svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

‘The Boy and the Heron’ ผลงานที่ไม่ยอมเกษียณของ ฮายาโอะ มิยาซากิ

‘The Boy and the Heron' หรือ ‘เด็กชายกับนกกระสา’ คือผลงานเรื่องใหม่จากสตูดิโอจิบลิ และเป็นการกลับมาทำงานกำกับอนิเมชั่นในรอบ 10 ปี ของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ปรมาจารย์ด้านภาพยนตร์อนิเมชั่นของญี่ปุ่น

‘The Boy and the Heron' หรือที่ใช้ชื่อไทยว่า ‘เด็กชายกับนกกระสา’ ภาพยนตร์อนิเมะเรื่องใหม่ของทางสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) ที่มีการยืนยันแล้วว่าไม่ใช่ผลงานเรื่องสุดท้ายของ ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) อย่างที่ลือกันก่อนหน้านี้ ฮายาโอะคือผู้ก่อตั้งสตูดิโอจิบลิที่ผลิตผลงานน่าจดจำให้กับคนดูการ์ตูนทั่วโลก แต่ผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของผู้กำกับนามอุโฆษท่านนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และทำไมผู้ชมจากทั่วโลกถึงไฮป์ผลงานเรื่องนี้

The Boy and the Heron. ภาพจาก: IMDb

ย้อนเวลากลับไปในช่วงปี 2013 หลังจากที่ภาพยนตร์ The Wind Rises  (ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก) ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ฮายาโอะ มิยาซากิ ก็ได้ประกาศเกษียณตัวเอง แต่ด้วยนิสัยความเป็นนักสร้างสรรค์ที่ไม่อาจหยุดทำงานได้โดยสมบูรณ์ สุดท้ายทางทีมงานสตูดิโอจิบลิก็ออกมาประกาศในปี 2016 ว่าผู้กำกับท่านดังกล่าวได้เริ่มกลับมาสร้างผลงานชิ้นใหม่แล้ว

ฮายาโอะ มิยาซากิ. ภาพจาก: Wikimedia Commons  
 

ซึ่งตอนแรกคุณฮายาโอะ มิยาซากิ บอกกล่าวว่า เขาจะกลับมาทำอนิเมะขนาดสั้นสำหรับฉายใน Ghibli Museum เท่านั้น จนกระทั่งเวลาผ่านเข้าช่วงปลายปี 2016 ก็เป็นตัวของฮายาโอะเองที่ให้สัมภาษณ์ว่า เขารู้สึกไม่สาแก่ใจที่จะได้ทำแค่อนิเมะขนาดสั้น เลยเสนอแผนงานสร้างภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องใหม่ไว้แล้ว แต่ ณ เวลานั้น ทางสตูดิโอจิบลิยังไม่ประกาศว่าผลงานเรื่องใหม่จะเป็นเรื่องราวแบบใด จนเวลาผ่านมาราวช่วงปี 2017 ที่ โทชิโอะ ซูซูกิ (Toshio Suzuki) อีกหนึ่งผู้ก่อตั้งสตูดิโอและเป็นโปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์จากสตูดิโอจิบลิทุกเรื่อง ได้ออกมายืนว่าทางสตูดิโอกำลังสร้างงานใหม่จริง และในช่วงปลายปีเดียวกัน ฮายาโอะออกมาเปิดเผยถึงผลงานภาพยนตร์อนิเมะเรื่องใหม่จะใช้ชื่อ ‘Kimitachi wa Dō Ikiru ka’ หรือก็คือ The Boy and the Heron

The Boy and the Heron. ภาพจาก: IMDb

การเปิดเผยชื่อผลงานใหม่ของสตูดิโอจิบลิทำให้คนญี่ปุ่นให้ความสนใจกันแทบจะทันที ด้วยเหตุที่ว่า Kimitachi wa Dō Ikiru ka เป็นชื่อเดียวกันกับนิยายของอาจารย์เก็นซาบูโร โยชิโนะ (Genzaburo Yoshino) ที่นับว่าเป็นวรรณกรรมเยาวชนระดับขึ้นหิ้งของประเทศญี่ปุ่นที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1937 ทั้งยังถูกตีพิมพ์ซ้ำจนถึงปัจจุบัน เนื้อหาของนิยาย Kimitachi wa Dō Ikiru ka เล่าเรื่องของเด็กหนุ่มวัย 15 ปี ผู้สูญเสียพ่อ และพบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จนทำให้ต้องหาคำตอบว่าเขาควรจะใช้ชีวิตอย่างไรต่อไป
 

