svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

เบียร์ เหล้า ไวน์ ดื่มแต่พอดีมีประโยชน์จริงหรือ?

ดื่มแอลกอฮอล์ให้พอดีมีประโยชน์จริงๆ รึเปล่า? นี่เป็นประเด็นที่โลกวิชาการถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน ฝั่งหนึ่งบอกว่าการดื่มให้พอดีช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ ส่วนอีกฝั่งเตือนว่าการดื่มมีเรื่องให้ต้องกังวลให้ภาพใหญ่... ก่อนที่จะเลือกว่าอยากเชื่อแบบไหน ขอชวนไปอ่านเหตุผลที่แต่ละฝั่ง

ดื่มเบียร์ เหล้า ไวน์แต่พอดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ผมเชื่อว่าใครหลายคนอาจเคยผ่านตาบทความพาดหัวประมาณนี้ที่เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ซึ่งมีใจความสำคัญว่าการดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์แต่พอดีจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพราวกับยามหัศจรรย์ทั้งลดความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคหัวใจ หรือโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยข้อมูลดูจะสวนทางกับโครงการรณรงค์ในงดดื่มแอลกอฮอล์ยอดนิยมอย่าง ‘ให้เหล้าเท่ากับแช่ง’ หรือความพยายามอื่นๆ ของภาครัฐในการควบคุมและจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ในฐานะ ‘สินค้าบาป’

หากความสงสัยใคร่รู้ดึงดูดให้เริ่มค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากงานวิจัยในแวดวงวิชาการที่น่าเชื่อถือ แทนที่เราจะได้ความกระจ่างอาจยิ่งทำให้งุนงงสงสัยยิ่งกว่าเดิมเพราะงานวิชาการเองก็ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด!
 

อ่านไม่ผิดหรอกครับ เพราะเหล่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเองก็ยังแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีประโยชน์หากดื่มแต่พอเหมาะพอดี แต่อีกส่วนหนึ่งมองว่าการดื่มแอลกอฮอล์จะมากจะน้อยก็เกิดโทษไม่ต่างกัน ในบทความนี้ ผมขอพาไปทบทวนทั้งสองสายธารงานวิจัยเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าถ้าต้องการรักษาสุขภาพ เราควรจะดื่มต่อหรือพอแค่นี้!

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

● ฝ่ายแดง: ดื่มแต่พอดีมีประโยชน์

เมื่อราวสองศตวรรษก่อน แพทย์ชาวไอริชตั้งข้อสังเกตหนึ่งประการที่น่าประหลาดใจคือชาวฝรั่งเศสจะมีอาการเจ็บหน้าอกซึ่งเป็นอาการหนึ่งของโรคหัวใจน้อยกว่าชนชาติอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เขาสรุปว่าสาเหตุน่าจะมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิตของชาวฝรั่งเศส ต่อมาผู้เชี่ยวชาญเสนอว่าตัวแปรที่สำคัญที่สุดคือไวน์แดงซึ่งมีสารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลตัวไม่ดี (low-density lipoprotein หรือ LDL) ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจ
 

เหตุผลเบื้องหลังก็เพราะสารที่ชื่อว่าโพลีฟีนอล (polyphenols) ชนิดพิเศษที่ชื่อว่า ฟลาโวนอยด์ (flavonoids) พบในไวน์ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ไวน์มีสีสันและรสชาติเป็นเอกลักษณ์ แต่ฟลาโวนอยด์ก็พบในพืชอาหารอีกหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นบลูเบอร์รี สตรอว์เบอร์รี แอปเปิล ชา และช็อกโกแลต สารตัวนี้เองที่เหล่านักวิทยาศาสตร์มองว่าน่าจะเป็นตัวแปรที่ช่วยดูแลสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในฝั่งระบาดวิทยามองว่าสารดังกล่าวอาจไม่ใช่ตัวแปรสำคัญเพียงหนึ่งเดียว เพราะมีการศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง พบว่าการดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะเป็นไวน์ เบียร์ หรือเหล้าในระดับที่พอเหมาะก็ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องหลอดเลือดหัวใจและโรคเบาหวานในระดับใกล้เคียงกัน สิ่งสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ชนิดเครื่องดื่ม แต่เป็นปริมาณและพฤติกรรมในการดื่มมากกว่า

