svasdssvasds
เนชั่นทีวี

lifestyle

ออกแบบเมืองที่ไม่กลัวฝน ทำเมืองให้คนไม่กลัวเปียก

เมืองกอเทนเบิร์กเปิดโปรเจกต์ชื่อ ‘Rain Gothenburg’ เป็นการเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ ไปจนถึงแนวทางการพัฒนาเมืองและการใช้ชีวิต โดยที่เมืองจะใช้ฝนตกเป็นกลยุทธ์หรือเป็นทรัพยากรสำคัญ เป้าหมายอย่างหนึ่งคือเมืองอยากจะเป็นเมืองกลางสายฝนที่ดีที่สุดของโลก

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ถ้าฝนตกแล้วชีวิตของเราจะชะงักได้ในทันที ไม่ว่าจะด้วยปัญหาน้ำท่วม รถติด ไปจนถึงขนส่งสาธารณะหยุดให้บริการ รถตู้ไม่มี แท็กซี่หมด เราต่างมีประสบการณ์ธุระหรือนัดต่างๆ ต้องล้มเลิก—ไปไม่ได้เพราะฝน และถ้าเรารู้ว่าฝนกำลังจะตกหรือกรมอุตุฯ เตือน สิ่งที่คนกรุงเทพฯ ต้องทำคือรีบกลับบ้าน ในช่วงเย็นหรือวันหยุดที่ฝนตก ห้างร้านและภาคธุรกิจก็มักจะซบเซาไปตามๆ กัน

ออกแบบเมืองที่ไม่กลัวฝน ทำเมืองให้คนไม่กลัวเปียก

โดยทั่วไป ฝนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ฝนที่ตกตามฤดูกาลในปริมาณและพื้นที่ที่เหมาะสมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม ช่วยให้ภาคการเกษตรและภาคธุรกิจอื่นๆ เติบโต แต่ถ้าในพื้นที่เมืองที่อาจจะไม่พร้อมรับมือกับน้ำฝน ประกอบกับปัจจุบันนักวิจัยเริ่มชี้ให้เห็นว่าฝนที่มากขึ้น บ่อยขึ้น และหนักขึ้นอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศ ในปี ค.ศ.2022 มีรายงานจากงานวิจัยที่ค่อนข้างใหญ่ วิเคราะห์พื้นที่กว่า 1,500 ภูมิภาคทั่วโลก ในระยะเวลา 40 งานศึกษา พบว่ายิ่งมีอัตราฝนตกมากขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะลดน้อยลง งานศึกษาดังกล่าวชี้ให้เห็นผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกับฝนและส่งผลต่อเนื่องถึงระบบเศรษฐกิจด้วย

สำหรับประเทศไทยอาจจะยังไม่มีรายงานหรืองานศึกษาที่เชื่อมโยงสภาพอากาศรุนแรง รวมถึงพฤติกรรมฝนว่าได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่เราเองก็อาจเริ่มมองเห็นทิศทางที่เราเจอน้ำท่วมรุนแรงขึ้น ฝนที่ตกมากขึ้นเช่นในปี พ.ศ.2565 ปีที่แล้วมีรายงานว่ากรุงเทพมีฝนตกไปแล้ว 28 วัน มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปีถึง 148%

ในประเด็นเรื่องฝน บ้านเราที่เป็นเขตร้อนอาจจะรู้สึกคุ้นเคยกับฝน ในบางรายงานค่าเฉลี่ยวันฝนตกในภาพรวมพบภาคกลางอาจจะฝนตกเฉลี่ย 130 วัน/ปี ส่วนภาคใต้อาจมีวันฝนตกมากถึง 150-180 วัน/ปี ช่วงฤดูฝนเราอาจเจอวันฝนตกได้มากถึง 20 วัน/เดือนหรือมากกว่า ฝนในความจริงแล้วน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ความกลัวฝนของเราสัมพันธ์กับความเป็นเมือง ในทางกลับกันการออกแบบเมืองก็มีแนวคิดเมืองสู้ฝน เมืองในสวีเดนที่ฝนตกบ่อยเลือกที่จะทำเมืองให้ผู้คนสนุกกับสายฝน เอาฝนมาเป็นตัวตนและกลยุทธ์ในการใช้ชีวิตและท่องเที่ยวของเมืองซะเลย