แต่แฟนของสตูดิโอจิบลิหลายคนที่เห็นการประกาศแบบนี้น่าจะเอะใจอยู่บ้าง เพราะถ้าย้อนไปดูงานดัดแปลงจากวรรณกรรมของทางสตูดิโอจิบลิอย่าง Kiki's Delivery Service (แม่มดน้อยกิกิ) กับ Howl's Moving Castle (ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์) ทั้งสองเรื่องก็ไม่ได้รับการดัดแปลงแบบตรงไปตรงมา แต่จะเป็นการดึงโครงเรื่องมาใช้งานและบอกเล่าให้สอดคล้องกับมุมมองที่ผู้กำกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ อยากจะเล่ามากกว่า

The Boy and the Heron. ภาพจาก: IMDb

และถ้าเป็นการดัดแปลงแบบตรงไปตรงมา โทชิโอะ ซูซูกิ โปรดิวเซอร์ที่ดูแลด้านการตลาดคงไม่กล่าวว่า ทางทีมงานไม่มีกำหนดเส้นตายให้กับผลงานเรื่องใหม่เรื่องนี้ ซึ่งเป็นแผนงานแบบเดียวกันกับที่พวกเขาเคยใช้กับภาพยนตร์เรื่อง The Tale of The Princess Kaguya (เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่) มาก่อน

ส่วนเหตุผลหลักที่ไม่กำหนดเวลาก็มาจากการวาดงานที่ใช้เวลานานกว่าปกติ อย่างที่โทชิโอะได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ในอดีตตัวของ ฮายาโอะ มิยาซากิ จะใช้เวลาหนึ่งเดือนในการกำกับและวาดผลงานประมาณ 10 นาที แต่สำหรับการสร้าง Kimitachi wa Dō Ikiru ka ผู้กำกับท่านนี้กลับกำกับได้เพียงเดือนละหนึ่งนาทีเท่านั้น อาจจะเพราะวัยที่ร่วงโรยเข้าสู่หลัก 80 ปี หรืออาจจะมาจากความตั้งใจที่โทชิโอะกล่าวว่า ฮายาโอะอยากจะสร้างผลงานภาพยนตร์ทิ้งไว้ให้หลานชาย

The Boy and the Heron. ภาพจาก: IMDb

นอกจากนี้ภาพยนตร์เรื่อง The Boy and the Heron ยังเปลี่ยนการทำงานไปเล็กน้อย เพราะตัวของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ไม่ได้เข้ามาทำการกำกับงานอนิเมชั่นที่เป็นฉากเคลื่อนไหวอีกต่อไป เขาถอยไปทำหน้าที่วาดสตอรี่บอร์ดและเขียนบท แล้วปล่อยให้ ทาเคชิ ฮอนดะ (Takeshi Honda) ที่เคยทำงานด้วยกันในภาพยนตร์ Ponyo (โปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย) มาดูแลงานกำกับอนิเมชั่นแทน รวมถึงมีการใช้ทีมงานจาก Studio Ponoc ที่มีศิษย์เก่าจากสตูดิโอจิบลิทำงานหลายคนเข้ามาร่วมสร้างภาพยนตร์ด้วย

แต่การพัฒนาภาพยนตร์แบบไม่กำหนดเวลาก็ก่อให้เกิดปัญหาด้านเงินทุนอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่ง โทชิโอะ ซูซูกิ ก็เข้ามาแก้ไขปัญหาตรงนี้เช่นกัน ด้วยการยอมขายสิทธิ์ในการฉายภาพยนตร์สตูดิโอจิบลิให้กับบริการรับชมรายการแบบสตรีมมิ่งในช่วงปี 2020 เพื่อให้มีเงินทุนไหลเข้ามาทำงานได้ทัน และข่าวคราวของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวก็เงียบหายไปอีกระยะใหญ่ จะมีก็เพียงบทสัมภาษณ์เล็กๆ น้อยๆ ผ่านสื่อที่ระบุว่าภาพยนตร์ยังอยู่ในขั้นตอนการสร้าง

The Boy and the Heron. ภาพจาก: IMDb

เวลาผ่านมาจนถึงปลายปี 2022 ที่ทวิตเตอร์ของทางสตูดิโอจิบลิออกมาประกาศว่า ภาพยนตร์มีกำหนดเข้าฉายในบ้านเกิดวันที่ 14 กรกฎาคม ปี 2023 อย่างไรก็ตาม ไม่มีการโปรโมตอะไรเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้เลย จนกระทั่งเดือนมิถุนายน ปี 2023 ฝั่ง โทชิโอะ ซูซูกิ ก็ออกมาสัมภาษณ์กับสื่อว่า ครั้งนี้พวกเขาตั้งใจจะไม่โปรโมตอะไรเลย ไม่มีการแจ้งเรื่องย่อ ไม่มีการเปิดตัวทีมนักพากย์ รวมถึงไม่มีการปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์ก่อนฉายอีกด้วย

