svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

ผู้หญิง แฟชั่น และวันวาเลนไทน์ ประวัติศาสตร์อันเจิดจ้าของ ‘สีช็อกกิ้งพิงก์’

13 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผู้หญิง แฟชั่น และวันวาเลนไทน์ สีประจำสำหรับสามสิ่งนี้คงหนี่ไม่พ้น 'สีชมพู' แต่เมื่อไหร่กันที่สีชมพูกลายมาเป็นแฟชั่นบนเนื้อตัวของผู้หญิง ไหนจะเรื่องของ 'สีชมพูช็อกกิ้งพิงก์' ที่เจิดจ้ากว่าใครเพื่อน คอลัมน์ 'Stylepedia' จะมาเล่าทั้งหมดนี้ให้ฟัง

ฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง The Devil Wears Prada (2006) กับการประชุมเนื้อหาสำหรับเล่มเดือนเมษายนของนิตยสาร Runway มิแรนดา พรีสลีย์ ถามแผนกเครื่องประดับว่าเตรียมคอนเทนต์อะไรไว้สำหรับเล่มเดือนเมษายน เธอตอบกลับมาว่าคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ผลิเต็มไปด้วยลายดอกไม้ เธอจึงคิดจะนำเสนอเครื่องประดับในธีมดอกไม้ ก่อนที่จะถูกมิแรนดา พรีสลีย์ ตอกกลับว่า 

“Florals for Spring? Groundbreaking.” (ดอกไม้สำหรับใบไม้ผลิเหรอ? บันลือโลกจัง)

ฤดูใบไม้ผลิกับลวดลายดอกไม้เป็นของคู่กัน เช่นเดียวกับวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรักที่มาพร้อมกับสีชมพู แม้จะไม่ groundbreaking แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่มีฤดูร้อนปีไหนที่บนรันเวย์ไม่มีลายดอก และไม่มีวันวาเลนไทน์ปีไหน ที่ไม่ใช้สีชมพู 

ว่าแต่วาเลนไทน์ปีนี้ คุณใส่สีชมพูเฉดไหน ชมพูพาสเทล ชมพูแซลมอน ชมพูฟลามิงโก ชมพูฟูเชีย หรือชมพูช็อกกิ้งพิงก์ หลายคนคงเคยได้ยินสีชมพู ‘ช็อกกิ้งพิงก์’ (Shocking Pink) หรือสีชมพูเข้มเจิดจ้าที่ทรงพลังไม่ต่างจากสีแดง แต่ก็อาจจะสงสัยว่าทำไมต้อง ‘ช็อก’ กะอีแค่สีชมพูสดเข้ม เราช็อกอะไรกัน

Shocking Pink. ภาพจาก: colorxs
 

ส่วนมากเฉดสีต่างๆ มักจะได้แรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติ อย่างสีชมพูแซลมอลก็มาจากปลาแซลมอน หรือสีชมพูฟลามิงโก ก็มาจากนกฟลามิงโก แต่ในขณะที่สีชมพูช็อกกิ้งพิงก์นั้นมาจากโลกของแฟชั่นโดยตรง

สีชมพูช็อกกิ้งพิงก์เกิดจากการสร้างสรรค์ของ เอลซา สเคียปาเรลลี (Elsa Schiaparelli) ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสผู้ก่อตั้งแบรนด์ Schiaparelli ที่เรารู้จักกันดีในปัจจุบันนี้ โดยเธอได้แรงบันดาลใจมาจากโทนสีชมพูของผ้าไหมจีนและสีชมพูของชาวเปรู อันเป็นการการนำเอาสี Megenta มาผสมกับสีขาวเพียงเล็กน้อยจนได้สีชมพูเข้มสดเจิดจรัส โดยเธออธิบายสีชมพูช็อกกิ้งพิงก์ไว้ว่า

“Bright, impossible, impudent, becoming, life-giving, like all the lights and the birds and the fish in the world put together, a colour of China and Peru but not of the West – a shocking colour, pure and undiluted.” (เจิดจ้า ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ อหังการ งดงาม มอบพลังชีวิต เหมือนดั่งแสงสว่างและเหล่านกปลาทั้งโลกมารวมตัวกัน สีแห่งประเทศจีนและเปรูที่ไม่ใช่แบบตะวันตก สีอันน่าตกตะลึง บริสุทธิ์และไม่มีสิ่งใดเจือปน)

Shocking Pink. ภาพจาก: Elsa Schiaparelli
 

สีชมพูช็อกกิ้งพิงก์นั้นถูกใช้ครั้งแรกบนภาพวาดโฆษณาและบนกล่องน้ำหอมชื่อ 'Shocking' ของ Elsa Schiaparelli ในปี 1937 จากนั้นเธอก็นำเอาสีนี้มาใช้ในการออกแบบเสื้อผ้าในคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว  และหลังจากนั้นเป็นต้นมาสีชมพูช็อกกิ้งพิงก์ก็เป็นดั่งตัวแทนของแบรนด์ Schiaparelli เหมือนกับที่สี Majorelle Blue เป็นตัวแทนของ Yves Saint Laurent 

แล้วสีชมพูกลายมาเป็นตัวแทนแห่งความอ่อนหวานและผู้หญิงได้ยังไง?

