svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

แฟชั่นไทย กับงบ 130 ล้าน ที่ยังอยากดัน ‘กางเกงมวย’ เป็นซอฟต์พาวเวอร์

12 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในงบประมาณฯ ปี 67 ของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน มีตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษนั่นคืองบประมาณ 130 ล้านบาท ที่จะใช้เพื่อสนับสนุนให้มวยไทย โดยเฉพาะ 'กางเกงมวย' กลายเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์... คำถามที่ตามมาก็คือ มวยไทยเป็นที่รู้จักแค่ไหน? และทำไมต้องใช้เงินถึง 130 ล้านบาท?

หนึ่งในเรื่องที่สร้างแรงกระเพื่อมและการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดในปีที่ผ่านมา ก็คือนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ตั้งแต่การดีเบตกันเรื่องความหมายของคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ไปจนถึงอะไรบ้างที่ควรจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์

ถ้าหันมาดูในฝั่งแฟชั่น (หรือจะเรียกว่าฝั่งเสื้อผ้าก็ได้) ก็จะพบว่าครึกครื้นมากไปกว่าใคร โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ‘กางเกงช้าง’ ที่ถูกยกขึ้นมาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ฝั่งแฟชั่นที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวด้วยตัวของมันเอง จนเกิดเป็นไอเดียในการแตกยอดกางเกงแบบต่างๆ 

ไม่ว่าจะเป็นกางเกงแแมวของโคราช ผลงานการออกแบบของสุรัตน์ ซาพิมาย จากการจัดประกวดออกแบบลาย KORAT MONOGRAM ที่เปิดให้ใครๆ ก็นำลวดลายไปผลิตขายได้ ซึ่งก็ขายดิบขายดี จนเกิดเป็นไวรัลและทำให้แต่ละจังหวัดมีไอเดียผลิตกางเกงลวดลายประจำจังหวัดของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น กางเกงปลาจ้องหม้องของสงขลา กางเกงสับปะรดภูแล กางเกงปลาจิ้งจั้ง ฯลฯ 

ในขณะที่นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลนั้น คือการทำ ‘กางเกงมวย’

กางเกงมวยไทย. ภาพจาก: Muay Thai Gloves
 

จากข้อมูลของ Rocket Media Lab ที่นำเอางบประมาณและโครงการต่างๆ ของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์มาเปิดเผยให้ได้เห็นกัน พบว่าในสาขาแฟชั่น มีการตั้งงบประมาณไว้ 268.9 ล้านบาท โดยมีโครงการอยู่ 5 โครงการด้วยกัน ซึ่งโครงการที่ใช้งบฯ มากที่สุดก็คือ โครงการส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นจากทุนทางวัฒนธรรมไทยสู่สากล เมื่อดูรายละเอียดของโครงการจะพบว่าเป็นการออกแบบสินค้าโดยใช้ผู้ที่มีองค์ความรู้ทางด้านมวยไทยมาร่วมออกแบบผลิตภัณฑ์ทางแฟชั่นทีได้แรงบันดาลใจมาจากมวยไทย อันถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยใช้งบประมาณถึง 130 ล้านบาท 

มาดูกันต่อว่า 130 ล้านในโครงการกางเกงแฟชั่นซอฟต์พาวเวอร์มวยไทยใช้ทำอะไรบ้าง จากข้อมูลพบว่าเป็นค่า แถลงข่าวและผลิตสื่อประชาสัมพันธ์โครงการ 40 ล้านบาท, ผลิตผลงาน จัดแสดงสินค้าโรดโชว์ในต่างประเทศ 45 ล้านบาท, งบการบริหารจัดการสินค้า การตลาด จัดตกแต่งสถานที่สำหรับจำหน่ายสินค้า ส่งเสริมการขายผ่านช่องทางการค้าส่ง 45 ล้านบาท

ความน่าสนใจก็คือ เราต้องใช้งบฯ 130 ล้านบาท กับกางเกงมวยที่มีชื่อเสียงระดับโลกอยู่แล้วหรือไม่
 

นอกจากการที่กางเกงมวยจะมีชื่อเสียงและเป็น ‘ของฝาก’ ของนักท่องเที่ยวพอๆ กับเสื้อกล้ามกระทิงแดง หรือกางเกงช้างแล้ว กางเกงมวยยังเป็นเหมือน ‘งานออกแบบนานาชาติ’ ที่ถูกหยิบยกไปใช้ในวงการแฟชั่นระดับโลกมาโดยตลอด ไม่ลิขสิทธิ์ และมีชื่อเสียง กางเกงมวยเป็นที่จดจำด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว

ในคอลเลกชั่น Fall/Winter 2019 ของ Versace ไฮไลต์หลักของเสื้อผ้าในคอลเลกชั่นนี้ที่ถูกกล่าวถึงไปทั่วโลกก็คือ กางเกงมวยไทย ซึ่งโดนาเทลลา เวอร์ซาเช (Donatella Versace) นำเอารูปแบบกางเกงมวยไทยที่ทุกคนทั่วโลกรู้จักกันดีอยู่แล้วมาสร้างสรรค์ในรูปแบบงานไฮแฟชั่น ทั้งการปักด้วยเลื่อม ตราเมดูซ่าซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ และโลโก้แบรนด์ Versace ที่ขอบกางเกง ซึ่งนอกจากกางเกงมวยในคอลเลกชั่นนี้จะถูกเขียนถึงโดยสื่อแฟชั่นทั่วโลกแล้ว ยังเห็นว่าเซเลบริตี้ระดับโลกอย่าง มีอา คัง (Mia Kang) หรือ วิซ คาลิฟา (Wiz Khalifa) ยังหยิบไปใส่อีกด้วย