 

ปรับเมืองให้สู้ฝน การระดมความเห็นของ ‘แวนคูเวอร์’

เบื้องต้นที่สุดของประเด็นเรื่องฝนและการรับมือฝนที่อาจจะหนักขึ้นคือความปลอดภัยและความปกติพื้นฐาน ปัญหาหลักเวลาฝนตกคือน้ำท่วม แน่นอนว่าน้ำท่วมสร้างความเสียหาย ทำการจราจรเป็นอัมพาตและอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุและอันตรายจากสารพัดเรื่องตั้งแต่ไฟดูด ตกท่อ สัตว์มีพิษ ก่อนที่เราจะไปถึงการทำให้เมืองขัดข้องน้อยที่สุดหรือสนุกไปกับสายฝนได้ เมืองต้องรับมือกับน้ำท่วมอย่างยืดหยุ่นให้ได้มากที่สุดก่อน ดังนั้นแนวคิดการพัฒนาเมืองสำคัญๆ เช่นแนวคิดเรื่องเมืองฟองน้ำ (sponge city) ที่เน้นเปิดพื้นที่คอนกรีตและพื้นที่อื่นๆ เป็นพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ซับน้ำ—ถ้าจะไม่กลัวฝนได้อย่างน้อยที่สุดน้ำต้องไม่ท่วมก่อน
 

จากน้ำไม่ท่วมแล้ว หลายเมืองที่มองเรื่องการพัฒนาเมืองก็มองเห็นว่าเมืองจะช่วยให้ผู้คนรับมือกับฝนได้ดีขึ้นได้ไหม หนึ่งในนั้นคือเมืองแวนคูเวอร์ เมืองที่บอกว่าตัวเองมีฝนตกราว 160 วัน—ดูจะเท่าๆ บ้านเรา ทางแวนคูเวอร์ก็เลยคิดว่าเราไม่ควรเป็นเมืองที่ชะงักไปเพียงเพราะฝน ในปี ค.ศ.2019 ทางเครือข่ายพื้นที่สาธารณะของเมือง (The Vancouver Public Space Network) ออกโปรเจกต์ที่ชื่อ ‘Life Between Umbrellas’ เป็นการที่เมืองเปิดรับความคิดจากประชาชนว่าพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เมืองจะปรับให้เหมาะกับวันฝนตกได้อย่างไรบ้าง

Life Between Umbrellas

ผลคือโปรเจกต์รับความเห็นของแวนคูเวอร์ได้รับไอเดียกว่า 400 แนวคิด ต่อมาทางเครือข่ายเจ้าของโปรเจกต์ก็เลยนำเอาแนวคิดทั้งหลายมาและสรุปเป็นหลักการ 10 ข้อ เป็นเหมือนแนวทางกว้างๆ ที่จะส่งต่อให้กับเขตและพื้นที่อื่นๆ ว่า หากจะสร้างพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ของผู้คน เพื่อจะทำให้คนใช้ชีวิตทำกิจกรรมช่วงฝนตกได้ต้องคำนึงเรื่องอะไรบ้าง ในหลักการ 10 ข้อ ก็จะพูดถึงประเด็นน่าสนใจ เช่น การต้องนึกถึงการป้องกันผู้คนจากสภาวะอากาศ (ต้องมีหลังคา) มีจุดพักผ่อน มีพื้นที่ที่อบอุ่นเหมาะสม นอกจากนี้ยังพูดถึงบรรยากาศเช่นถ้าฝนตกแล้วเมืองซึมเซา การสร้างบรรยากาศที่สดใสขึ้นก็อาจจะช่วยให้ผู้คนมีชีวิตชีวาขึ้น