ข้อค้นพบดังกล่าวนำไปสู่งานวิจัยจำนวนมากที่หาความสัมพันธ์ระหว่างการดื่มอย่างพอดีกับความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง (ที่เกิดจากลิ่มเลือดอุดตัน) และโรคหัวใจขาดเลือด  โดยผลลัพธ์ก็ค่อนข้างสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันในกลุ่มตัวอย่างทั้งผู้หญิงและผู้ชาย รวมถึงกลุ่มเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง  นั่นคือการดื่มอย่างพอดีจะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้ 25-40% แต่หากดื่มมากเกินไปก็จะกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจวาย

คำอธิบายเบื้องหลังความสัมพันธ์ระหว่างโรคหลอดเลือดหัวใจและการดื่มแอลกอฮอล์คือ เมื่อร่างกายได้รับแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมจะเป็นการช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลดีในเลือด (high-density lipoprotein หรือ HDL) ยิ่งค่าดังกล่าวมากก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคหัวใจ แอลกอฮอล์ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกหลายประการ เช่น ช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลินซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 รวมทั้งลดปัจจัยที่จะเกิดลิ่มเลือดซึ่งเป็นสาเหตุของสารพัดโรคอีกด้วย

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

● ฝ่ายน้ำเงิน: ดื่มมากน้อยแค่ไหนก็เสี่ยงเป็นมะเร็ง

องค์การอนามัยโลกคือหนึ่งในหน่วยงานระหว่างประเทศที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับงานวิจัยที่นำเสนอว่าการดื่มแอลกอฮอล์ดีต่อสุขภาพ โดยตำหนิว่างานวิจัยเหล่านั้นขาดการมอง ‘ภาพใหญ่’ เพราะแอลกอฮอล์เป็นสารพิษที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทและเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการติดสุรา นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งประเภทที่ 1 โดยองค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer) มายาวนานนับทศวรรษซึ่งนับว่าเสี่ยงในระดับเดียวกับแร่ใยหินและยาสูบ

แอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งหลายชนิด อาทิ มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งช่องท้อง โดยเฉพาะมะเร็งที่พบได้มากอย่างมะเร็งเต้านม โดยมีการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณไม่มากคือไวน์ไม่เกิน 1.5 ลิตร เบียร์ไม่เกิน 3.5 ลิตร และเหล้าไม่เกิน 450 มิลลิลิตรต่อสัปดาห์ แต่ดื่มติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ดื่มราว 5-9%  แต่หากดื่มในปริมาณมาก ความเสี่ยงของการป่วยเป็นมะเร็งเต้านมจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 41%

สาเหตุเนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์จะเกิดสารตกค้างอยู่ในร่างกาย นั่นหมายความว่าจะดื่มมากหรือน้อยก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคมะเร็งทั้งสิ้น แอลกอฮอล์ยังนับเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งซึ่งสามารถป้องกันได้อันดับต้นๆ สูสีกับการสูบบุหรี่และน้ำหนักเกิน โดยมีการประมาณการในปี 2012 ว่าแอลกอฮอล์คือสาเหตุของผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ราว 5.5% และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งราว 5.8% ทั่วโลก

เหล่านักวิทยาศาสตร์ฝ่ายน้ำเงินจึงค้านหัวชนฝาถ้าเจองานวิจัยประเภท ‘ดื่มแอลกอฮอล์วันละนิด ดีต่อสุขภาพ’ เนื่องจากการจะระบุว่าดื่มแค่ไหนถึงจะ ‘ดี’ ควรคำนึงถึงภาพใหญ่โดยชั่งน้ำหนักประโยชน์จากการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจกับความเสี่ยงโรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้น โดยยังไม่นับรวมถึงปัญหาการติดสุรา ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ โรคอ้วน หรือพฤติกรรมก้าวร้าวและการใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มขึ้นจากการดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์

การดื่มเบียร์ เหล้า ไวน์เพื่อสุขภาพจึงเป็นประเด็นที่ไม่มีคำตอบตรงไปตรงมา ขึ้นอยู่กับเพศและช่วงอายุของบุคคลนั้น รวมถึงความเสี่ยงและประวัติคนในครอบครัวที่เจ็บป่วยเป็นโรคหัวใจ หากคุณมีความเสี่ยงต่ำ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และกินอาหารที่มีประโยชน์ การหันมาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็อาจเป็นโทษมากกว่าคุณ กระนั้นคนบางกลุ่ม เช่น ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้ติดสุราเรื้อรังที่อยู่ในช่วงพักฟื้น และผู้ป่วยโรคตับคือกลุ่มที่ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด

