์ฟู้ดมักตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ดี—อยู่ใกล้กับป้ายรถเมล์ ด้วยองค์ประกอบทั้งหมดจากหน้าตาของร้าน ราคา และชัยภูมิที่ดี ทำให้ร้านฟาสต์ฟู้ดเป็นทางเลือกลำดับแรกๆ ที่เด็กจะเลือกซื้ออาหารและพกพาไปในระหว่างนั่งรถประจำทาง

ตรงนี้เองอาจนำไปสู่ความคิดว่า แล้วรัฐควรต้องควบคุมร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเช่นห้ามการโฆษณาหรือไม่ รายงานของเกห์ลชี้ให้เห็นความซับซ้อนทั้งการมีอยู่ของอาหารสุขภาพซึ่งแพงและเข้าถึงยาก ไปจนถึงงบของพื้นที่สาธารณะที่ถูกตัดออกไปทำให้เด็กๆ ไม่มีพื้นที่สันทนาการและสังสรรค์กัน

ข้อเสนอของเกห์ลมีความละมุนละม่อม เกห์ลชี้ให้เห็นว่าเรามีพฤติกรรมและทางเลือกที่สัมพันธ์กับบริบทรอบๆ ตัว ดังนั้น หน้าที่ของเมือง ผังเมือง ไปจนถึงข้อกำหนดต่างๆ ของรัฐ คือการทำให้ผู้คนตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีกว่าที่เคยได้ เกห์ลเสนอเรื่องง่ายเช่นการปรับปรุงทางเท้าและจักรยานเพื่อให้เด็กๆ มีพฤติกรรมการเดินทางที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น และจุดสำคัญที่เกห์ลให้ความสนใจคือป้ายรถเมล์—พื้นที่ที่เป็นเหมือนจุดต่อขยายของร้านฟาสต์ฟู้ด โดยชี้ว่ารัฐจะสามารถดูแลป้ายรถเมล์และกระตุ้นให้พื้นที่สาธารณะที่มีอยู่กลายเป็นพื้นที่สังสรรค์ของเด็กๆ และนำไปสู่กิจกรรมทางกายภาพได้อย่างไร เช่นเป็นที่นั่งพักโดยมีหลังคา

ข้อเสนอของเกห์ลถือว่ามีความเข้าอกเข้าใจพอสมควร เกห์ลไม่ได้เรียกร้องให้เพิ่มพื้นที่สาธารณะในทันที แต่คือการที่เมืองจะทำอย่างไรให้พื้นที่กลางแจ้งและสาธารณูปโภคของตัวเองนั้นดีขึ้น และเชิญชวนให้เด็กๆ มีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพได้อย่างไร รายงานชิ้นนี้ของเกห์ลจึงนำไปสู่โปรเจกต์ที่เมืองกำลังเอาไปพัฒนาต่อในปัจจุบัน

 

ในประเด็นเรื่องเด็กและภาวะอ้วน เราจะเห็นว่าเด็กเป็นตัวแทนหนึ่งของผลกระทบซึ่งสัมพันธ์กับนโยบายและการออกแบบพื้นที่กายภาพของรัฐ จากความสัมพันธ์ของร้านฟาสต์ฟู้ดที่สัมพันธ์กับย่านซึ่งแฝงนัยของปัญหาความเหลื่อมล้ำเช่นนิวยอร์ก ถึงแนวนโยบายเฉพาะตัวของญี่ปุ่นที่ให้ผลเชิงบวก และสุดท้ายคือรายงานจากสถาปนิกและนักผังเมืองผู้มองเห็นคนและความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งซับซ้อนของเมือง ย่าน และพื้นที่กายภาพในนามของสถาปัตยกรรม

 

ข้อมูลอ้างอิง

logoline