ที่จริงในช่วงยุค 1800s สีชมพูเป็นตัวแทนของเสื้อผ้าเด็กผู้ชายมากกว่า เพราะเด็กผู้ชายเมื่อแรกเกิดจะแต่งตัวด้วยสีขาวและแดงเป็นหลัก สีชมพูซึ่งเป็นสีผสมระหว่างขาวและแดงจึงเป็นโทนสีของเสื้อผ้าของเด็กผู้ชายในยุคนั้น ในขณะที่เด็กผู้หญิงจะใส่สีฟ้า เพราะสีฟ้าเป็นตัวแทนของธรรมชาติ ซึ่งสลับกันกับในยุคปัจจุบันนี้ แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 การที่โลกศิลปะหยิบเอาสีชมพูมาใช้แสดงแทนความอ่อนหวาน ก็ทำให้สีชมพูค่อยๆ เปลี่ยนความหมายจากการเป็นสีที่ผูกติดกับความเป็นเด็กผู้ชายกลายมาเป็นสีที่มีความเป็นหญิง (feminine) มากขึ้นและเริ่มได้รับความนิยมในฝั่งแฟชั่นสำหรับผู้หญิงมากขึ้น

จนมาถึงสีชมพูช็อกกิ้งพิงก์ของ Elsa Schiaparelli ที่ทำให้สีชมพูกลายเป็นแฟชั่นประจำตัวของผู้หญิงที่ได้รับความนิยมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเพราะภาวะหลังสงคราม แฟชั่นจึงยังเต็มไปด้วยโทนสีที่อึมครึม การที่ Elsa Schiaparelli แหวกขนบมาใช้โทนสีสุดสดใสเจิดจ้าอย่างสีชมพูเพื่อต่อต้านสภาวะหลังสงครามจึงกลายมาเป็นความแตกต่างจากบรรดาผลงานดีไซเนอร์หลากหลายคนในช่วงเวลาเดียวกัน และทำให้สีชมพูกลายเป็นสีหลักที่เป็นดั่งตัวแทนของทั้งความสวยหวาน ความเป็นผู้หญิง ความทันสมัย ความทรงพลัง และความแตกต่างในช่วงเวลานั้นเป็นต้นมา

Shocking fragrance. ภาพจาก: Elsa Schiaparelli

เราจะเห็นการใช้สีชมพูตามมาอีกมากมายหลังจากที่ Elsa Schiaparelli แนะนำสีช็อกกิ้งพิงก์ให้โลกได้รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นชุดของ มาริลีน มอนโร ในภาพยนตร์เรื่อง Gentlemen Prefer Blondes (1953) กับเพลง Diamonds Are A Girl’s Best Friend (หรือถ้าเกิดไม่ทันอาจจะคุ้นกับเวอร์ชั่นนำมาดัดแปลงทำใหม่จากมิวสิกวิดีโอเพลง Material Girl ของ มาดอนนา) หรือต่อมาในภาพยนตร์เรื่อง Funny Face (1957) หรือแม้กระทั่งโลโก้ Barbie แบรนด์ตุ๊กตาที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกที่ออกมาในปี 1953 ก็เป็นสีชมพูเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่มาตอกย้ำและขับเคลื่อนความหมายของสีชมพูว่าทำไมมันถึงกลายมาเป็นตัวแทนของความสวยหวานและผู้หญิงในเวลาต่อมา

Gentlemen Prefer Blondes (1953). ภาพจาก: IMDb

ในปีที่ผ่านมา สีชมพูก็กลับมาเกิดใหม่อีกครั้งผ่านคอลเลกชั่น Valentino Pink PP ที่ร่วมมือกับ Pantone สร้างสีชมพูเฉดพิเศษขึ้นมาและคอลเลกชั่นเสื้อผ้าที่ใช้สีชมพูพิเศษนี้ทั้งหมด จากที่เคยเป็นสีแดง Red Valentino ในอดีต สีชมพูก็กลายมาเป็นสีซิกเนเจอร์ของแบรนด์ Valentino ในปัจจุบัน หรือภาพยนตร์แห่งปี Barbie (2023)  ก็ได้ปลุกเทรนด์แฟชั่นสีชมพูสวยหวานในแบบบาร์บี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง พร้อมด้วยความหมายใหม่ของบาร์บี้

Barbie (2023). ภาพจาก: IMDb

สีชมพูอาจจะมีความหมายที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย ฮิตบ้างมีสีใหม่ขึ้นมาแทนที่บ้าง แต่ทุกปีมันจะกลับมาอีกครั้งหนึ่งในวันวาเลนไทน์ สีชมพูในวันวาเลนไทน์มันอาจจะไม่ groundbreaking หรอก แต่เชื่อว่ามองไปทางไหนเราก็จะเห็นสีชมพูแน่ในวันแห่งความรักนี้

 

 

ข้อมูลอ้างอิง


 

logoline