นับหมื่นปีที่มนุษย์รู้จักเครื่องดื่มมึนเมาเหล่านี้ หลายคนอาจฉงนสงสัยว่าทำไมเหล่านักวิทยาศาสตร์จึงไม่สามารถหาข้อสรุปอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับประโยชน์และโทษของการดื่มเบียร์ เหล้า ไวน์ คำตอบก็คือการทำวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ไม่ใช่เรื่องง่าย เหล่านักวิจัยอาจไม่เข้าใจผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในห้องทดลองหรือกระบวนการในร่างกายมนุษย์อย่างถ่องแท้ ส่วนสัตว์ทดลองก็ไม่สามารถเป็นตัวแทนของมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ยังไม่นับตัวแปรที่เพิ่มขึ้นมหาศาลเมื่อแปลงผลการทดลองมาสู่ผลลัพธ์ในชีวิตจริง

แม้ว่าเหล่านักวิทยาศาสตร์จะไม่อาจสรุปได้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณน้อยส่งผลดีหรือผลเสียต่อสุขภาพกันแน่ แต่ฉันทามติของเหล่านักวิจัยคือการดื่มเครื่องดื่มเบียร์ เหล้า ไวน์ในปริมาณมาก* จะเป็นผลเสียต่อสุขภาพอย่างแน่นอน

*ปริมาณมากสำหรับผู้ชายคือการดื่มเบียร์ 700 มิลลิลิตร ไวน์ 300 มิลลิลิตร และเหล้า 90 มิลลิลิตรต่อวัน ส่วนผู้หญิงจะเท่ากับเบียร์ 350 มิลลิลิตร ไวน์ 150 มิลลิลิตร และเหล้า 45 มิลลิลิตรต่อวัน

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

  • Mukamal KJ, Conigrave KM, Mittleman MA, Camargo Jr CA, Stampfer MJ, Willett WC, Rimm EB. Roles of drinking pattern and type of alcohol consumed in coronary heart disease in men. New England Journal of Medicine. 2003 Jan 9;348(2):109-18.
  • Goldberg IJ, Mosca L, Piano MR, Fisher EA. Wine and your heart: a science advisory for healthcare professionals from the Nutrition Committee, Council on Epidemiology and Prevention, and Council on Cardiovascular Nursing of the American Heart Association. Circulation. 2001 Jan 23;103(3):472-5.
  • Muntwyler J, Hennekens CH, Buring JE, Gaziano JM. Mortality and light to moderate alcohol consumption after myocardial infarction. The Lancet. 1998 Dec 12;352(9144):1882-5.
  • Bell S, Daskalopoulou M, Rapsomaniki E, George J, Britton A, Bobak M, Casas JP, Dale CE, Denaxas S, Shah AD, Hemingway H. Association between clinically recorded alcohol consumption and initial presentation of 12 cardiovascular diseases: population based cohort study using linked health records. BMJ. 2017 Mar 22;356:j909.
  • Booyse FM, Pan W, Grenett HE, Parks DA, Darley-Usmar VM, Bradley KM, Tabengwa EM. Mechanism by which alcohol and wine polyphenols affect coronary heart disease risk. Annals of epidemiology. 2007 May 1;17(5):S24-31.
  • Bagnardi V, Rota M, Botteri E, et al. Alcohol consumption and site-specific cancer risk: A comprehensive dose-response meta-analysis. British Journal of Cancer 2015; 112(3):580–593. [PubMed Abstract]
  • Smith-Warner SA, Spiegelman D, Yaun SS, Van Den Brandt PA, Folsom AR, Goldbohm RA, Graham S, Holmberg L, Howe GR, Marshall JR, Miller AB. Alcohol and breast cancer in women: a pooled analysis of cohort studies. JAMA. 1998 Feb 18;279(7):535-40.
  • Praud D, Rota M, Rehm J, Shield K, Zatoński W, Hashibe M, La Vecchia C, Boffetta P. Cancer incidence and mortality attributable to alcohol consumption. Int J Cancer. 2016 Mar 15;138(6):1380-7. doi: 10.1002/ijc.29890. Epub 2015 Oct 28. PMID: 26455822.
  • hsph
  • hsph
  • cancer
  • niaaa
  • economist
  • who