ถึงจะไม่มีการโปรโมตแบบทางการ แต่การที่คนญี่ปุ่นคุ้นเคยกับนิยายต้นฉบับ รวมถึงเป็นผลงานที่ ฮายาโอะ มิยาซากิ กลับมาเป็นผู้กำกับเต็มรูปแบบในรอบ 10 ปี ประกอบกับการประกาศข่าว 'ไม่ทำการโปรโมต' เลยทำให้ผู้ชมภาพยนตร์ในญี่ปุ่นสนใจที่จะไปลิ้มลองภาพยนตร์เรื่องนี้ ผลลัพธ์คือภาพยนตร์อนิเมะ The Boy and the Heron ทำยอดรายได้จากการฉายสี่วันแรกที่ 2,140 ล้านเยน และทำรายได้จนถึงช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ปี 2023 อยู่ที่ 8,560 ล้านเยน แม้ว่าจะไม่ใช่ยอดที่สูงนัก แต่ถ้ามองด้านการใช้งบ PR ต่ำ สตูดิโอจิบลิก็คงรับรายได้ไปแบบเต็มไม้เต็มมือ

The Boy and the Heron. ภาพจาก: IMDb

หลังจากการฉายในประเทศญี่ปุ่นไม่นาน ก็มีการประกาศฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นโชคดีที่ทางสตูดิโอจิบลิยอมให้โปรโมตภาพยนตร์เรื่องนี้แบบปกติ ทำให้คอหนังที่ติดตามผลงานภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าใจได้มากขึ้นว่า ตัวเนื้อหาของ The Boy and the Heron จะเล่าเรื่องของ ‘มาฮิโตะ’ เด็กชายวัย 12 ปี ที่สูญเสียแม่ไปในไฟสงคราม ก่อนจะต้องย้ายที่อยู่ใหม่ และได้พบเจอกับนกกระสาที่จะนำทางไปสู่โลกมหัศจรรย์อีกใบหนึ่งซึ่งรอการช่วยเหลืออยู่

The Boy and the Heron. ภาพจาก: IMDb

จะเห็นได้ว่าเนื้อหาของภาพยนตร์ The Boy and the Heron แตกต่างจากนิยายของ Kimitachi wa Dō Ikiru ka ของอาจารย์เก็นซาบูโร โยชิโนะ มากพอสมควร แต่ที่เห็นชัดเจนจากตัวอย่างของภาพยนตร์ก็คือ งานภาพของภาพยนตร์กลับมาแสดงความเหนือจินตนาการอย่างที่ผู้ชมภาพยนตร์หลายคนคาดหวัง และคุ้มค่ากับที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาพัฒนาอย่างยาวนาน

The Boy and the Heron. ภาพจาก: IMDb

ตัวภาพยนตร์มีโอกาสได้ฉายรอบพิเศษตามงานเทศกาลภาพยนตร์ไปบ้างแล้ว ตามมาด้วยการเสวนาจากนักวิจารณ์เกี่ยวกับผลงานอนิเมชั่นเรื่องนี้ ที่ส่วนใหญ่ต่างก็ชื่นชมความงามระดับตื่นตาสมศักดิ์ศรี ฮายาโอะ มิยาซากิ แต่ด้านเนื้อเรื่องนั้น ก็มีทั้งฝั่งที่ชื่นชมถึงความลึกในประเด็นว่าด้วยที่มาและที่ไปของชีวิต แต่ก็จะมีฝั่งติที่กล่าวว่าภาพยนตร์อาจจะมีความเป็นส่วนตัวมากเกินไป และคนที่ไม่ใช่แฟนของสตูดิโอจิบลิอาจจะสับสนกับสไตล์การเล่าเรื่องอยู่สักหน่อย

แต่สิ่งที่สื่อทุกเจ้า รวมถึงคนดูในญี่ปุ่น และตัวผู้เขียนบทความเห็นพ้องต้องกันก็คือ The Boy and the Heron (เด็กชายกับนกกระสา) เป็นผลงานในช่วงบั้นปลายชีวิตของ ฮายาโอะ มิยาซากิ ที่น่าจะปล่อยของให้สมศักดิ์ศรีปรมาจารย์ผู้ไม่ยอมเกษียณตัวเองจากการทำงานอนิเมชั่น

The Boy and the Heron. ภาพจาก: IMDb