โดยรวมหลักการ 10 ข้อ ค่อนข้างพูดเรื่องพื้นที่สาธารณะที่ดี ครอบคลุม และเปลี่ยนมุมมองต่อฝนเช่นมองฝนเป็นประโยชน์ไม่ใช่สิ่งที่รอให้ผ่านพ้นไป ในบางแง่ก็ยังคงเน้นบทบาทของพื้นที่สาธารณะที่จะเป็นพื้นที่กิจกรรม คือเป็นที่ๆ เราไปได้ถ้าฝนตก ในเรื่องพื้นๆ นี้ แค่เรานึกภาพว่าในวันฝนตก ถ้าฝนตกทุกวัน พื้นที่ที่เราไปได้มีความอบอุ่น มีที่ให้เราเดิน ทำกิจกรรม ออกกำลัง พบปะผู้คน ปัญหาเรื่องความเหงาหรือซึมเซาเองก็อาจจะดีขึ้น ในบางข้อก็สำคัญเช่นการมีหลังคาคลุมที่เพียงพอ เพื่อให้เราเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดโดยไม่เปียก สำหรับกรุงเทพเป็นเรื่องยาก การนึกถึงความต่อเนื่องตรงนี้ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งพื้นฐานสำคัญของเมืองที่ทำให้เราไม่หยุดใช้ชีวิตเมื่อฝนตก


‘กอเทนเบิร์ก’ เมืองที่จะเป็นเมืองที่ดีที่สุดเมื่อฝนตก

จากเมืองที่ใช้ชีวิตได้ ส่งเสริมให้เรามีชีวิตกลางสายฝนได้อย่างแข็งแรง ที่ประเทศสวีเดนมีเมืองหนึ่งชื่อ กอเทนเบิร์ก โดยเมืองกอเทนเบิร์กนี้เป็นเมืองที่ฝนตกบ่อย ค่าเฉลี่ยคือราว 40% ของปี เรียกได้ว่าฝนตกทุกสามวัน ในปี ค.ศ.2021 เมืองกอเทนเบิร์กจะครบรอบ 400 ปี หนึ่งในการฉลองของเมืองคือการเปิดโปรเจกต์ชื่อ ‘Rain Gothenburg’ เป็นการเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ ไปจนถึงแนวทางการพัฒนาเมืองและการใช้ชีวิต โดยที่เมืองจะใช้ฝนเป็นกลยุทธ์หรือเป็นทรัพยากรสำคัญ เป้าหมายอย่างหนึ่งคือเมืองอยากจะเป็นเมืองกลางสายฝนที่ดีที่สุดของโลก (best city in the world when it rains)

จากการปรับมุมมองของเมืองทำให้เมืองมองฝนในรูปแบบใหม่ จากการแค่ทำให้เราใช้ชีวิตได้ ไม่ชะงักในวันฝนตก แต่กอเทนเบิร์กชวนให้เราออกไปเล่นสนุกกับสายฝน มองเห็นฝนเป็นความสนุกและกลายเป็นจุดเด่นหรือเป็นตัวตนของเมือง ผลคือเมืองก็ได้เกิดโปรเจกต์สร้างสรรค์ทั้งถาวรและกิจกรรมชั่วคราวมากมาย เช่น การจัดแสดงศิลปะที่ปรากฏขึ้นเฉพาะเวลาที่ฝนตก มีการสร้างสนามเด็กเล่นธีมสายฝน คือเด็กๆ ในเมืองกอเทนเบิร์กจะรอวันที่ฝนตกและออกไปเล่นสนามเด็ก การเล่นที่อาจจะเป็นท่อ น้ำพุ หรือสวนสาธารณะที่สวยงามด้วยการเคลื่อนไหวจากน้ำและฝน