กางเกงมวยไทยในคอลเลกชั่น Versace. ภาพจาก: Versace

และก่อนหน้าที่ Versace จะหยิบเอากางเกงมวยไทยไปขึ้นรันเวย์ระดับโลกนั้น ก็มีหลากหลายแบรนด์ที่หยิบเอากางเกงมวยใช้ไปใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ อย่างแบรนด์ HUMAN MADE ของ NIGO ก็เคยนำไปใช้ในแคปซูลคอลเลกชั่นปี 2018 ซึ่งก็แทบจะเหมือนกางเกงมวยไทยที่ขายตามร้านขายของที่ระลึกหรือที่ถนนข้าวสารเลยทีเดียว

มีอา คัง (Mia Kang). ภาพจาก: Instagram miakang หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้วแบรนด์ Guess ก็ร่วมงานกับนักร้องระดับโลก เจ บัลวิน (J Balvin) ออกแบบคอลเลกชั่นพิเศษที่มีกางเกงมวยไทยเป็นหนึ่งไอเท็มในนั้น ในราคา 99 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแบรนด์ Wicked One ก็เคยเอากางเกงมวยไทยกับลายสักยันต์มาจับคู่กันมาแล้ว แบรนด์ Roots of Fight ก็หยิบเอาเอกลักษณ์ของคำว่า Muay Thai และนายขนมต้มไปทำเป็นคอลเลกชั่นสุดเก๋ 

หรือแม้แต่ค่ายมวยต่างๆ แบรนด์ในระดับท้องถิ่น หรือที่ผลิตขายในระดับแมสกับการเป็นของฝากของที่ระลึก ก็มีสินค้าเหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ขาย ไม่ว่าจะเป็น Fairtex, ลุมพินี, Yokkao Asia, Muaythaigloves, Thai Gift Star มันเป็นสินค้ายอดนิยมที่ถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานทั้งในเชิงแฟชั่น และของฝากของที่ระลึกออกขายมาโดยตลอด จะเรียกว่าเป็นไอเท็มคลาสสิกที่ไร้กาลเวลาโดยไม่ต้องอาศัยรันเวย์แฟชั่นวีคใดๆ ก็ได้

กลับมาที่คำถามเดิม สิ่งนี้คุ้มไหมกับงบฯ 130 ล้านบาท ยังไม่รวมงบในโครงการอื่นๆ ที่รวมกันแล้ว สาขาแฟชั่นของบฯ ไปรวมแล้ว 268.9 ล้านบาท

กางเกงมวยไทย Yokkao Asia. ภาพจาก: Yokkao Asia
ในขณะที่เมื่อที่ผ่านมา ‘เสื้อผ้าแบรนด์เวียดนาม’ ที่ไม่ใช่แค่แบรนด์ Fanci Club เท่านั้น ยังมีแบรนด์อื่นที่เริ่มมีชื่อเสียงไม่แพ้กันอย่าง L SEOUL, Huelley Rose, ONONMADE, tingoan, Vintage gout และ Mamavirus กลายเป็นสินค้าที่โด่งดังและสร้างยอดขายไปไกลระดับโลกแล้ว จากกระแสเสื้อผ้าเวียดนามฟีเวอร์ ที่เกิดขึ้นจากคนดังระดับโลกหยิบไปสวมใส่ ไม่ว่าจะ โอลิเวีย โรดริโก (Olivia Rodrigo), เบลลา ฮาดิด (Bella Hadid), เฮลีย์ บีเบอร์ (Hailey Bieber) หรือแม้กระทั่ง Blackpink ซึ่งแน่นอนว่ามันอาจจะมีแผนมาร์เก็ตติ้งอยู่ในนั้น แต่ในขณะเดียวกันเราก็เห็นถึง ‘เอกลักษณ์’ ที่จับต้องได้ ราคาที่เข้าถึงได้ และที่สำคัญมันมาในจังหวะที่พอเหมาะพอเจาะกับเทรนด์ของโลกอย่าง Y2K  หรือแม้กระทั่งก่อนหน้านี้ที่คำว่า ‘เสื้อผ้าสไตล์เกาหลี’ กลายเป็นเทรนด์ระดับโลกหรือในไทยเองก็ตาม ในขณะที่คำว่าเสื้อผ้า (แฟชั่น) สไตล์ไทย เรายังไม่สามารถหาคำนิยามหรือรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ที่จับต้องได้ นอกจากกางเกงช้างที่ทุกคนทั่วโลกนึกถึง

และสิ่งหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมก็คือ ประเทศไทยเคยมีโครงการที่เรียกว่า ‘กรุงเทพเมืองแฟชั่น’ ในปี 2002 ของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยใช้งบประมาณสูงถึง 1,802 ล้านบาท และในรัฐบาลนี้ เรายังมีโครงการซอฟต์พาวเวอร์ที่สาขาแฟชั่นตั้งงบฯ ไว้อีก 268.9 ล้านบาท

แต่แฟชั่นไทย (ที่ไม่ใช่กางเกงช้างกับกางเกงมวย) ไปไกลจนถึงขั้นเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้จริงๆ หรือยัง? 
 

logoline