Torslandaskolan

หนึ่งในสุดยอดโปรเจกต์คือการที่เมืองจะสร้างโรงเรียนใหม่ชื่อ Torslandaskolan ในการออกแบบทางเมืองได้เปิดประกวดแบบโดยให้ธีมว่าจะต้องเป็นโรงเรียนที่จะดีที่สุดเมื่อตอนฝนตก โปรเจกต์ที่ชนะออกแบบให้โรงเรียนมีระบบท่อที่จะพาน้ำบนหลังคาจากท่อขนาดใหญ่ไหลต่อไปที่สระน้ำ ก่อนที่จะต่อเนื่องไปในคลองและแม่น้ำที่สนามของโรงเรียน ที่สนามเด็กเล่นนั้นเมื่อฝนตกจะมีโซนน้ำแข็ง (glacial area) เป็นสนามที่เอาน้ำฝนไหลไปเป็นส่วนหนึ่งของการเล่นเช่นเป็นลานโคลนที่เต็มไปด้วยกรวด หรือมีก้อนหินที่เหมือนให้เราได้กระโดดข้ามลำธาร บางส่วนมีกระทั่งน้ำตกที่เกิดจากน้ำฝน เรียกได้ว่าเป็นโรงเรียนแสนสนุก มีสวนน้ำและพื้นที่ธรรมชาติให้เด็กๆ ได้เพลิดเพลิน สนามเด็กเล่นจะมีหน้าตาและฟังก์ชั่นที่เปลี่ยนไปตามสภาพอากาศ ไม่ใช่แค่ฝนตกหรือไม่ตก แต่ด้วยปริมาณน้ำ ความแรงเบา—ฝนตกเหมือนกันในวันต่างกัน สนามและโรงเรียนก็อาจจะสนุกไปคนละแบบ

นอกจากในพื้นที่โรงเรียน สวนสาธารณะที่ให้เราสนุกกับฝนแล้ว เมืองก็ยังคำนึงถึงความต้องการที่หลากหลายเช่นพื้นที่สำหรับหลบฝนหรือการทำงานร่วมกับคนไร้บ้านให้ปลอดภัยและมีสุขภาพที่ดีในเมืองที่ฝนตกบ่อยด้วย นอกจากนี้เมืองยังมีโปรเจกต์น่ารักเช่นการประกวดบทกวีที่เกี่ยวกับสายฝน แล้วเอาบทกวีนั้นไปพิมพ์บนเหล็กปิดฝาท่อระบายน้ำ ทำให้ทั้งบทกวี ความคิด และความรู้สึกใหม่ๆ เกี่ยวกับฝนเข้าถึงผู้คนได้ง่าย พบเจอได้ในชีวิตประจำวันด้วย

Torslandaskolan ในวันที่กรุงเทพฯ ฝนตกบ่อยๆ นัดพัง แน่นอนว่าฝนเกี่ยวข้องกับการออกแบบสาธารณูปโภค และตัวฝนเองอาจสัมพันธ์กับประเด็นที่ใหญ่ขึ้นเช่นความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศ การปรับพื้นที่กายภาพเมืองให้ชีวิตและกิจกรรมในเมืองดำเนินต่อไปได้เป็นเงื่อนไขหนึ่ง อีกแง่มุมที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนมุมมองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเช่นการเปลี่ยนมุมมองและชีวิตต่อฝนในการรอให้ผ่านพ้นไป ไปสู่การใช้ชีวิตไปกับสายฝนก็อาจเป็นอีกหนึ่งวิธีคิด

ถ้าเรามองย้อนไป คงมีช่วงเวลาในชีวิตที่เราเริ่มกลัวฝน เด็กๆ เราไม่กลัวฝนเท่าเมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่ การหวนไปสู่มุมมองใหม่ๆ ต่อสายฝนจึงอาจเกี่ยวข้องตั้งแต่มุมมองของเราที่มีต่อโลก ไปจนถึงมุมมองของเมือง มุมมองของทิศทางการบริหารที่มองเห็นฝนเป็นสินทรัพย์และโอกาส


ข้อมูลอ้างอิง

  • https://workpointtoday.com/bkk-0310/
  • https://www.preventionweb.net/news/rainy-days-harm-economy
  • https://www.nature.com/articles/s41586-021-04283-8
  • https://www.fastcompany.com/90714347/when-it-rains-more-theres-less-economic-growth-bad-news-theres-more-rain-now
  • https://vancouver.ca/files/cov/rain-city-strategy.pdf
  • https://thiscitylife.ca/post/174191276072/10-principles-for-a-rain-friendly-city
  • https://eurocities.eu/stories/gothenburgs-jubilee-rain-takes-the-spotlight/
  • https://innovationinpolitics.eu/showroom/project/rain-gothenburg-the-worlds-best-rainy-city/
  • https://www.theguardian.com/world/2021/may/06/wetter-the-better-gothenburgs-bold-plan-to-be-worlds-best-rainy-city 

 

ภาพประกอบโดย Pathita Wasana